‘เออาร์-วีอาร์’ ปลุกความมหัศจรรย์แห่งโลกธุรกิจ

‘เออาร์-วีอาร์’ ปลุกความมหัศจรรย์แห่งโลกธุรกิจ

บริษัทนักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีชั้นนำ เปิดรายงานเทรนด์สำคัญของโลกพุ่งเป้าที่ โลกเสมือนจริง (Virtual World) ที่เน้น 2 เทคโนโลยีเสมือนจริงทั้ง “เออาร์” และ “วีอาร์” ที่เชื่อว่าจะพามนุษย์ก้าวข้ามสู่มิติมหัศจรรย์ พลิกประสบการณ์รูปแบบใหม่บนโลกธุรกิจ

รายงาน Big Idea 2021 ของ ARK Invest บริษัทด้านการลงทุนในนิวยอร์ก ให้คำนิยามว่า "เออาร์" หรือ Augmented Reality จะเน้นไปที่การผสานรวบรวมระหว่างวัตถุเสมือนรอบตัวเรา เข้ากับสภาพแวดล้อมขณะนั้นจริงๆ ส่วน “วีอาร์” หรือ Virtual Reality จะเน้นการตัดขาดออกจากโลกจริงเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนอย่างเต็มรูปแบบโลกเสมือนที่ถูกกำหนดให้เป็นสภาพแวดล้อมที่จำลองด้วยคอมพิวเตอร์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา สังคมมีปฏิสัมพันธ์ทุกวันกับโลกเสมือนจริง

ขณะที่ ไอดีซี ชี้ว่า การใช้จ่ายด้านเออาร์ และวีอาร์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีการเติบโตจะพุ่งไปถึง 47.7% ในระหว่างปี 2562-2567  ซึ่งโควิด-19 คือปัจจัยผลักดันสำคัญ และเป็นการสร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ตลอดการคาดการณ์นี้

มูลค่าตลาดพุ่งแตะ2.8หมื่นล.ดอลล์

รายงานของไอดีซีเรื่องการใช้จ่ายด้านเออาร์ และวีอาร์ทั่วโลก คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก สำหรับเออาร์ และวีอาร์ จะเติบโตอย่างรวดเร็วมีมูลค่ามากกว่า 2.8 หมื่นล้านภายในปี 2567 การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนหลักจากความสามารถของเออาร์ และวีอาร์ ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด และสร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม

“ข้อจำกัดที่ถูกกำหนดขึ้น จากการแพร่ระบาดกระตุ้นให้หลายองค์กรต้องพึ่งเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนกระบวนการดำเนินงาน เช่น การบริการลูกค้า การรักษาสุขภาพทางไกล (รีโมท เฮลท์) รวมถึงการลดพบปะพูดคุยระหว่างบุคคลอื่น เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ หนุนความต้องการใช้งานเทคโนโลีเออาร์ และวีอาร์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะครึ่งหลังของปี 2563"

ริติก้า ศรีวาสตาวา นักวิจัยด้านการตลาดของ ไอดีซี เอเชีย แปซิฟิก กล่าว ทั้งระบุว่า กลุ่มคอมเมอร์เชียล มีการเติบโตด้านการใช้จ่ายเออาร์ และวีอาร์ แซงหน้า ในกลุ่มการใช้งานของผู้บริโภคเมื่อปีที่แล้ว และยังคงมีส่วนแบ่งการใช้จ่ายที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเรื่องของ เออาร์ และวีอาร์ คาดว่า จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 43.2% ระหว่างปี 2562-2567

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำ และมีโครงการใช้เออาร์ และวีอาร์ มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ ด้านการศึกษา การเรียนการสอนเสมือนจริงสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วม การปฏิสัมพันธ์กันอย่างเรียลไทม์สำหรับนักเรียนและผู้สอน ตามมาด้วยกลุ่มค้าปลีกและการผลิต

ไอดีซี ระบุด้วยว่า เออาร์ และวีอาร์ ยังมีการนำไปใช้มากขึ้นในกลุ่มการเงินการธนาคาร เติบโตมากถึง 313.7% ตามด้วยภาครัฐ ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ บริการด้านหลักทรัพย์และการลงทุน ขณะที่ การใช้งานเออาร์ ในกลุ่มการเทรนนิ่ง ในภาคอุตสาหกรรมก็มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน รวมไปถึง เกมเสมือนจริง ที่เป็นหนึ่งในยูสเคสสำคัญของปี 2562 เออาร์ และวีอาร์ คือ ความบันเทิงยุคใหม่ เนื่องจากข้อจำกัดจากการระบาดของโควิด ทำให้ยากต่อการโต้ตอบทางกายภาพ

‘เวอร์ช่วล เวิลด์’ เปิดโลกใบใหม่

ขณะที่ รายงานของ ARK Invest ระบุว่า “เวอร์ช่วล เวิลด์” (Virtual World) จะเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่จะเปลี่ยนโลกธุรกิจในอนาคตด้วย แน่นอนว่า 2 เทคโนโลยีหลักหนีไม่พ้น เออาร์ และวีอาร์  

ARK Invest คาดการณ์ว่า ภาพรวมรายได้จาก เวอร์ช่วล เวิลด์ จะเติบโตเพิ่มขึ้น 17% ต่อปีจากมูลค่า 1.8 แสนล้านดอลลาร์ปัจจุบันถึง เป็น 3.9 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2568

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัท ต่างๆ เช่น สแนปแชท เฟซบุ๊ค และแอ๊ปเปิ้ล มีการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีเออาร์ในอุปกรณ์ของตัวเองอย่างแพร่หลาย ขณะที่ คาดว่าภายในปี 2573 ตลาดเออาร์จะก้าวกระโดดจากมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1.3 แสนล้านดอลลาร์ และเมื่อมองภาพรวม เออาร์ และวีอาร์ คาดว่าจะเติบโตที่ 59% ในช่วง 5 ปีจากนี้ จาก 3 พันล้านดอลลาร์เป็น 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในรูปแบบการให้บริการ ที่จะได้เห็นเพิ่มขึ้น อยู่ในรูปแบบของ เวอร์ช่วล อินเทอร์เฟซ คือ การให้บริการลูกค้าหรือการทำงานของพนักงานที่ต้องติดต่อผ่านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะเห็นการใช้ เออาร์ และวีอาร์ เพื่อให้ลูกค้าเห็นและทดสอบสินค้าเสมือนจริง หรือการให้คำปรึกษาลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ วิกฤติโควิคทำให้เกิดความต้องการเว้นระยะห่างทางสังคมและระบบ เวอร์ช่วล อินเทอร์เฟซ จึงจำเป็น และจะทำให้ผู้คนคุ้นเคยการใช้วิธีการแบบนี้มากขึ้นในอนาคต