ข้าวไทยตกต่ำขีดสุด แก้ไขก่อนไร้ที่ยืนตลาดโลก

ข้าวไทยตกต่ำขีดสุด  แก้ไขก่อนไร้ที่ยืนตลาดโลก

ปี2563 ไทยส่งออกข้าวได้ 5,724,679 ตันลดลง24.5% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะส่งออกได้ 6 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกที่หลุด 10 ล้านตัน เกิดขึ้นต่อเนื่องมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้คือสัญญาณที่กำลังบอกว่าสถานะข้าวไทยในตลาดโลก กำลังอยู่ในภาวะไร้ที่ยืน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่าวันนี้ (10 ก.พ.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริการข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2564 สาระสำคัญที่ประชุมหลักๆคือการรับฟังรายงานผลการระบายข้าวของทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.)และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.) นอกจากนี้ จะมีการรายงานสถานการณ์ตลาดข้าวทั้งภาคการส่งออก ตลาดภายใน และความคืบหน้ายุทธศาสตร์ข้าว

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ข้าวไทยกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่เนื่องจากการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสาเหตุสำคัญมาจากราคาข้าวไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นทุกเดือนจนทำให้การทำตลาดเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันคุณภาพข้าวก็ไม่ได้แตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม และกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น ภัยแล้ง ค่าเงินบาท และคู่แข่งที่มีความเข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม 

ตอนนี้ถือว่าการส่งออกข้าวของไทยถึงจุดต่ำสุด ถ้ามองให้ดีก็เป็นโอกาสที่เราต้องปรับตัวแล้วหลังจากที่เตือนกันมานานหลายปีว่าผลผลิตต่อไรเราต่ำเฉลี่ยที่ 350 กิโลกรัม(กก.) ขณะที่เวียดนามผลผลิตเฉลี่ย 700 กก.ทำให้ต้นทุนเราสูงกว่าคู่แข่งทันที ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป คงได้เห็นส่งออกปีละ 5 ล้านตัน ปีละ 4 ล้านตัน ลดลงไปเรื่อยๆจนเราไม่มีที่จะยืนในตลาดโลก”

161287942443

การปรับตัวอีกด้านของข้าวไทยคือบริหารจัดการต้นทุนการผลิต เพราะแม้จะไม่สามารถลดต้นทุนด้านอื่นโดยเฉพาะแรงงานได้ แต่หากสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนโดยเฉลี่ยของไทยลดลงไปเอง แต่จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีพันธุ์ข้าวและวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม

ทั้งนี้ แนวทางแก้ปัญหาคือการเร่งนำยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบัน พบว่ายังมีปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าวและขั้นตอนกฎหมายการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว เพราะตลาดข้าวโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลด้านราคา และปัจจัยไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่บริโภคแป้งน้อยลง ทำให้การทำตลาดข้าวจากนี้ หากเป็นตลาดที่ซืิ้อปริมาณมากก็จะถูกเบียดด้วยราคาที่ไทยแข่งขันไม่ได้ และหากเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพ ก็พบว่า ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้มีคุณสมบัติเด่นเหมือนก่อน

“แต่ก่อนหุงข้าวหอมมะลิ  จะหอมฟุ้งไปทั่ว แต่ตอนนี้ ข้าวหอมมะลิไทย เวียดนาม หรือ จากที่อื่นๆจะเหมือนกัน  แต่ที่ไม่เหมือนกันคือราคา เพราะข้าวไทยเฉลี่ย ตันละ1,000 ดอลลาร์ แต่ข้าวหอมมะลิเวียดนามเฉลี่ยที่ ตันละ 700 ดอลลาร์ ของเหมือนกันจะจ่ายแพงกว่าทำไม นี่คือแนวคิดของผู้ซื้อในตลาดในปัจจุบัน

ส่วนคู่แข่งในตลาดโลกนั้น จีนกำลังจะเข้ามาเป็นผู้ส่งออกสำคัญหลังผลผลิตในประเทศเพิ่มสูงขึ้นและคาดว่าจะเกินความต้องการภายในจนสามารถส่งออได้ในเร็วๆนี้ ส่วนเวียดนาม มีแต้มต่อที่มีปัจจัยการผลิตที่ดี โดยเฉพาะปริมาณน้ำจึงคาดว่าจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ได้ในเร็วๆนี้

รังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย  กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเจ้าในประเทศปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากดีมานด์ตลาดภายในสูงขึ้นขณะที่การส่งออกไม่ได้ประสบปัญหาตู้สินค้า(คอนเทนเนอร์) ขาดแคลน เหมือนการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ปริมาณส่งออกไม่กระเตื้องเท่าที่ควรและส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ค่อนข้างทรงตัวในปัจจุบัน 

“ตลาดข้าวปีนี้ ดีมานด์ในประเทศค่อนข้างพยุงราคาไว้ได้มาก ประกอบกับปริมาณผลผลิตปีนี้ ค่อนข้างต่ำทำให้โรงสีต้องแย่งกันซื้อข้าวส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างไรก็ตาม ต้องติดตามผลผลิตนาปรังที่จะออกมาในช่วง เม.ย.อีกทีหากปริมาณมากก็จะกระทบราคาให้อ่อนตัวลง แต่หากน้อยก็จะทำให้ราคาทรงตัวสูงเช่นนี้ต่อไปได้อีก”