สศอ.ดันแผนอุตสาหกรรมเครื่องจักร ตั้งเป้าปี70ส่งออก4.7หมื่นล.

สศอ.ดันแผนอุตสาหกรรมเครื่องจักร ตั้งเป้าปี70ส่งออก4.7หมื่นล.

ปัจจุบันไทยยังพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นหลัก และมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 ไทยนำเข้าเครื่องจักรกลกว่า 3.97 แสนล้านบาท ขณะที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องจักรกล 2.04ล้านบาท ทำให้ต้องขาดดุลในสินค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง

พะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญ ดังนั้นจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเครื่องจักรกลเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ 

ดังนั้น สศอ. จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ.2565-2570) โดยจะมุ่งเน้นในการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร และเกษตรแปรรูป เพื่อมุ่งเน้นการเป็นฐานการผลิตด้านอาหารของโลก ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปประมาณ 200 ราย ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปมีการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน และเป็นเทคโนโลยีที่ลอกเลียนแบบของเดิม การผลิตเครื่องจักรกลจึงเน้นใช้ช่างฝีมือมากกว่าการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยผลิต หรือเป็นการผลิตชิ้นส่วนเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร

สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯนี้ มีวิสัยทัศน์ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องจักรกลในอาเซียน” โดยมีเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเป็น 47,000 ล้านบาท ในปี 2570 และมีมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปลดลงเฉลี่ย 2% ต่อปี หรือลดลงสะสม 5,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของแผนปฏิบัติการฯ

161556904240

ในส่วนของผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ 1. เครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ไม่มีความซับซ้อน และมีเทคโนโลยีไม่สูงมาก สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้ และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิต เช่น รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์ เครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องปลูกพืช เครื่องอบแห้ง เป็นต้น รวมถึงเครื่องจักรกลที่พัฒนาขึ้นใหม่เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ 2. เครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีการนำเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรกล ให้มีความแม่นยำ และมีความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ รถเก็บเกี่ยวที่เคลื่อนที่อัตโนมัติในแปลง เครื่องคัดแยกผลไม้ที่สามารถแยกความหวานของผลไม้ได้ เครื่องแปรรูปอาหารอัตโนมัติ เป็นต้น

ด้านมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1. การกระตุ้นอุปสงค์ โดยการส่งเสริมให้เกิดการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ผลิตในประเทศมากขึ้น และเพิ่มการส่งออก โดยจะผลักดันให้เกิดการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ  นอกจากนี้ จะส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และเกิดความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป

รวมทั้งการสนับสนุนธุรกิจบริการเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ต้องการใช้บริการเครื่องจักร เพื่อให้การติดต่อใช้บริการมีความสะดวกเพิ่มขึ้น และเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้มีเครื่องจักรกลเป็นของตนเองเห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการใช้เครื่องจักรกล

2. การสนับสนุนอุปทานจะพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลสู่เทคโนโลยี 4.0 สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนชิ้นส่วน และสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโดยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตแก่บุคลากรในประเทศ

3. เสริมสร้างปัจจัยแวดล้อมโดยจะส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องจักรกลตามมาตรฐานสากล พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อยกระดับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงตลาด การค้า การลงทุน ด้วยระบบดิจิทัล และจัดทำความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป และแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้

นอกจากนี้ จะจัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตร และสร้างเครือข่ายศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตรที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อการตรวจสอบและการออกหนังสือรับรองมาตรฐานสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตในประเทศ ให้ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก และการทำ R&D เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป ที่ต้องการซื้อเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ ส่วนประกอบของเครื่องจักร และซอฟท์แวร์

“แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทยฉบับนี้ สศอ. จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่ออนุมัติแผนดังกล่าวต่อไป