หนังเล่าโลก: Comrades: Almost a Love Story '3 จีนในจีนเดียว'

หนังเล่าโลก: Comrades: Almost a Love Story   '3 จีนในจีนเดียว'

Comrades: Almost a Love Story หนังรักโรแมนติกจากฮ่องกง ที่ชวนให้คิดถึงจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน

ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่ภาพยนตร์ฮ่องกงโด่งดังสุดๆ ในไทย การชมภาพยนตร์ฮ่องกงในยุคนั้นสะท้อนความรุ่งเรืองของเกาะแห่งนี้ก่อนกลับคืนสู่อ้อมกอดของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2540 ได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง Comrades: Almost a Love Story ที่ดูแล้วไม่เพียงแค่สะกิดใจให้คิดถึงฮ่องกงที่เคยไปเยือน แต่ยังเผยให้เห็นเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนกว่าจะเป็นมหาอำนาจในวันนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ที่เปรียบดังความเหมือนในความต่าง 

Comrades: Almost a Love Story ผลงานกำกับของปีเตอร์ ชาน ออกฉายเมื่อปี 2539 บอกเล่าเรื่องราวของ  หลี่เสี่ยวจิน หนุ่มเหนือจากเมืองเทียนจิน และ หลี่เฉียว สาวใต้จากเมืองกว่างโจว ที่มาเผชิญชีวิตในฮ่องกง ทั้งคู่นั่งรถไฟขบวนเดียวกันมาลงที่เกาลูนในวันที่ 1 มี.ค.2529 ต่างฝ่ายต่างดิ้นรนทำมาหากินจนโชคชะตาชักพาให้มารู้จักกัน ช่วยเหลือกัน ต่างฝ่ายต่างเป็นเพื่อนจากจีนแผ่นดินใหญ่เพียงคนเดียวที่มี แต่ระหว่างนั้นได้เกิดอุบัติเหตุหัวใจกับคนทั้งสองที่ต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะได้คำตอบ 

ผู้เขียนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ 25 ปีก่อน ดูจบแล้วก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ประทับใจอย่างที่ควรจะเป็นเหมือนกับการชมหนังรักเรื่องอื่นๆ ส่วนรอบนี้ตั้งใจจะไปชมบรรยากาศฮ่องกงในอดีต แต่เอาเข้าจริงกลับได้เห็นภาพจีนแผ่นดินใหญ่เสียมากกว่า หนังเปิดเรื่องที่หลี่เสี่ยวจิน  หนุ่มเด๋อด๋าที่พูดได้แต่ภาษาจีนกลาง การจะมีชีวิตรอดในฮ่องกงประการแรกคือต้องพูดภาษากวางตุ้งให้ได้ ต่อมาคือภาษาอังกฤษ เพราะการรู้ภาษาอังกฤษสามารถทำอะไรก็ได้ นั่นคือฮ่องกงที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หลี่เสี่ยวจินจึงต้องลงคอร์สเรียนภาษาอังกฤษเพื่อความก้าวหน้า 

ย้อนดูประวัติการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศจีนจากเว็บไซต์ chinahighlights.com พบว่า เริ่มต้นครั้งแรกที่โรงเรียนมิชชันนารีในมาเก๊า ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 จากนั้นภาษาอังกฤษค่อยๆ หลอมรวมเข้าสู่ระบบการศึกษาจีนในทศวรรษ 60 หลังเลิกนิยมภาษารัสเซียแล้ว แต่ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมมีการยกเลิกการสอนภาษาอังกฤษไปช่วงหนึ่ง จากนั้นกลับมาสอนกันใหม่ช่วงต้นทศวรรษ 70 และเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลเติ้งเสี่ยวผิง ตั้งแต่ทศวรรษ 90 เป็นต้นมาภาษาอังกฤษได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะคนที่ทำงานภาคการท่องเที่ยวและการค้า ผู้เขียนเคยไปทำข่าวในต่างแดนเจอกับคนจีนหลายคนทั้งนักข่าวและพนักงานบริษัท ยอมรับว่าภาษาอังกฤษยอดเยี่ยมมากแถมยังเป็นการเรียนในบ้านเกิดด้วย พวกเขาไม่เคยไปเรียนต่างประเทศมาก่อน อันนี้ขอชื่นชมว่าเก่งจริงๆ ถ้าเทียบกับคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษเก่ง ส่วนใหญ่มักเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนหรือเคยไปเรียนเมืองนอกมาก่อน 

 หนุ่มหลี่เสี่ยวจินนอกจากเรียนภาษาอังกฤษแล้ว ตอนมาฮ่องกงใหม่ๆ เพื่อความทันสมัยก็ต้องไปในที่ที่เทียนจินไม่มี นั่นคือร้านแมคโดนัลด์ สัญลักษณ์โลกทุนนิยม แต่นั่นมันเมื่อ 25 ปีก่อน ตอนนี้ร้านแมคมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ข้อมูลจากเว็บไซต์ statista ระบุว่า ในปี 2562 จีนมีแมคโดนัลด์ 3,383 สาขามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ร้านแรกของจีนเปิดเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2533 ที่เสิ่นเจิ้น ส่วนร้านแรกของเทียนจินเปิดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2537 

ในด้านอาชีพการงานหนุ่มหลี่เริ่มต้นทำงานที่โรงเชือดไก่ จากนั้นยกระดับไปเป็นผู้ช่วยพ่อครัว ที่ต่อมาเจ้าของร้านย้ายไปอยู่นิวยอร์ก ซึ่งหลายปีก่อนที่ฮ่องกงจะถูกอังกฤษส่งมอบให้จีน ชาวฮ่องกงจำนวนมากต่างไม่มั่นใจกับอนาคต คนที่พอมีช่องทางก็ไปตั้งรกรากอยู่ที่อื่น ภาพแบบนี้เห็นได้ในหนังฮ่องกงหลายเรื่อง และช่วงปีที่ผ่านมามีรายงานว่าชาวฮ่องกงอพยพกันอีกระลอก หลังรัฐบาลจีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่เปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ให้สิทธิการพำนักแก่ชาวฮ่องกงที่ถือหนังสือเดินทางสัญชาติอังกฤษ (โพ้นทะเล) 3 ล้านคน ที่ต้องการหนีความวุ่นวายทางการเมือง

ด้านสาวหลี่เฉียว ที่ทำงานหนักมาหลายอย่างเพื่อเก็บเงินเก็บทอง สุดท้ายริไปเล่นหุ้นจนเป็นหนี้และต้องไปเป็นหมอนวด จากนั้นตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับ “พี่เปา” นักเลงโตผู้ที่สามารถคุ้มครองเธอได้ แต่วิถีนักเลงอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องถูกตำรวจตามล่า พี่เปาต้องหนีตำรวจไปกบดานที่ไต้หวัน ชวนให้คิดถึงชะตาชีวิตของหนุ่มสาวฮ่องกงผู้รักประชาธิปไตยในสมัยนี้ ที่ต้องหนีการกวาดล้างของทางการไปหลบอยู่ในไต้หวันเช่นกัน 

 ช่วงท้ายเรื่องหลี่เสี่ยวจินย้ายไปอยู่นิวยอร์กกับลูกพี่เก่า หลี่เฉียวเป็นไกด์พาลูกทัวร์ชาวจีนไปเที่ยวนิวยอร์ก แน่นอนว่าต้องไปชมเทพีเสรีภาพ แต่ลูกทัวร์ไม่อยากดูนานอยากให้ไกด์พาไปชอปปิงที่ร้านกุชชี่มากกว่า ตอนนั้นชาวจีนเริ่มรวยแล้วเริ่มซื้อหาสินค้าแบรนด์เนมมาเสริมบารมีเหมือนคนมีเงินประเทศอื่นๆ ถึงวันนี้จีนเป็นตลาดแบรนด์เนมใหญ่และมีอิทธิพลมาก ถึงขนาดแบรนด์เนมใดมีจุดยืนไม่ถูกใจ ชาวเน็ตและลูกค้าจีนพร้อมจะถล่มทุกเมื่อ กรณีล่าสุดเอชแอนด์เอ็ม ไนกี้ เบอร์เบอรีและอื่นๆ โดนไปแล้วเพราะไปแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง 

ช่วงท้ายหลี่เฉียวถูกพี่เปาที่เหนื่อยกับการหนีคดีตัดสินใจพาไปอยู่สหรัฐ  ดินแดนแห่งความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน ที่นี่ผู้ชมได้พบว่า ปัญหาความเกลียดชังชาวเอเชียไม่ใช่ของใหม่ในสังคมอเมริกัน แถมคนผิวสียังเหยียดคนผิวเหลืองอีกด้วย และที่นิวยอร์กนี่เอง ชีวิตที่แคล้วคลาดของหลี่เสี่ยวจินกับหลี่เฉียวตลอด 10 ปี ยุติลงในวันที่ 8 พ.ค.2538 ข่าวการเสียชีวิตของ “เติ้ง ลี่จวิน” นักร้องดังชาวไต้หวันดึงดูดให้ทั้งคู่ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง บทเพลงของเธอที่โด่งดังอยู่แล้วในหมู่ชาวจีน ไต้หวัน และจีนโพ้นทะเล ยิ่งเป็นที่จดจำมากขึ้นไปอีก ว่ากันว่า  “มีชาวจีนอยู่ที่ไหน ก็จะได้ยินเพลงของเติ้ง ลี่จวินที่นั่น” 

ความตั้งใจไปดูหนังรักโรแมนติก Comrades: Almost a Love Story เพื่อความชุ่มชื่นในหัวใจ แต่กลับกลายเป็นว่า  เรื่องราวของหนุ่มสาวชาวจีน สู้ชีวิตในฮ่องกง ผูกพันกันด้วยบทเพลงภาษาจีนกลางจากนักร้องไต้หวัน  ชวนให้คิดถึงความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่นระหว่างจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ภายใต้นโยบายจีนเดียวไปเสียได้  เพราะเมื่อคุณดูหนังด้วยแว่นข่าวต่างประเทศคุณจะเห็นมากกว่าหนัง... ก็หนังเล่าโลก