'วิ่ง'อย่างไร...ไม่หัวใจวาย

'วิ่ง'อย่างไร...ไม่หัวใจวาย

ถ้าวิ่งแล้วล้มลง หายใจไม่ออก บางทีการปั๊มหัวใจหรือใช้เครื่องช็อคหัวใจก็ช่วยไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร เพื่อไม่นำไปสู่ภาวะ"หัวใจวาย"

เรื่องการวิ่งดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่มีเรื่องควรระวัง เพราะหมอบางคน ร่างกายแข็งแรง ไปวิ่งมาราธอน แล้วเกิดหัวใจวาย ก็มีให้เห็นแล้ว

ก่อนอื่นมีคำแนะนำว่า เมื่อใดก็ตามอยากออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เมื่อวิ่งแล้วรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก หรือลิ้นปี่ หรือเวียนหัวหน้ามืดจะเป็นลม ใจสั่นผิดปกติ ต้องหยุดวิ่ง อย่าฝืนร่างกาย และควรพบแพทย์

ส่วนคนที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไขมัน ความดันสูง คิดจะออกวิ่ง ก็ต้องหมั่นฝึกฝนร่างกายทุกวัน ถ้าออกวิ่งโดยไม่ฝึกปรือ อาจทำให้เสียชีวิตกระทันหันได้

“เวลาวิ่งหัวใจห้องข้างล่างเต้นเร็วมาก เต้นเร็วมากจนกระทั่งมันบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ จึงเสียชีวิตกระทันหัน” คุณหมอธัชพงศ์ งามอุโฆษ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าไว้ในรามาแชนแนล

สาเหตุที่เสียชีวิตกระทันหัน มีทั้งกรณีนักกีฬาที่อายุน้อยกว่า 35 ปีที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา ส่วนคนไข้ที่อายุมากกว่า 35 ปี ที่ออกวิ่งแล้วมีปัญหา เนื่องจากป่วยเป็นโรคหัวใจตีบ รวมทั้งเป็นคนไข้เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง กลุ่มนี้ก็ต้องระวัง

“ปกติคนอายุน้อยๆ ก็เริ่มมีไขมันเกาะตามเส้นเลือดอยู่แล้ว ถ้าไปเจอไขมันที่เกาะบนเส้นเลือดแตก มีลิ่มเลือดอุด เส้นเลือดตันกะทันหัน คนไข้ก็จะมาด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เจ็บแน่นหน้าอก

คนไข้ที่เป็นไขมันสูง ความดัน และเบาหวาน เวลาออกวิ่ง ตัวอะดรีนาลีนที่ออกมาจากร่างกายมันเยอะ เมื่อความดันสูงหัวใจบีบแรงเกินขึ้น ไขมันที่ติดบนเส้นเลือดแตก พอมีแผลปุ๊ป ลิ่มเลือดอุด เส้นเลือดตันกระทันหัน นี่คือคนไข้ที่เป็นโรคเหล่านี้

หรือคนป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา เป็นโรคแปลกที่ต้องดูจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เวลาที่มีอะดรีนาลีนเพิ่มขึ้น จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้คลื่นหัวใจผิดปกติ เสียชีวิตได้”

คุณหมอมีคำแนะนำไว้ว่า คนที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว ถ้าอยากจะวิ่งมาราธอน ต้องซ้อมวิ่งทุกวัน  ไม่ใช่ว่าเพื่อนชวนไปวิ่ง ก็ไปลงสนามวิ่งได้เลย

“ก่อนจะเริ่มวิ่ง ซ้อมให้ดีก่อน ส่วนคนจัดงานวิ่งต้องเตรียมพร้อมด้วย ต้องทีมฉุกเฉิน ที่สำคัญคือ มีเครื่องช็อกหัวใจ (AED) ไม่ต้องเป็นหมอก็ใช้้เป็น เครื่องจะบอกว่า ถ้าคนไข้เกิดปัญหาต้องช็อกหรือเปล่า ในเครื่องบิน สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า มีเครืองช็อกหัวใจในกรณีฉุกเฉิน สามารถช็อกหัวใจให้คนไข้กลับมาเต้นปกติ ลดอัตราการเสียชีวิตได้ดี 

คนที่วิ่งประจำไม่ได้น่าจะมีปัญหา วิ่งต่อไปได้ พวกที่มีโรคประจำตัว ต้องออกกำลังกายพอสมควรสม่ำเสมอวันละ 30-60 นาที พวกที่เริ่มมีความเสี่ยงไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปวิ่งมาราธอน เคยวิ่งวันละ 3 กิโลเมตร อย่าเพิ่งไปวิ่งมาราธอน”

ส่วนครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติ และโค้ชการวิ่ง แนะไว้ตลอดว่า ให้วิ่งช้าๆ ก่อน เพื่อให้ร่างกายคุ้นชิน ในการวิ่งทุกครั้ง ไม่ว่าจะวิ่ง 3 วัน 5 วัน 7 วัน ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัว ทำให้เหนื่อยน้อยลง เมื่อวิ่งสม่ำเสมอก็จะทำให้วิ่งได้มากกว่าปกติ

ถ้าวิ่งเพื่อสุขภาพ 30-60 นาทีพอแล้ว แต่ถ้าวิ่งเพื่อลงแข่งขัน หรือมีเป้าหมายการวิ่ง 10 หรือ 20 กิโลเมตร ก็ต้องวางแผนการฝึกซ้อมมากขึ้ถ้าเดินเพื่อออกกำลังกาย ต้องเดินในโซนแอโรบิก นั่นก็คือ ใช้ออกซิเจนเพื่อเป็นตัวสร้างพลังงาน จึงต้องเดินให้เหนื่อย

ส่วนเรื่องท่าวิ่ง ก็มีความสำคัญ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าทำถูกวิธี การวิ่งก็จะเบาสบายง่ายขึ้น นอกจากนี้หากอยากวิ่งมาราธอนต้องเตรียมตัวอย่างไร ครูดิน แนะไว้ว่าต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อน การกินอาหารที่มีประโยชน์
รูปแบบการฝึกที่เหมาะสมกับระยะทางก็สำคัญ บางคนอยากแข่งมาราธอนแต่ซ้อมไม่เพียงพอ ร่างกายไม่สามารถพัฒนาแข่งขันระยะไกลได้ ซึ่งการแข่งมาราธอนคือ 42 กิโลเมตร ถ้าเป็นระยะแค่ 21 กิโลเมตรก็จะฝึกง่ายขึ้น

ถ้าจะให้การวิ่งอยู่ในวิถีชีวิตและกลายเป็นนิสัย โค้ชการวิ่ง แนะไว้ว่า 1 อย่าวิ่งมากเกินไป วิ่งเร็วเกินไป 2 ต้องลำดับขั้นตอนการวิ่งให้เหมาะสม ไม่ใช่ว่า ถึงสนามก็วิ่งทันที ถ้าอย่างนั้นร่างกายปรับตัวไม่ทัน กล้ามเนื้อจะทำงานหนักเกินไป ทำให้บาดเจ็บได้