ความต่าง 'แพ้วัคซีนโควิด19' Vs 'อาการไม่พึงประสงค์'

ความต่าง 'แพ้วัคซีนโควิด19' Vs 'อาการไม่พึงประสงค์'

เมื่อประเศไทยมีการฉีด"วัคซีนโควิด19"ไปจำหนวนหนึ่งแล้ว มีรายงานเกิด "อาการไม่พึงประสงค์" หลังฉีดวัคซีน แต่ไม่ใช่ "แพ้วัคซีน" ซึ่งอาการมีความแตกต่างกัน

         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การฉีด "วัคซีนโควิด19"ก็เพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้น อาการอื่นๆนอกจากการมีภูมิคุ้มกัน ถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด19ทั้งสิ้น ทั้งการปวดศีรษะ  ปวดเจ็บบริเวณฉีด มีอาการปวดเมื่อยตามตัว แต่ไม่ได้แปลว่าเกี่ยวกับวัคซีนโควิด19หรือไม่ โดยอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.อาการรุนแรง เช่น ไข้สูง หมดสติ ช็อค หัวใจหยุดเต้น มีการทางระบบประสาท  หรือป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต  และ 2.อาการไม่รุนแรง ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมโรครายงานว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นราว 3% ก็คืออาการไม่รุนแรง  โดยทราบจากการที่ผู้ฉีดวัคซีนรายงานผ่านไลน์ “หมอพร้อม” โดยให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข้ามาตอบอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากวัคซีนอื่นๆ

        นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรณีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนที่เป็นอาการรุนแรงนั้น ต้องเข้าคณะกรรมการอิสระ1 ชุดในการตรวจสอบ  ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีระบบนี้อยู่แล้ว โดยอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังรับวัคซีนทุกรายต้องเอาประวัติของคนไข้ และบางรายอาจมีการผ่าศพพิสูจน์ ยกตัวอย่าง เมื่อ 3-4 เดือนก่อน มีเด็กผู้หญิงที่ฉีดวัคซีนเอชพีวี และไม่กี่วันเด็กเสียชีวิตจนมีการร้องเรียน ซึ่งถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนไม่พึงประสงค์ จึงนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณา และได้ดูข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งผลการชันสูตรศพ สรุปคือ เด็กเป็นเชื้อไวรัสที่กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัคซีน
161519870927

     นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า "วัคซีนโควิด19"ก็เช่นกัน จะมีคณะกรรมการในการพิจารณาข้อมูลต่างๆและสรุปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่าง คือ 1.ไม่เกี่ยวกับวัคซีน  2. เกี่ยวกับวัคซีน 3.น่าจะเกี่ยวกับวัคซีน และ4.อื่นๆ ซึ่งกรณีบุคลากรทางการแพทย์ที่จ.สมุทรสาครที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด19  เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วพบว่า มีอาการท้องเสียร่วมด้วย 4 ครั้ง ซึ่งปกติผลจากวัคซีนไม่มีอาการท้องเสีย และเมื่อให้ยารักษาก็ดีขึ้น แต่จากนั้นก็มีอาการท้องเสียอีก สรุปจึงน่าจะเกี่ยวกับอาหารเป็นพิษมากกว่า ไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด19 ส่วนอีกรายที่จ.ราชบุรีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการแต่มีอาการน้อยกว่ารายที่จ.สมุทรสาคร

        “วัคซีนโควิด19" ที่มีความกังวลเรื่องการแพ้รุนแรง คือ ฉีดไปแล้วไม่เกิน 15 นาที ความดันตก ช็อก หมดสติ มีผื่นขึ้น หรือหลอดลมอุดตัน มีเสียงผิดปกติในปอด ลักษณะเช่นนี้อาจจะเกิดจากวัคซีน ดังนั้น การจะมาพูดว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่พบ 3 %ตามที่กรมควบคุมโรครายงานเป็นการแพ้วัคซีนนั้นไม่ถูกต้องง ที่ถูกต้องคืออาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมาอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวคยังไม่เคยมี”นพ.โอภาสกล่าว

