UN เตือนใจวาเลนไทน์ มอบความรักผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV

UN เตือนใจวาเลนไทน์ มอบความรักผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV

สหประชาชาติ ขอใช้วันวาเลนไทน์เตือนใจเราว่า ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีก็คู่ควรกับความรักเช่นกัน

หกปีที่แล้ว พีทพบว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวี เขาพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเกือบจะยอมแพ้ให้กับชีวิต แต่ ณ จุด ๆ นี้เองที่เรื่องราวของพีทได้เริ่มต้นขึ้น พีทก้าวข้ามการถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติได้สำเร็จ และตัดสินใจที่จะเปิดเผยตัวตนในฐานะคนเลือดบวกต่อสาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และให้ความรู้แก่คนทั่วไปเรื่องเชื้อเอชไอวีจากประสบการณ์ของเขา ในวันนี้พีทได้กลายเป็นอีกหนึ่งเสียงที่มีอิทธิพลทางความคิดในประเทศไทย

ในวันวาเลนไทน์นี้ องค์การสหประชาชาติขอกล่าวย้ำดังที่เราได้ทำมาโดยตลอดว่า คนทุกคนคู่ควรกับความรัก การให้เกียรติ และชีวิตที่มีศักด์ศรี ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีคือสมาชิกที่มีคุณค่าของชุมชน และมีคุณูปการต่อสังคมอย่างมหาศาล

เครือข่ายของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีกำลังทำงานอย่างแข็งขันกับรัฐบาลและสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการตรวจหาเชื้อเอชไอวี สนับสนุนโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติ และพวกเราทุกคนก็สามารถทำอะไรได้อีกมากมายเพื่อสนับสนุนความพยายามเหล่านี้

เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการตอบโต้การตีตราและการเลือกปฏิบัติซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในทุกส่วนของสังคม ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวียังคงต้องเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุก ๆ ที่ ทั้งที่ทำงาน โรงเรียน บ้าน สถานพยาบาล และในชุมชน การเลือกปฏิบัติไม่เพียงแต่จะทำร้ายปัจเจกบุคคลหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น หากแต่ยังทำร้ายเราทุกคนด้วย

ดัชนีชี้วัดการตีตราที่มีการสำรวจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ต้องการซื้ออาหารที่ปรุงโดยผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ยังมีผู้ปกครองที่ไม่ต้องการให้บุตรหลานเรียนหนังสือกับนักเรียนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ความคิดและทัศนคติเหล่านี้หยั่งรากลึกอยู่บนความไม่รู้และทำให้ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีตกอยู่ในอันตราย มีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าผู้ป่วยเลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่จำเป็น เนื่องจากกลัวการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่หลายรูปแบบ

จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีก็ยังคงมีให้เห็น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายผ่านน้ำลาย น้ำตา หรือเหงื่อได้ และเชื้อจะอยู่ในของเหลวจากร่างกายเท่านั้น เช่น โลหิต น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด และน้ำนมจากมารดา การสัมผัสร่างกาย เช่น การกอด การจับมือ การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การแบ่งปันอาหาร และการจูบ ไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้ เราจะติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ การถ่ายเลือด การใช้เข็มที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกันในสถานพยาบาลและการฉีดสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย และจากแม่สู่ทารกในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตร และการให้นมบุตร

แนวทางในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีที่รับได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงนั้นมีอยู่หลากหลาย เช่น การสวมถุงยางอนามัยชายและหญิง การใช้ยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อ (PrEP) และการรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีเพื่อลดปริมาณไวรัสและป้องกันการแพร่เชื้อในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของตนเองได้ผ่านการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การรักษาด้วยวิธีนี้ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถรักษาคุณภาพชีวิต และมีอายุขัยใกล้เคียงกับผู้ไม่ได้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี

ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการรับมือกับเชื้อเอชไอวีด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ซึ่งให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ART) ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีราวร้อยละ 80 และร้อยละ 97 ของผู้ที่ได้รับการรักษาพบว่าสามารถควบคุมไวรัสได้

