30 มีนาคม 'วันไบโพลาร์โลก' พ่วงวันเกิด 'แวน โก๊ะ' ศิลปินระดับโลก

30 มีนาคม 'วันไบโพลาร์โลก' พ่วงวันเกิด 'แวน โก๊ะ' ศิลปินระดับโลก

ชวนรู้ที่มา "วันไบโพลาร์โลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี และยังเป็นวันเกิดของศิลปินชื่อก้องโลกอย่าง "แวน โก๊ะ" อีกด้วย แต่ละปีทีมงาน WBD จะรณรงค์ให้คนทั่วโลกอยู่ร่วมกับผู้ป่วยไบโพลาร์อย่างเข้าใจ

รู้หรือไม่? วันที่ 30 มีนาคม เป็น "วันไบโพลาร์โลก" (World Bipolar Day: WBD) โดยหน่วยงาน International Society for Bipolar Disorders (www.isbd.org) จะเฉลิมฉลองวันดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อชักชวนประชาคมโลกตระหนักถึงปัญหาโรคไบโพลาร์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาคุณไปทำความรู้จักที่มาที่ไปและต้นกำเนิดของ "วันไบโพลาร์โลก" ให้มากขึ้น โดยเฉพาะใครที่มีเพื่อน คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ จะได้เข้าใจพวกเขามากขึ้นและอยู่ร่วมกันได้โดยไร้ทัศนคติในเชิงลบ

1. "วันไบโพลาร์โลก" ริเริ่มจาก 3 องค์กร

วันไบโพลาร์โลก เป็นไอเดียริเริ่มของ 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ ได้แก่ Asian Network of Bipolar Disorder (ANBD), International Bipolar Foundation (IBPF) และ International Society for Bipolar Disorders (ISBD)

โดยกำหนดให้มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งในวันดังกล่าวยังเป็นวันเกิด ของ Vincent Van Gogh ศิลปินระดับโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นโรคไบโพลาร์

2. WBD ต้องการให้ผู้คนเข้าใจโรคนี้มากขึ้น

วิสัยทัศน์ของ World Bipolar Day คือ การสร้างความตระหนักให้ผู้คนทั่วโลก ได้มองเห็นถึงอาการและทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมที่ผิดปกติของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ เพื่อขจัดความเข้าใจผิด และความอับอายของผู้ป่วยในสังคม ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ

เป้าหมายของวันไบโพลาร์โลกคือการให้ความรู้แก่ประชากรโลกให้เข้าใจอาการของโรคไบโพลาร์ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานด้านการแพทย์เพื่อมุ่งให้ผู้ป่วยโรคนี้ลดจำนวนลง

161683286774

3. ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเร่งแก้ปัญหาผู้ป่วย "ไบโพลาร์" ที่เพิ่มมากขึ้น

โรคไบโพลาร์ เป็นโรคทางสมองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์อย่างฉับพลัน ส่งผลให้สารเคมีในร่างกาย การทำกิจกรรมในประจำวัน และความสามารถในการทำงานผิดปกติไปจากเดิม อาการของโรคไบโพลาร์มีความแตกต่างจากอาการขึ้นๆ ลงๆ ตามปกติของคนทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว

ความชุกของโรคไบโพลาร์ทั่วโลกเคยพบสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหานี้ให้ได้ทั่วโลก

ด้วยการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากทั่วโลกกลุ่มต่างๆ เช่น ANBD, IBPF และ ISBD กำลังให้การสนับสนุน และใช้ความพยายามในการตรวจหาสาเหตุทางชีวภาพที่ทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้น พวกเขามองหาวิธีการรักษาที่ดีขึ้น คิดค้นยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มองหาวิธีการวินิจฉัยโรคที่ดีขึ้น ค้นคว้าองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย และมองหากลยุทธ์ที่จะทำให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับอาการของโรคไบโพลาร์ได้ดีกว่าเดิม

4. WBD จัดระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วโลก

หน้าที่หลักของ World Bipolar Day คือการรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกมาร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มการรับรู้ การยอมรับ และการระดมทุน สำหรับใช้ในการทำงานด้านการแพทย์เพื่อบรรเทาและลดจำนวนผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ทั่วโลก

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักของการประชุมประจำปี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการดูแลและการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ด้วย

5. โควิด-19 ทำให้งาน "วันไบโพลาร์โลก" ปี 2021 ยากขึ้น

การแพร่ระบาดของ โควิด-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อหน่วยงานที่ทำงานด้านโรคไบโพลาร์ทั่วโลก รวมถึงส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยไบโพลาร์และครอบครัวของพวกเขา เพราะทำให้ครอบครัวต้องเพิ่มระยะห่างกันมากขึ้น และเพิ่มความเครียดให้ผู้ป่วยเนื่องจากกระทบต่อการทำงาน การเข้าสังคม การออกกำลังกาย และการพักผ่อน