       ศ.นพ.วิปร วิประกษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ ระดับโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง"อาการไม่พึงประสงค์ หลังฉีด"วัคซีนโควิด19"ว่า โดยปกติ วัคซีน หรือยา สารเคมีใดๆ ก็ตามที่ใช้กับร่างกายทุกๆชนิด ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไม่รู้จัก เมื่อได้รับเข้าไป ร่างกายจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น น้อยๆ หรือบางคนไม่มีปฏิกิริยาอะไร ซึ่งปฏิกิริยาที่สำคัญหลังจากรับวัคซีน มี 2 กลุ่ม คือ 1.อาการไม่พึงประสงค์  เกิดขึ้นได้จากยาหรือวัคซีนทุกประเภท  
และ2.ปฏิกิริยาที่เป็นเรื่องการแพ้  โดย2 ส่วนนี้อาจมีอาการคล้ายๆกัน แต่กลไก การเกิด จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนทั่วไป สามารถเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องแพ้เสมอไป อาการแพ้เปรียบได้เหมือนแพ้อาหาร นมวัว อาหารทะเล เมื่อทานอาจมีผื่นขึ้น บวม ปากบวม หลอดลมตีบ ,สัตว์มีพิษ แมลงสัตว์กัดต่อย มดคันไฟ ทำให้มีอาการแพ้ได้

       แต่สมมติโดนมดกัด จะมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น บวม คัน แสบ บริเวณที่ถูกมดกัด แต่จะมีคนไม่มาก ที่จะแพ้มดกัดมากกว่านั้น หากรุนแรงจะมีผื่นแดงขึ้นทั้งตัว บางคนหลอดลมตีบ ความดันตก หยุดหายใจ หมดสติได้ ปฏิกิริยาการแพ้มีความรุนแรงแตกต่างกัน   ตั้งแต่น้อยๆ เช่น แขน ทั้งตัว หรือหมดสติ  ซึ่งมีน้อยมาก มีหนึ่งในล้าน ซึ่งวัคซีนก็เหมือนมกกัด เมื่อโดนฉีดใต้ผิวหนัง บางคน บวม แดง เจ็บแขน ยกแขนไม่ขึ้น คืออาการไม่พึงประสงค์  แต่หากแพ้จะมีระดับความรุนแรง ตั้งแต่ผื่นขึ้น หรือไปจนถึงอาการรุนแรง 

         เพราะฉะนั้นอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ไม่เฉพาะวัคซีนโควิด จะมีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้แบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1.อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่  ปวดบวมแดง เจ็บ ในตำแหน่งที่ฉีด และ2.อาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั้งร่างกาย มีไข้ต่ำๆ เพลีย เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เกิดขั้นได้กับทุกวัคซีน โดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเองภายใน 1 -2 วัน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดไหน ก็เกิดขึ้นได้
161519882665

 อาการแพ้วัคซีน

      ส่วนอาการ "แพ้วัคซีน" ที่มีอาการรุนแรง คือ มีไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก และหมดสติ ในวัคซีนโควิด 19 จะมีภูมิต้านทานทำให้เกล็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ผื่นขึ้น อาเจียนรุนแรงมากกว่า 5 ครั้ง มีเลือดออกในสมอง ชัก หมดสติ   หากแพ้แบบรุนแรงแบบนี้ ต้องรีบไปรพ.พบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียง"วัคซีนโควิด19"

   ในส่วนของ "วัคซีนโควิด19" พบว่าทุกวัคซีน มีรายงานปฏิกิริยาผลข้างเคียงเป็นหลัก เกิดขึ้นเฉพาะที่ ไม่ว่าจะเป็น ปวดบวมแดงร้อน เจ็บแขน ล้า อ่อนเพลีย ซึ่งเกิดขึ้นได้ ภายหลังได้รับวัคซีน  ส่วนปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดวัคซีน กรณีวัคซีนซิโนแวค มีรายงานอ่อนล้า ปวดศีรษะะ ปวดเมื่อย ไข้ต่ำ  และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีรายงาน ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เป็นไข้ ผื่นขึ้น ใบหน้าบวม พบอาการเจ็บในบริเวณที่ฉีดเป็นหลัก ซึ่งบางครั้ง ปฏิกิริยาอาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับวัคซีนก็ได้ เพราฉะนั้น ปัจจุบันเพื่อความปลอดภัยสูงสุด สธ. จึงมีการออกแบบกระบวนการฉีดวัคซีน โดยมีขั้นตอน ซักประวัติ ตรวจเบื้องต้น ประวัติการแพ้ ให้วัคซีนในสถานที่ที่ทำการดูแลปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้ ภายหลังฉีด นั่งสังเกตอาการ 30 นาที 

    “คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีประวัติการแพ้ มักเกิดแพ้ขึ้นภายใน 30 นาทีแรกภายหลังฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ขึ้นภายใน 10 นาทีแรก ในคนที่มีประวัติแพ้มาก่อน ปฏิกิริยาของร่างกายอาจะเกิดขึ้น หลัง 30 นาทีก็ได้ ไม่ว่าคนที่มีประวัติแพ้หรือไม่จำเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยส่วนใหญ่ที่มีประวัติแพ้เยอะๆ จะมีการดูแลตนเองอยู่แล้ว เช่น ยาแก้แพ้ ซึ่งพบไม่มากในไทย แต่จะรู้วิธีการป้องกันตนเอง” ศ.นพ.วิปรกล่าว   

