คมนาคมเร่งโครงการแลนด์บริดจ์ คาดเปิดประมูลในปี65

คมนาคมเร่งโครงการแลนด์บริดจ์ คาดเปิดประมูลในปี65

คมนาคมดันโครงการแลนด์บริดจ์ สั่ง สนข.ศึกษา คาดเสนอ ครม.อนุมัติปี 2565 “ศักดิ์สยาม” วางโมเดลประมูลรวบ 3 โครงการ ท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ เม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์)

โดยขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย 1.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม สังคม 2.ออกแบบรายละเอียดและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน และ 5.สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน คาดว่าจะศึกษาเสร็จภายในปี 2565

“คาดว่าภายในปีหน้าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเริ่มการประกวดราคา โดยคาดว่าภายใน 30 เดือนนี้ จะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุน และใช้เวลาก่อสร้างอีก 3 ปี โครงการแล้วเสร็จใกล้เคียงกับอีอีซีที่จะเปิดในปี 2568

สำหรับรูปแบบการประกวดราคาจะจัดทำให้รูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยมีเป้าหมายนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ได้แก่ ท่าเรือนำลึก 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โครงการรถไฟสายใหม่เชื่อมชุมพร - ระนอง และมอเตอร์เวย์สายชุมพร - ระนอง รวมมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท เปิดประมูลรวมเป็นโครงการเดียวกัน เพื่อจัดหาเอกชนพัฒนาเพียงรายเดียว

ทั้งนี้ การประมูลรวม 3 โครงการ เพื่อจัดหาเอกชนพัฒนาเพียงกลุ่มเดียวนี้ ตนเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี และไม่ถือเป็นมูลค่าโครงการที่สูงเกินไป เนื่องจากที่ผ่านมาได้เห็นแล้วว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างที่รัฐบาลเปิดประมูลมีมูลค่าสูงและเอกชนให้การตอบรับ อาทิ เมืองการบินอู่ตะเภา ไฮสปีดเทรน รถไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้นโครงการแลนด์บริจด์นี้เชื่อว่าเอกชนทั้งไทยและต่างชาติจะให้การตอบรับ

“ที่ผ่านมามีเอกชนต่างชาติเข้ามาหารือและให้ความสนใจร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริจด์จำนวนมาก เช่น เอกชนจากญี่ปุ่น แต่นโยบายผมก็ยังยืนยันว่าต้องไทยเฟิร์ส ซึ่งตามสัดส่วนไทยเฟิร์สที่รัฐบาลกำหนดไว้ ก็ต้องมีเอกชนไทยไม่ต่ำ 30% แต่ของกระทรวงฯ เรากำหนดไม่ต่ำ 50% ซึ่งคงต้องดูผลการศึกษาก่อน”