"ผู้ตรวจการแผ่นดิน"ถกหาทางออกเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ -ยันไม่เรียกคืน

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน"ถกหาทางออกเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ -ยันไม่เรียกคืน

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน"ถกหาทางออกเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ -ยันไม่เรียกคืน พร้อมปรับระเบียบภายใน 120 วัน

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัดตรวจสอบการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากได้รับเงินบำนาญพิเศษตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทำให้ผู้สูงอายุหลายรายถูกเรียกคืนเงินดังกล่าวเดือดร้อนกันทั่วประเทศ วันนี้จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหาทางออกร่วมกัน

โดยมีพล.ต.อรรถพล แผ้วพาลชน หัวหน้าอัยการทหาร กระทรวงกลาโหม นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง นางอภิญญา ชมพูมาศ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางสาวทิวาพร ผาสุข ผู้อำนวยการกองบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุกว่า 15,300 รายนั้น เพราะเห็นว่าเป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ ซึ่งต้องมาพิจารณาประเด็นเรื่องเงิน 2 ก้อนนี้ก่อนว่าเป็นเงินลักษณะเดียวกันหรือไม่

พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2536 และทุกรัฐบาลก็ดำเนินการต่อกันเรื่อยมา ต่อมามีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 รองรับซึ่งกำหนดว่าผู้สูงอายุ คือ บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ปัจจุบันมีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ โดยผู้สูงอายุจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสียชีวิต คือ 1) ช่วงอายุ 60 - 69 ปี ได้รับเงิน 600 บาทต่อเดือน 2) ช่วงอายุ 70 - 79 ปี ได้รับเงิน 700 บาทต่อเดือน 3) ช่วงอายุ 80 - 89 ปี ได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน และ 4) ช่วงอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานผู้ดูแลและปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

ซึ่งกฎเกณฑ์หรือคุณสมบัติต้องห้ามที่กำลังเป็นปัญหานี้เพิ่งจะมีการบัญญัติในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 สำหรับบำนาญพิเศษได้กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ลักษณะ 2 บำเหน็จบำนาญพิเศษ โดยกำหนดว่า ข้าราชการ พลทหารกองประจาการ หรือบุคคลที่ทำหน้าที่ทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกาหนด ผู้ใดได้รับอันตรายจนพิการซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจแล้ว และแสดงว่าถึงทุพพลภาพไม่สามารถจะรับราชการต่อไปได้อีกเลย ทั้งนี้เพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่หรือถูกประทุษร้ายเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ ให้ผู้นั้นได้รับบำนาญปกติกับทั้งได้รับบำนาญพิเศษด้วย

รวมไปถึงการตายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเงินบำนาญพิเศษนี้จะจ่ายให้กับผู้มีสิทธิทั้งบุตร สามีหรือภรรยา รวมถึงบิดามารดา ผู้เป็นทายาทโดยชอบธรรม จากหลักการดังนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บำนาญพิเศษเป็นเงินที่ให้แก่ผู้ที่พิการถึงทุพพลภาพ หากมีชีวิตก็สามารถรับเงินได้ ทั้งบำนาญปกติและบำนาญพิเศษ หากถึงแก่ความตายโดยเหตุของการปฏิบัติหน้าที่ก็จ่ายเงินบำนาญพิเศษให้แก่ทายาท จึงถือว่าเป็นเงินที่รัฐจ่ายเพื่อตอบแทนการเสียสละทำคุณให้กับแผ่นดิน ซึ่งเป็นการให้คนละวัตถุประสงค์กับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

สำหรับกรณีที่มีผู้รับเงินทั้งบำนาญพิเศษและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 การจะไม่เรียกคืนเงินเห็นว่า ให้นำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 มาเทียบเคียงได้เพราะผู้สูงอายุต่าง ๆ ได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุไว้โดยสุจริต จึงไม่ต้องคืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 412 อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่คืนเงินไปแล้วนั้นไม่สามารถเรียกรับเงินส่วนนั้นคืนได้ เนื่องจากถือเป็นการแสดงเจตนาแล้วว่าไม่ขอรับเงินก้อนนี้

โดยสรุปที่ประชุม ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีเสนอแนะดังนี้ 1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชักช้า และไม่เกิน 120 วัน โดยไม่กำหนดเรื่องบำนาญพิเศษเข้าไปในเงื่อนไขต้องห้าม ที่ไม่ให้ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

2. สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้วนั้น ให้ระเบียบที่แก้ไขใหม่กำหนดบทเฉพาะกาลว่า ถ้าใครได้รับไปโดยสุจริต ให้ไปเทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559 โดยถือเป็นลาภอันมิควรได้ ซึ่งหน่วยงานไม่ต้องเรียกเงินคืนจากบุคคลนั้น ๆ