ผลรางวัล SUNDANCE 2021 ‘บาส พูนพิริยะ’ ชนะสาขา Creative Vision

ผลรางวัล SUNDANCE 2021 ‘บาส พูนพิริยะ’ ชนะสาขา Creative Vision

ผลการประกาศรางวัลเทศกาลภาพยนตร์ SUNDANCE 2021 ออกมาแล้ว ข้อแสดงความยินดีกับ “บาส พูนพิริยะ” ผู้กำกับหนังไทยคนแรกที่มีผลงานเข้าประกวดในเทศกาลนี้แล้วยังสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize สำหรับงานด้านภาพที่ออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์หรือ Creative Vision

หลังจากที่เทศกาลภาพยนตร์ Sundance ได้เปลี่ยนมาจัดงานในรูปแบบออนไลน์ เปิดโอกาสให้ผู้ชมในสหรัฐอเมริกาสามารถซื้อตั๋วชมภาพยนตร์จากทางบ้านได้ และให้สื่อกับผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์จากทั่วโลกติดตามเทศกาลผ่านระบบการจัดฉายมาตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม จนกระทั่งถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในช่วงเช้าของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ตามเวลาประเทศไทย ทางเทศกาลฯ ก็ได้จัดงานประกาศผลรางวัลในทุกสาขากันแบบเรียบง่ายผ่านระบบการประชุมทางไกล ให้ทั้งคณะกรรมการ ผู้ได้รับรางวัล ผู้ชม และสื่อต่าง ๆ สามารถร่วมงานจากห้องนั่งเล่นที่บ้านได้ ด้วยบรรยากาศแบบเป็นกันเองเป็นพิเศษ

ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์ฝีมือการสร้างสรรค์โดยคนไทยหนึ่งเดียวในเทศกาลเรื่อง One for the Road ของผู้กำกับ บาส พูนพิริยะ ได้ออกฉายรอบ Premier ในสายการประกวด World Cinema Dramatic ไปเป็นเรื่องแรก ตั้งแต่เช้าวันที่ 29 มกราคม เวลาประเทศไทย และอาจจะเสียเปรียบหนังประกวดสายเดียวกันที่เปิดฉายในช่วงหลัง ๆ ซึ่งคณะกรรมการน่าจะยังจดจำรายละเอียดได้มากกว่า

161251489969

161251443861

ทว่าสุดท้าย One for the Road ของผู้กำกับ บาส พูนพิริยะ ก็ชนะใจคณะกรรมการ สามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize สำหรับงานด้านภาพที่ออกแบบได้อย่างสร้างสรรค์หรือ Creative Vision ไป พร้อม ๆ กับเสียงชื่นชมถึงความงดงามด้านการกำกับภาพและการถ่ายภาพของหนังที่ไม่เพียงแต่ทำออกมาได้สดสวย ทว่ายังสามารถรับใช้การเล่าเรื่องทั้งหมดของหนังได้เป็นอย่างดี สมกับการเป็นงานภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาภาพในการถ่ายทอดเรื่องไปพร้อม ๆ กับองค์ประกอบอื่น ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นรางวัลที่สมน้ำสมเนื้อเลยทีเดียว เพราะผู้กำกับ บาส พูนพิริยะ ประณีตและให้ความสำคัญกับรายละเอียดของงานภาพมาก แต่ละฉากแต่ละช็อตล้วนถูกออกแบบมาอย่างดี โดยมีหัวใจของเรื่องราวเป็นตัวตั้งที่ทุก ๆ องค์ประกอบต่างช่วยส่งเสริมกันได้อย่างสามัคคีและงดงาม

แต่หนังที่เอาชนะ One for the Road และคว้ารางวัลใหญ่คือ Grand Jury Prize ไปได้ในสายการประกวด World Cinema Dramatic ก็คือหนังเล็ก ๆ จากประเทศเล็ก ๆ อย่างโคโซโวเรื่อง Hive ของผู้กำกับหญิง Blerta Basholli ซึ่งเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงกับ Fahrije ภรรยาที่สามีเพิ่งหายสาบสูญไปโดยไม่ทราบข่าวใด ๆ หลังต้องไปเป็นทหารร่วมรบในสงคราม

