BTS ควัก 4.2 พันล้าน ผุดส่วนต่อขยายสายสีชมพู

BTS ควัก 4.2 พันล้าน ผุดส่วนต่อขยายสายสีชมพู

รฟม.ลงนามNBM เดินหน้าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าเมืองทองธานี ชี้ งบลงทุน 4.2 พันล้านบาท บางกอกแลนด์ช่วยออก 1.2 พันล้านบาท คาดเวนคืนที่และเริ่มตอกเสาเข็มได้ภายในส.ค. หวังให้ทันใช้พร้อมสายหลักในปี 2566

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี หลังจากที่ครม.มีมติเห็นชอบให้สร้างส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี โดยได้มีการลงนามระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. และบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี หลังจากลงนามสัญญาฉบับแก้ไขแล้ว บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) มีความพร้อมเข้าไปเริ่มงานก่อสร้างทันที หากได้รับหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ส่วนงบประมาณในการลงทุนรวม 4.2 พันล้านบาท จะแบ่งออกเป็น ค่างานโยธา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า 4 พันล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดินอีกประมาณ 200 ล้านบาท โดยบริษัทฯจะลงทุน 3 พันล้านบาท และบมจ. บางกอกแลนด์ (BLAND) จะลงทุน 1.2 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯคาดการณ์ว่าจะสามารถเร่งรัดให้ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เปิดให้บริการพร้อมกับสายสีชมพูหลัก ช่วงแคราย – มีนบุรี โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าแผนกำหนดเปิดให้บริการ พ.ย.2567 โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้สั่งซื้อขบวนรถรองรับบริการแล้ว โดยเป็นการสั่งซื้อรวมให้บริการ 2 โครงการทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว - สำโรง และสายสีชมพู แคราย - มีนบุรี จำนวน 88 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตามข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา หรือทีโออาร์ รถไฟฟ้าสายสีชมพู รฟม.ได้กำหนดไม่จัดเก็บค่าแรกเข้า กรณีที่ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. ส่งผลให้เมื่อเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบอย่างสะดวก จ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว อาทิ สายสีชมพูเชื่อมต่อสายสีเหลือง สายสีชมพูเชื่อมต่อสายสีม่วง สายสีเหลืองเชื่อมต่อสายสีน้ำเงิน ขณะที่การเชื่อมต่อสายสีเขียว คาดว่าอนาคตจะมีการเจรจาค่าแรกเข้าร่วมกัน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า หลังลงนามสัญญา รฟม.จะต้องเวนคืนที่ดินในช่วงใต้ทางด่วนศรีรัช และทางเข้าเมืองทองธานี ซึ่งหากทำการเวนคืนไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว จึงจะออกหนังสือ NTP ให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง โดยคาดว่าจะออกหนังสือดังกล่าวได้ภายในเดือน ก.ค. - ส.ค.นี้ จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน ตามสัญญาแล้วเสร็จ เปิดให้บริการได้ในปี 2567 และเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารตามคาดการณ์ 13,785 คนต่อเที่ยวต่อวัน


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT–01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT–02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร