"มาฆบูชา 2565" ต้อง "เวียนเทียน" ไหม? ชาวพุทธเวียนเทียนวันสำคัญไหนบ้าง?

"มาฆบูชา 2565" ต้อง "เวียนเทียน" ไหม? ชาวพุทธเวียนเทียนวันสำคัญไหนบ้าง?

ชาวพุทธต้องรู้! "เวียนเทียน" ทำแล้วดียังไง? รวบรวบข้อควรรู้เกี่ยวกับการเวียนเทียน เป็นต้นว่า.. ต้องเวียนเทียนวันไหนบ้าง การเวียนเทียนที่ถูกต้องทำอย่างไร ถึงจะได้บุญหนักในวัน "มาฆบูชา" 2565

16 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นวัน "มาฆบูชา" นอกจากการไหว้พระ ทำบุญ ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติกันทุกปีก็คือการ "เวียนเทียน" ปีนี้เป็นอีกปีที่ "กรมศาสนาและสำนักพระพุทธฯ" ออกมารณรงค์ให้คนไทย "เวียนเทียนออนไลน์" เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่ทั้งนี้ วัดต่างๆ ยังสามารถจัดกิจกรรมทางศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา ได้อยู่ (ยกเว้นบางแห่งที่มีประกาศงดจัดงาน) และพุทธศาสนิกชนยังคงสามารถไป "เวียนเทียน" ได้เช่นเดิม แต่ต้องเว้นระยะห่าง และหลีกเลี่ยงหากพบว่าคนแออัดมากเกินไป

สำหรับพิธีกรรม "เวียนเทียน" นั้น ยังมีหลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องไปเวียนเทียนในวันมาฆบูชา เวียนเทียนแล้วได้อะไร แล้วต้องเวียนเทียนวันไหนบ้าง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์หาคำตอบมาให้รู้กัน ดังนี้ 

 

  • ความสำคัญของวัน "มาฆบูชา"

ก่อนอื่น มารู้ความสำคัญและที่มาของวัน "มาฆบูชา" กันสักหน่อย เริ่มจากคำว่า มาฆบูชา ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินอินเดีย หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

161416333474

วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธโดยชาวพุทธทั่วโลก เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” หรือ การแสดงธรรมที่เป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนา ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา

 

พร้อมกับมีเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้น 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

 

  • "เวียนเทียน" แล้วดียังไง? ต้องทำวันไหนบ้าง?

ส่วนพิธีกรรม "เวียนเทียน" นั้น มีข้อมูลจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเว็บไซต์ธรรมะไทย อธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นกุศลพิธีอย่างหนึ่ง ที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติในเบื้องต้นอย่างสามัญ โดยพิธีกรรมเวียนเทียนนั้น สามารถทำได้ในวันสำคัญทางศาสนา 4 วันด้วยกัน คือ วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันอาสาฬหบูชา, วันอัฐมีบูชา

แล้วการ "เวียนเทียน" ในวันสำคัญทางศาสนา ในที่นี้คือเวียนเทียนวันมาฆบูชา ทำแล้วดีอย่างไร? คำตอบคือ ผลดีที่จะได้รับจากการเวียนเทียนตามความเชื่อของชาวพุทธเถรวาท ได้แก่

161416333716

- ช่วยให้ชีวิตสุกสว่าง: ไฟถือเป็นสื่อกลางในการแสดงความศรัทธาต่อศาสนาพุทธ การเวียนเทียนจึงเปรียบเหมือนการเพิ่มความสุกสว่างให้ชีวิตราบรื่นเจริญรุ่งเรือง เป็นความเชื่อที่ตกทอดมาแต่โบราณในแถบอินเดียและเอเชียตะวันออก ส่วนมากใช้ในพิธีเผาเทียนเล่นไฟ พิธีปล่อยโคมลอย ใช้เผาศพ และใช้จุดธูปเทียนสำหรับการเวียนเทียน

 

- เตือนสติชาวพุทธ: การเวียนเทียนนอกจากเพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อปูชนียบุคคลหรือปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นเหมือนกุศโลบายเตือนสติให้ตระหนักถึง "วัฏสงสาร" หรือการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้ใช้ชีวิตไม่ประมาท

- ได้อานิสงส์แรง-ได้บุญหนัก: การเวียนเทียนจะช่วยส่งอานิสงส์ผลบุญให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติ ในทางตรงคือผู้ปฏิบัติจะมีกายที่สำรวมขึ้น มีจิตใจที่สะอาด สงบ ระหว่างที่เดินเวียนเทียน และในทางอ้อม (ตามความเชื่อ) คือ จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บุญหนัก หลุดพ้นจากภูมิเปรต เดรัจฉาน อีกทั้งบันดาลให้จิตพ้นอบายภูมิได้

 

  • 7 ขั้นตอนการ "เวียนเทียน" ให้ถูกต้อง

1. ชำระร่างกายและจิตใจ : ก่อนที่จะไปเวียนเทียนที่วัด เนื่องใน "วันมาฆบูชา" ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่ งดใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น เสื้อสายเดี่ยว ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด กางเกงหรือกระโปรงยาวคลุมเข่า

2. เตรียม 3 สิ่งสำคัญที่ต้องมี! เตรียม "ของบูชา" ที่จะนำไปสักการะพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของชาวพุทธ นั่นก็คือ ดอกไม้ 1 คู่ เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง ดอกกล้วยไม้ หรือจะใช้พวงมาลัยดอกไม้สำหรับถวายพระก็ได้ นอกจากนี้ก็ต้องมีธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม 

3. ไหว้พระประธานในโบสถ์ก่อน : เมื่อไปถึงวัด ให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน หัวแถวจะมีพระภิกษุเดินนำ ต่อด้วยสามเณร ท้ายสุดเป็นอุบาสก อุบาสิกา ชายหญิงทั่วไป 

161416332871

4. เวียนประทักษิณาวัตร : จากนั้นจุดธูปและเทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือ 3 รอบ เรียกว่าการเวียนแบบประทักษิณาวัตร พร้อมสวดมนต์ไปด้วยในแต่ละรอบ

5. บทสวดมนต์ขณะเวียนเทียน : รอบที่ 1 ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยสวดบทอิติปิโส "อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ..." 

รอบที่ 2 ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณ สวดบทสวากขาโต "สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม..." 

รอบที่ 3 ให้ระลึกถึงพระสังฆคคุณ โดยสวดบทสุปะฏิปันโน "สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ..."

6. ระวังอันตรายจากธูปเทียน : ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และควรรักษาระยะการเดินทางให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น อาจทำให้บาดเจ็บได้

7. วางดอกไม้ธูปเทียน หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้ 

--------------------------------------

อ้างอิง : กรมการศาสนา , dhammathai.org , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