ในปี 2021 ทางองค์กร World Bipolar Day ได้ออกมารณรงค์ว่า "ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ควรพึงระลึกไว้ว่า การห่างเหินทางสังคม (Social Distancing จาก Covid-19) ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการแยกตัวเองออกจากสังคม"

161683286798

6. กิจกรรม World Bipolar Day ปี 2021

หนึ่งในวิธีการเยียวยาผู้ป่วยไบโพลาร์ที่ได้ผลดีคือ การเข้าสังคมและการอยู่กับญาติพี่น้องที่พวกเขาไว้ใจ แต่น่าเสียดายที่ปีนี้การระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ ทำให้ญาติๆ ไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้ อีกทั้งต้องงดกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยแย่ลง

แต่ทางองค์กร WBD ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่ได้งดการจัดงาน World Bipolar Day แต่พวกเขาได้หาทางแก้ไขโดยกิจกรรมวันไบโพลาร์โลกในปีนี้ ถูกเปลี่ยนมาจัดงานแบบ "เสมือน" ผ่านช่องทางออนไลน์ มีการเปิดสัมมนาแบบ LIVE สด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ จัดทำวิดีโอสั้นเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ เพื่อเผยแพร่สู่ประชาชน การโพสต์โซเชียลมีเดีย และการเขียนบล็อก ฯลฯ

7. เช็คสิ! คุณมีอาการเข้าข่ายป่วย "ไบโพลาร์" หรือไม่?

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมรณรงค์ประจำปีในวันสำคัญนี้พร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั่วโลก และออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคดังกล่าว ระบุว่า

โรคไบโพลาร์ เกิดจากความผิดปกติของ "สารเคมีในสมอง" ผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ ร่าเริงผิดปกติ ไม่หลับ ไม่นอน พูดมาก พูดเร็ว เชื่อมั่นในตัวเองสูง อารมณ์เศร้าผิดปกติ ไม่อยากพบใคร ไม่อยากทำอะไร คิดลบ คิดช้า ไม่มีสมาธิ คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจคิดฆ่าตัวตายได้

โดยลักษณะอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์จะมีอารมณ์ขึ้นลงรุนแรงเป็นช่วงๆ แบ่งเป็น 2 ช่วงหลักๆ คือ

(1) ช่วงเวลาที่เป็น Mania Episode (ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ)

ผู้ป่วยจะรื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ มีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่มีเหน็ดเหนื่อย มีความมั่นใจมาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ในรายที่มีความรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดคิดว่ามีพลังวิเศษ

(2) ช่วงเวลาที่เป็น Depressive Episode (ภาวะซึมเศร้า)

ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่อหน่าย ซึมเศร้า ร้องไห้ง่าย กินไม่ได้ นอนผิดปกติ(นอนตลดเวลา นอนไม่หลับ หรือไม่นอนเลย) รู้สึกหมดหวัง ชีวิตตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่อยากทำอะไรเลย และอาจคิดฆ่าตัวตาย

สำหรับใครที่รู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติทางด้านอารมณ์ และไม่แน่ใจว่าเป็นอาการปกติทั่วไปหรือเข้าข่ายอาการป่วย ลองสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองแล้วอ่านข้อความต่อไปนี้ เพื่อคัดกรองว่าคุณเข้าข่ายผู้ป่วยไบโพลาร์หรือไม่? หากมีอาการเหล่านี้ สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323

7.1 อาการ Flight of ideas or subjective experience that thoughts are racing หมายถึง ลักษณะที่มีความคิดพุ่งพล่าน หยุดไม่ได้ ความคิดเป็นล้านวิ่งวนในหัวไม่หยุด

7.2 อาการ Increase in goal-directed activity (either socially, at work or school, or sexually) or psychomotor agitation หมายถึง อาการกระสับกระส่าย หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การงาน การเรียน หรือด้านเพศ

7.3 อาการ Decreased need for sleep หมายถึง ลักษณะการนอนที่ผิดปกติ ไม่ต้องการพักผ่อน ถึงไม่นอนก็ไม่มีปัญหา นอนไปแค่ 3 ชั่วโมง ตื่นมากวาดบ้านถูบ้านชิลๆ ได้ทั้งคืน

-------------------------

อ้างอิง : worldbipolarday.orgกรมสุขภาพจิต