อัตราการ "แพ้วัคซีนโควิด19"  

        ศ.นพ.วิปร กล่าวอีกว่า อัตราการ "แพ้วัคซีน"มีความแตกต่างกันไป ในแต่ละเชื้อชาติ ชนิดของวัคซีน เพราฉะนั้นข้อมูลที่ได้เรียนรู้ปัจจุบัน อาการแพ้รุนแรง อยู่ที่ 3-11 ในล้านของการฉีดวัคซีน ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะในแต่ละเชื้อชาติ จะมีพันธุกรรมเป็นพื้นฐานที่แตกต่างกันไป ซึ่งวัคซีนซิโนแวค มีรายงานการแพ้ 3 % และวัคซีน 2 ชนิดที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้นี้มีรายงานการศึกษาการแพ้ อยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ ไม่ได้มากกว่าชนิดอื่นๆที่ใช้ในต่างประเทศ และไม่แตกต่างกับวัคซีนที่ใช้กันประเทศ อื่นๆ อยู่แล้ว

เยียวยาเหตุจาก "วัคซีนโควิด19" สูงสุด 4 แสนบาท  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากมีเหตุไม่พึงประสงค์เกิดขึ่้นหลังการรับ "วัคซีนโควิด19" และมีการสิบสวนแล้วพบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง  ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ตามมาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ ประกอบด้วย
1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 2.4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท 
2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่ 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2.4 แสนบาท
3.กรณีบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 1  แสนบาท



"อาการเกิดร่วมด้วย"
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกคำศัพท์ นั่นคือ "อาการเกิดร่วมด้วน" ซึ่งเป็นการสรุปผลหลังมีการสอบสวนว่าอาการข้างเคียงระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังรับวัคซีนนั้น เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน หากไม่เกี่ยวข้องก็จะถือว่าเป็น "อาการเกิดร่วมด้วย"
    ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า
โควิดวัคซีนเป็นวัคซีนใหม่ และให้ในหมู่มาก ได้ผ่านการศึกษา ระยะ1 ,2 และ3 ในประชากรหลักหมื่น มาแล้วทั้งนั้น ก่อนที่จะมาใช้จริงในมนุษย์
เมืออมีการนำมาใช้ จะต้องมีการติดตามอาการข้างเคียง อาการเกิดร่วมด้วย และอาการไม่พึงประสงค์ ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี
แต่โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินและทำให้มนุษย์เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 2.5 ล้านคน จึงต้องเร่งในการป้องกัน
เมื่อให้วัคซีนในหมู่มาก (ขณะนี้ให้ไปแล้วมากกว่า 330 ล้านโดส) จะต้องพบอาการอย่างอื่นร่วมด้วย อาการไม่พึงประสงค์ เช่น การเสียชีวิต หรือโรคร้ายแรงหลังการให้วัคซีนแน่นอน เพราะการให้ล้านคน เมื่อพบอาการร้ายแรงทุกชนิด หรืออาการผิดปกติที่พบขึ้นมา จะต้องหาข้อสรุปว่า เป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนหรือไม่
ปกติอาการข้างเคียงเช่น เจ็บ ปวด บริเวณฉีด เมื่อย มีไข้ พบได้อยู่แล้วในการให้วัคซีน
แต่อาการร้ายแรงต่างๆ ต้องแยกให้ได้ ว่าเป็นอาการเกิดร่วมด้วย พอดีกับการฉีดวัคซีน หรือมีสาเหตุจากวัคซีน
การเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ของการแข็งตัวของเลือดในยุโรป ก็จำเป็นต้องหาว่าเกิดจากวัคซีน หรือเป็นอาการที่พบร่วมด้วย
ขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าน่าจะเป็นอาการที่พบร่วมด้วย และเมื่อสรุปแน่นอนในไม่กี่วันข้างหน้า ประเทศไทยก็จะดำเนินการต่อในการให้วัคซีนอย่างแน่นอน
การแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำ พบได้ในคนยุโรปและอัฟริกา มากกว่าเอเชียอยู่แล้ว การนั่งนาน เช่นขึ้นเครื่องบินจึงมีคำแนะนำเสมอให้บริหารร่างกายระหว่างนั่ง และรับประทานน้ำเยอะขึ้น