จากหลักฐานที่รวบรวมมาเป็นเวลา 20 ปี แสดงให้เห็นว่าการรักษาเอชไอวีนั้นมีประสิทธิภาพสูงในการลดการแพร่เชื้อ โดยมีผลการวิจัยที่แน่ชัดว่าผู้ติดเชื้อที่มีปริมาณไวรัสต่ำจนตรวจไม่พบจะไม่สามารถส่งต่อเชื้อเอชไอวีทางการมีเพศสัมพันธ์ได้ ข้อค้นพบนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตให้กับผู้คนที่รู้สึกว่าตนได้รับการปลดเปลื้องจากการถูกตีตราที่กระทำต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี และยังช่วยให้พวกเขารู้สึกได้ถึงบทบาทอันสำคัญของตนในฐานะผู้ป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี ประเทศไทยยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในการควบคุมอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี โดยอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ลดลงร้อยละ 44 ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2562 จาก 25,000 รายลดลงเป็น 14,000 รายตามลำดับ

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีความท้าทายหลายประการที่ต้องจัดการ เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่มีอัตราความชุกของการติดเชื้อสูงที่สุด โดยมีผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประมาณ 500,000 ราย แม้ว่าอัตราการติดเชื้อโดยรวมจะลดลง แต่ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย อัตราการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ กลับเพิ่มสูงขึ้น

“ไม่ใช่ว่าการมีเชื้อเป็นเรื่องปกติ เชื้อไม่ใช่สิ่งปกติ” นี่คือคำกล่าวของตัวแทนเยาวชนที่ไม่ประสงค์ออกนามจากเครือข่ายเยาวชน ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย “แต่คนที่มีเชื้อก็คือคนปกติ มีศักยภาพเหมือนคนทั่วไป และควรได้รับการปฏิบัติและได้รับความรักเหมือนคนอื่น ๆ” เธอกล่าวเสริมว่า การทำให้ประเด็นเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องปกติไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ได้

โรคระบาดนี้ยังส่งผลกระทบมากเป็นพิเศษต่อประชากรกลุ่มเสี่ยง และบ่อยครั้งก็ตกเป็นเป้าของการตีตราอยู่แล้ว ซึ่งผลักให้พวกเขากลายเป็นคนชายขอบของสังคม และทำให้สถานการณ์ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขแย่ลง ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็นราวร้อยละ 38 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ และสำหรับกลุ่มผู้ให้บริการและลูกค้า กลุ่มบุคคลข้ามเพศ และกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดทางเข็มฉีดยา พบสัดส่วนของผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 5-10 ในแต่ละกลุ่ม แรงงานข้ามชาติและนักโทษก็ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากเป็นพิเศษเช่นกัน และเกือบร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ หรือประมาณ 3,000 รายต่อปี พบในคนหนุ่มสาวอายุ 15-24 ปี

ในหลายกรณี ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหลีกเลี่ยงการไปสถานพยาบาลเนื่องจากหวาดกลัวการถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติ ผลสำรวจระดับชาติประจำปี 2557 พบว่าร้อยละ 59 ของประชาชนทั่วไปยังมีทัศนคติที่เลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง โดยพื้นฐานแล้ว การตีตราและการเลือกปฏิบัติไม่เพียงแต่จะบั่นทอนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 3 ว่าด้วยสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อที่เชื่อมโยงกัน และการพัฒนาประเทศอีกด้วย

สำหรับพีท การให้ความรู้เรื่องการป้องกันเชื้อเอชไอวีและการลดการติดเชื้อคือภารกิจแห่งชีวิตของเขา แต่ภารกิจนี้ต้องการแรงสนับสนุนจากพวกเราทุกคน เริ่มต้นด้วยการศึกษาหาความรู้ให้ตนเองเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี เพื่อทำลายความไม่รู้ ยุติการตีตรา และการเลือกปฏิบัติ เมื่อนั้นเราจึงจะมีสังคมที่ดี และพร้อมที่จะฟื้นตัวจากวิกฤตได้อย่างแท้จริง

*******

กีต้า ซับบระวาล เป็นผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และพัชรา เบญจรัตนาภรณ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย