เอสซีจี คาดปีนี้ธุรกิจเคมิคอลส์ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกหนุนดีมานด์

เอสซีจี คาดปีนี้ธุรกิจเคมิคอลส์ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกหนุนดีมานด์

อสซีจี คาดปี64 ธุรกิจเคมิคอลส์ฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและดีมานด์กลับมาหลังมีวัคซีนต้านโควิด ราคาผลิตภัณฑ์ทรงตัวสูงตามราคาน้ำมัน ทุ่ม 1.3-1.4 พันล้านดอลลาร์ ขับเคลื่อนปิโตรคอมเพล็กซ์เวียดนาม

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี เปิดเผยถึง “กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ปี 2021” ว่า ธุรกิจเคมิคอลส์ ในปีนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า จีดีพีโลกปีนี้จะเติบโต 5.5% ก็ถือเป็นระดับที่ดี ประกอบกับเริ่มมีการทยอยใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19ในหลายประเทศมากขึ้น ทำให้คาดว่าจะเริ่มเห็นการเปิดประเทศมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้(ดีมานด์) ขณะที่ราคาวัตถุดิบ น่าจะทรงตัวในระดับสูงตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นและไม่ผันผวนเหมือนปีที่ผ่านมา

 

“ปีนี้ โรงงาน MOCD เสร็จ ก็จะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ฉะนั้นในแง่ของวอลุ่มยอดขายก็น่าจะโตขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เราต้องนำเข้าก็สามารถผลิตได้เอง”

 

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีการปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธุรกิจสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย โดยโครงการสำคัญ ๆ อย่างเช่น โครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ หรือ MOCD มีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ และพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ภายในต้นไตรมาสที่ 2 นี้ โดยจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มอีก 350,000 ตันต่อปี

                ขณะที่ปี 2564 มองว่า ธุรกิจปิโตรเคมี ยังมีความท้าทายใหม่ๆ ทางธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้ความท้าทาย 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy for Plastics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่เจ้าของแบรนด์สินค้าและผู้บริโภคให้ความสำคัญ เกิดเป็นพฤติกรรม Sustainable Consumption รวมถึงมีกฎระเบียบและเป้าหมายของประเทศต่าง ๆ อีกหนึ่งความท้าทาย คือ การเปลี่ยนแปลงของตลาดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Shifting demand) ทำให้เกิดปัจจัยบวกต่อตลาดบางประเภท เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่ง พลาสติกสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น คาดว่าในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ตลาดที่อุปสงค์เคยลดลงไป เช่น กลุ่มสินค้าคงทน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะกลับมาดีขึ้น ในขณะที่สินค้ากลุ่ม Medical and Healthcare จะเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานสูงขึ้นในระยะยาว ในขณะที่การแข่งขันในภูมิภาคสูงขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ Supply Chain (Competition & Supply Chain Realignment) ซึ่งบางส่วนเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลง Trade Flow จาก Trade War

 

ดังนั้น เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ทางธุรกิจ รวมทั้งตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ และแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จึงเดินหน้าสู่การเป็น “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” (Chemical Business for Sustainability) โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มการขายผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ Green Polymer 2 แสนตัน ภายในปี 2568 และขยายการขายสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เป็น 50% ภายในปี 2573 รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

 

“การควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ตอนนี้ก็มีหลายดีลที่อยู่ในแผนการเจรจา ซึ่งหากโควิด-19 คลี่คลายลง บริษัทก็จะเร่งรัดขับเคลื่อนให้เรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว”

 

สำหรับปีนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ งบลงทุนส่วนใหญ่ยังคงใช้สำหรับ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม ซึ่งก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 72% คาดว่า ใน 2 ปีข้างหน้าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยปีนี้ คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 1.4 พันล้านดอลลาร์ จากปีก่อนใช้ไปแล้ว 2.2 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ก็จะมีการลงทุนขับเคลื่อนธุรกิจตามแผนที่วางไว้ใน 3 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น เรื่องของ Circular Economy และ พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก เช่น บรรจุภัณฑ์ สุขภาพ ยานยนต์ไฟฟ้า และการก่อสร้าง

สำหรับ 3 กลยุทธ์หลักขับเคลื่อนธุรกิจในบรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. เร่งการขยายเข้าสู่ธุรกิจ Circular Economy (Accelerate Circularity) เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดภาวะโลกร้อน พร้อมตอบโจทย์ลูกค้า เจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีโรดแมปขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 4 ด้าน ครอบคลุมตลอดทั้ง Supply Chain ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกและโซลูชัน โดยออกแบบให้รีไซเคิลได้ง่าย (Design for Recyclability) เพื่อให้พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ 100% เช่น การพัฒนาโซลูชันสำหรับบรรจุภัณฑ์แบบ Mono-material ออกแบบให้ชั้นแผ่นฟิล์มในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นวัสดุชนิดเดียวกันทั้งหมด จึงนำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย ,การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) โดยขณะนี้ เอสซีจี ได้วิจัยพัฒนาสูตรการผลิต เม็ดพลาสติกรีไซเคิล PCR ชนิด HDPE ภายใต้แบรนด์ SCG Green PolymerTM สำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม,

 

รวมถึง การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Chemical Recycling) โดยได้ก่อสร้างโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงาน จังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต Recycled Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคต เมื่อเทียบกับการนำขยะไปเผาหรือฝังกลบ กระบวนการรีไซเคิลในรูปแบบนี้ มี Carbon Footprint น้อยกว่ามาก และการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาความร่วมมือกับ partners

 

2.เร่งการขับเคลื่อนธุรกิจ HVA (Accelerate Innovation) โดยพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง หรือ HVA เน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ สุขภาพ ยานยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งในปีนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ตั้งงบประมาณด้าน R&D เป็นเงินกว่า 1,600 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาต้นแบบสินค้า หรือ “i2P Center” (Ideas to Products) แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียนตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเป็นโซลูชันด้าน Material Selection, Design และ Process เป็นต้น

 

3.เร่งการนำเทคโนโลยีจีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ (Accelerate Digital Technology) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ ทั้งด้านความเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยสร้าง Single Data Platform ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นข้อมูลชุดเดียวกันแบบ Real-time เช่น การใช้ดิจิทัลในการขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบ ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามสถานการณ์ตลาดมากขึ้น การใช้ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและป้องกันปัญหาในกระบวนการผลิต (Reliability) ใช้ Predictive Model เพื่อแจ้งเตือนความผิดปกติของเครื่องจักรล่วงหน้าก่อนเกิดความเสียหาย และการนำ AI Simulation เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ Digital Commerce Platform หรือ DCP เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากคำสั่งซื้อของลูกค้าเข้ากับข้อมูลการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ลูกค้าสามารถติดตามสถานะคำสั่งซื้อได้ทุกที่ทุกเวลา และสามารถลดเวลาได้ถึง 70%

 

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาทุ่นลอยน้ำสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บริการที่ครบวงจรของ SCG Floating Solar Solutions ปัจจุบันได้พัฒนาทุ่น รุ่นที่ 3 ซึ่งปีนี้จะออกทำตลาดมากขึ้นทั้งภายในกลุ่มบริษัทและนอกกลุ่ม โดยนอดกลุ่มขณะนี้ มีความต้องการติดตั้งแล้วประมาณ 20-30 เมกะวัตต์ ซึ่งธุรกิจนี้คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี และน่าจะเห็นการขยับออกไปรุกตลาดในต่างประเทศมากขึ้น