161251446729

Fahrije ดำรงชีวิตหาเลี้ยงตัวเองด้วยการทำฟาร์มน้ำผึ้ง ณ เมืองชนบทห่างไกล แต่เมื่อผึ้งของเธอไม่ยอมให้น้ำผึ้งดังเดิม Fahrije จึงต้องหันไปรวมกลุ่มกับเหล่าแม่บ้านชะตากรรมเดียวกัน ช่วยกันผลิตน้ำพริกหยวกแดงสูตรดั้งเดิมของโคโซโวส่งขายในตัวเมือง และต้องทำเรื่องขอใบขับขี่เพื่อขับรถไปส่งสินค้าเอง ท่ามกลางสายตาดูหมิ่นเหยียดหยามจากเหล่าสุภาพบุรุษที่มองว่าเธอไม่เจียมตัวทำในสิ่งที่ผู้ชายควรทำในขณะที่สตรีอย่างเธอควรมีหน้าที่เพียงเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน!

โดยหนังได้ติดตามชีวิตต้องสู้ของ Fahrije ผ่านการถ่ายภาพที่ใช้กล้องอันวูบไหวเฝ้าเดินตามตัวละคร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสในสิ่งที่เธอต้องเจอไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ได้มีการกำกับที่หวือหวาอะไรนัก แต่เรื่องราวชีวิตหนัก ๆ ที่สร้างจากชะตากรรมของบุคคลที่มีตัวตนจริงแบบเรื่องนี้ก็คงจะสร้างความสะเทือนใจให้กับเหล่าคณะกรรมการอยู่ไม่น้อย จนต้องมอบให้ทั้งรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสายนี้ไปพร้อม ๆ กัน

161251449747

161251451066

นอกเหนือจากหนังเล่าเรื่องแล้ว เทศกาลภาพยนตร์ Sundance ยังได้จัดประกวดหนังนานาชาติในกลุ่ม World Cinema สำหรับงานภาพยนตร์สารคดีอีกด้วย และเรื่องที่ได้รับรางวัลใหญ่ Grand Jury Prize ในสาย World Cinema Documentary ประจำปีนี้ ก็น่าจะทำให้หลาย ๆ คนต้องประหลาดใจ เพราะผลงานเรื่อง Flee ของผู้กำกับ Jonas Poher Rasmussen จากเดนมาร์ก ที่คว้ารางวัลนี้ไปกลายเป็นงานอนิเมชันที่สร้างจากเรื่องราวชีวิตจริงของ Amin หนุ่มชาวอัฟกานิสถานที่เขาและครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยการเมืองจากประเทศบ้านเกิดแยกย้ายกระจัดกระจายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กันในหลายประเทศของทวีปยุโรปโดยต้องผ่านความยากลำบากและการผจญภัยเสี่ยงอันตรายต่าง ๆ นานา

เนื่องจากว่าผู้สร้างงานสารคดีเรื่องนี้ไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าและตัวตนจริงของ Amin ตามรูปแบบสารคดีแบบเดิม ๆ ได้เลย Flee จึงนับเป็นงานลูกผสมที่ผสานเอาขนบการเล่าเรื่องราวชีวิตจริงของงานสารคดีให้เข้ากับการถ่ายทอดด้วยจินตนาการเชิงกวีจากภาพของงานกลุ่มอนิเมชัน

161251460024

แต่ที่เท่กว่านั้นก็คือมันยังเป็นหนัง LGBT เมื่อตัวละครหลัก Amin เป็นชายรักชายผู้มาจากประเทศที่ไม่รู้จักเลยว่า ‘เกย์’ คืออะไร กระทั่ง Amin ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ในเดนมาร์กแต่เพียงลำพัง และได้พบรักกับหนุ่มท้องถิ่น Kasper จนตกลงจะแต่งงานกันในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นเหตุให้ Amin ต้องมาเล่าเรื่องราวหนหลังทั้งหมดของเขาให้ผู้ชมได้ดูและฟังกันในเรื่องนี้

และแม้ว่า Flee จะเป็นหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนเฉพาะกลุ่ม แต่ดูเหมือนผู้ชมหลาย ๆ รายก็แสดงความชื่นชมหนังว่ากำกับออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ด้วยเรื่องราวที่แสนจะสะเทือนหัวใจ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นภาพการใช้ชีวิตที่ต้องระหกระเหินพลัดลูกพลัดแม่ของครอบครัวชาวอัฟกานิสถานที่ฝ่ายพ่อถูกทางการจับตัวไปในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และต้องหลบหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนมาตกระกำลำบาก ณ ดินแดนต่างถิ่นอันแสนหนาวเย็น

