รายแรกในไทยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้

รายแรกในไทยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้

ศบค.เปิดไทม์ไลน์ชายไทยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ รายแรกในประเทศไทย ยืนยันมีมาตรการเฝ้าระวัง สกัดกั้น ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนประเทศไทยอย่างแน่นอน

กรณีการแพร่กระจายโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในส่วนของประเทศไทย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)  กล่าวว่า ขณะนี้ พบว่ามีชายไทยอายุ 41 ปี พบติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้รายแรกของประเทศไทย โดยชายดังกล่าว มีอาชีพรับซื้อพลอย และได้ไปรับซื้อพลอยในแทนซาเนีย นาน 2 เดือน ระหว่างที่อยู่แทนซาเนีย ได้เข้าร่วมงานเลี้ยง โดยผู้เข้าร่วมงานไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย โดยให้เหตุผลว่า ไม่พบกรณีการติดเชื้อภายในประเทศ

ต่อมาวันที่ 29 ม.ค.2564 ได้เดินทางถึงประเทศไทยจากแทนซาเนีย โดยมีการต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย เข้าคัดกรองอาการป่วย ณ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่มีไข้และอาการป่วย พร้อมเดินทางไปกักตัวที่ State Quarantine วันที่ 3 ก.พ.2564 มีการเก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 พบ ผลบวก

วันที่ 4 ก.พ. 2564 ส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยผู้ป่วยให้ประวัติว่า มีไข้ต่ำ ไอ รับไว้รักษาในห้องแยก วันที่ 5 ก.พ.2564 ทีมสอบสวนโรคส่งตัวอย่างระบุสายพันธุ์ของโควิด-19 เนื่องจากผู้เดินทางมาจากแอฟริกา เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย (EID-TRC)

วันที่ 12 ก.พ.2564 ผลการตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย พบเป็น South African Variant (98.64% coverage) วันที่ 13 ก.พ. 2564 ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่และกรมควบคุมโรค ลงประเมินการสัมผัสผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ ที่ State Quarantine และโรงพยาบาล พบว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจกรรมอย่างรัดกุม ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ PCR ในเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ใน State Quarantine รวม 41 โรงพยาบาล (โรงพยาบาล 31 ราย State Quarantine 10 ราย

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายงาน South African Varient ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา สำหรับทางแนวทางการคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ South African Varient ได้ปรับให้มีความไวมากขึ้น เช่น การเก็บตัวอย่างทันทีที่ถึงประเทศไทย คัดกรองผู้ที่มีอาการและประวัติเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลทันที รวมทั้งมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ที่ทันเวลาก่อนที่ผู้เดินทางจะออกจากโรงพยาบาล

ทางศบค. กระทรวงสาธารณสุข และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการในการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อเข้าสู่ สถานที่กักกันของรัฐ โดยตอนนี้ ผู้ป่วยรายดังกล่าวได้อยู่ในสถานที่กักกันของรัฐเป็นที่เรียบร้อย และได้รับการดูแลให้ปลอดภัย ซึ่งศบค.สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาว่าการกักกันตัวอาจจะต้องนานกว่า 14 วัน อาจต้องใช้มาตรการกักกันตัว 21 วัน จะมีการเฝ้าระวัง และมีมาตรการสกัดกั้น ไม่ให้มีการแพระจายเชื้อในชุมชนของประเทศอย่างแน่นอน” พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอจากประชาชนอยากให้รัฐบาลวางแผนการฉีดวัคซนในจังหวัดท่องเที่ยวนั้น ขณะนี้ทางรัฐบาลได้มีการวางแผนไว้อยู่แล้ว โดยเริ่มแรกจะฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มพื้นที่เสี่ยง และเมื่อมีวัคซีนเพียงพอ จะฉีดให้แก่ประชาชนในจ.ท่องเที่ยว ซึ่งศบค.ให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกอาชีพ และจ.ท่องเที่ยว ถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ จะได้รับการดูแลไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ หลักการกระจายวัคซีน จะไม่ได้พิจารณาว่ากลุ่มใดก่อนหลัง แต่พิจารณาถึงการเก็บ การกระจายวัคซีนอีกด้วย