‘เลย’ เปิดเวทีรับฟังความเห็น ‘โครงการสร้างทางเลี่ยงเมือง’ เชื่อมต่อ สปป.ลาว

ปลัดจังหวัดเลย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม รับฟังความคิดเห็นแนวทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง จ.เลย หวังหนุนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

จ.เลย เปิดเวทีรับฟังความเห็นโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองจังหวัดเลย ที่มีวัตถุประสงค์หวังแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในตัวเมืองเลยและเป็นการเสริมโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนนของจังหวัดเลยเชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็งทางสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ท่าลี่ สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

161587092064

วันที่ 16 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมใบคำหนึ่งโรงแรมใบบุญแกรนด์ อ. เมืองเลย จ.เลย นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ ปลัดจังหวัดเลย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ”รับฟังความคิดเห็นแนวทางเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย จ.เลย” มีนายกิตติคุณ บุตรคุณ นายอำเภอเมืองเลย พ.ต.อ.จักรภพ ท้าวฤทธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน เครือข่ายต่างๆ ร่วมจำนวนมาก

นายอาทิตย์ สืบศิริวิริยะกุล ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวรายงานว่า กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด(มหาชน) บริษัททีแอลที คอนซันแตนท์ จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจวิศวกรรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย จ.เลย โดยมีระยะเวลาในการศึกษา 450 วัน

เริ่มงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองจังหวัดเลย เป็นโครงการที่ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางโดยจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่แออัดและหนาแน่นในตัวเมืองเลยซึ่งมีข้อจำกัดของเขตทางที่ไม่เพียงพออีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการจราจรที่จะผ่านบริเวณตัวเมืองเลยโดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่และเป็นการเสริมโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนนของจังหวัดเลยเชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็งทางสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ท่าลี่ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศสอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ 2560 ถึง 2564

161587093698

นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมากรมทางหลวงและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่องได้แก่การประชุมปฐมนิเทศโครงการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 การประชุมย่อยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 ถึง 13 พฤศจิกายน 2563 และการประชุมกลุ่มย่อยได้เพิ่มเติมเนื่องจากได้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการกำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการ ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ฝั่งแนวเส้นทางของโครงการด้านทิศตะวันตกของเมืองเลยและผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ฝั่งแนวเส้นทางของโครงการด้านทิศตะวันออกของเมืองเลย รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานราชการในระดับต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมองค์กรพัฒนาเอกชนสถาบันการศึกษานักวิชาการอิสระสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเสวนาประมาณ 400 คน