ธนารักษ์เตรียมลงนามพัฒนาที่หมอชิต

ธนารักษ์เตรียมลงนามพัฒนาที่หมอชิต

กรมธนารักษ์เตรียมลงนามสัญญาการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอชิตเป็นคอมเพล็กซ์มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท กับบางกอกเทอร์มินอลเร็วๆนี้ หลังจากโครงการนี้ล่าช้ามากว่า 25 ปี

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณหมอชิตวานนี้(25 ก.พ.)ว่า โครงการดังกล่าวที่มีความล่าช้ามากว่า 25 ปี จะมีการลงนามในสัญญาโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 63 ไร่ บนถนนพหลโยธิน ตรงข้ามสวนจัตุจักรเร็วๆนี้

เขากล่าวว่า โครงการนี้ ซึ่งบริษัทบางกอกเทอร์มินอล(BKT)เป็นผู้ได้รับสัมปทาน อยู่ในระหว่างการขอ EIA ซึ่งคาดว่า ภายในอีก 2 -3 เดือนจะเรียบร้อย และหลังจากนั้น กรมฯจะลงนามในสัญญาโครงการกับบริษัท ซึ่งจะทำให้โครงการนี้สามารถเริ่มลงมือก่อสร้างได้

โครงการนี้ มีพื้นที่ใช้สอบรวม 8.88 แสนตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ชดเชย (มอบให้กับกรมขนส่งทางบก) 1.12 แสนตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารสถานีขนส่ง พื้นที่ใช้สอยในราชการ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท BKT จำนวน 7.76 แสนตารางเมตร เพื่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน ,พื้นที่ศูนย์การค้า, Service apartment และที่จอดรถ โครงการคอมเพล็กซ์นี้ จะมีอายุสัมปทาน 30 ปี และหลังจากลงนามในสัญญาจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี

สำหรับการจ่ายผลประโยชน์ในค่าเช่าที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ของโครงการนี้นั้น ตามสัญญาสัมปทาน กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 550 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่ในระหว่างการก่อสร้าง6.1 ล้านบาท/ปี และค่าเช่าหลังจากก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว จะต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ปีละ 5 ล้านบาท

นายยุทธนายังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการทางยกระดับสำหรับเข้าออกโครงการ เพื่อเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยต้องมีการเวรคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาบริเวณวิภาวดีซอย5 ซึ่งปรากฎว่ามีประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยดังกล่าวคัดค้าน ซึ่งหลังจากกรมฯพิจารณาร่วมกับบริษัท BKT แล้ว เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างทางยกระดับดังกล่าว ดังนั้น จึงพับแผนการเวนคืนที่ดินดังกล่าวไป รวมถึง จะพิจารณาแผนการจราจรในบริเวณซอยดังกล่าว หลังจากโครงการนี้แล้วเสร็จ ซึ่งจะมีสถานีขนส่งในโครงการด้วย โดยจะกำหนดให้เป็นรถบัสขนาดเล็กและกำหนดจำนวนรถเข้าออก

ที่ผ่านมาโครงการนี้ ยืดเยื้อหลังจากที่กรมได้ลงนามในสัญญากับบริษัทซันเอสเตท ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น BKT เนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยปีเมื่อปี 2544ว่า สัญญาโครงการนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันในแง่สัญญาต่อกัน แต่ต่อมาในปี 2557ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยสถานะของสัญญาว่า เมื่อยังไม่บอกเลิกสัญญา BKT และกรมธนารักษ์ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป กรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินการตาม พรบ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2556