หนังเล่นกับขนบงานสารคดีด้วยการสร้างภาพอนิเมชันให้ผู้กำกับกำลังตั้งกล้องสัมภาษณ์ Amin ราวกำลังถ่ายสารคดีจริง ๆ และตัดสลับเรื่องราวจากปากคำของ Amin ที่สาธยายเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อเขายังเด็ก กับ footage ภาพข่าวของจริง ตามลำดับเวลา สลับกับการสร้างบรรยากาศด้วยเพลงประกอบตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเพลงดิสโก้อย่าง Take on Me (1984) ของวง A-ha เพลง Joyride (1991) ของวง Roxette และเพลงเทคโนล้ำสมัยอย่าง VERIDIS QVO (2001) ของวง Daft Punk ซึ่งช่วยสะท้อนสำเนียงแห่งความหวังว่าแม้ประสบการณ์ชีวิตของ Amin จะเจอแต่ความหนักหนาสาหัสมาเพียงไร แต่สุดท้ายเขาก็ยังพอหาความสุขได้จากการได้รับอิสระในการเป็นตัวของตัวเองอย่างที่เขาเป็น ซึ่งก็ทำให้ Flee เป็นหนังเล่าเรื่องราวชีวิต LGBT อีกเรื่องที่เปิดกว้างจนผู้ชมที่ไม่ว่าจะสังกัดเพศไหนก็ควรจะต้องลองหาโอกาสดู

161251478996

จากหนังชนะรางวัล Grand Jury Prize สายสารคดีในกลุ่ม World Cinema ก็มาที่ผู้ชนะจากกลุ่มงานสารคดีของอเมริกากันบ้าง โดยเรื่องที่ได้รับรางวัลใหญ่ในปีนี้ก็คือ Summer of Soul (…Or, When the Revolution Could Not Be Televised) กำกับโดย Ahmir “Questlove” Thompson สารคดีบันทึกเทศกาลดนตรีของกลุ่มคนผิวสีครั้งใหญ่ Harlem Cultural Festival ณ สวนสาธารณะ Mount Morris Park แห่ง Harlem ช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1969 เวลาเดียวกันกับเทศกาลดนตรี Woodstock อันโด่งดัง และมีนักร้องนักดนตรีผิวสีชื่อดังสลับกันมาร่วมแสดงคอนเสิร์ตนี้ตลอด 6 สัปดาห์เป็นจำนวนมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น Stevie Wonder, Nina Simone, B.B. King และมีผู้เข้าชมกว่า 300,000 คน โดยนักข่าวโทรทัศน์ในสมัยนั้น Hal Tulchin ได้บันทึกภาพไว้ แต่ทางสถานีกลับบอกว่าไม่มีผู้ชมที่สนใจข่าวงานคอนเสิร์ตของกลุ่มคนผิวดำ ฟุตเตจต่าง ๆ จึงต้องถูกเก็บตายยาวนานถึง 50 ปี ก่อนที่ผู้กำกับ Ahmir “Questlove” Thompson จะไปพบและนำมาร้อยเรียงเป็นสารคดีเรื่องนี้ให้ได้ดูกัน

161251481568

161251482478

ซึ่งหลังจากได้ดูแล้วก็คงจะรู้สึกได้ทันทีว่างานเทศกาลแห่งเสียงดนตรีงานนี้ ยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้งานเทศกาลดนตรี Woodstock ของกลุ่มนักร้องนักดนตรีผิวขาวเลย แต่กระแสความดังของทั้งเทศกาล Woodstock รวมถึงสารคดียอดฮิตชื่อเดียวกัน (1970) ที่ผู้กำกับ Michael Wadleigh ได้บันทึกไว้ ได้ลบกลบตำนานของเทศกาล Harlem Cutural Festival ของกลุ่มคนผิวดำไปจนหมดสิ้น และต้องรอกันนานถึง 50 ปีกว่าที่ผู้ชมรุ่นหลานจะได้สัมผัสกันในเทศกาล Sundance ปีนี้!

ดูเหมือนเรื่องราวการเฉลิมฉลองความสุขสำราญในชีวิตด้วยเสียงดนตรีจะเป็นสิ่งที่ผู้ชมและกรรมการเทศกาล Sundance ในสหรัฐอเมริกาจะโหยหากันในช่วงเวลาของการกักตัวต่อสู้โรคระบาดนี้ เพราะหนังที่ชนะรางวัลใหญ่ Grand Jury Prize ในสาย U.S. Dramatic ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักร้องนักดนตรีและการรวมตัวกันในงานคอนเสิร์ตเช่นกัน นั่นคือเรื่อง CODA ของผู้กำกับหญิง Sian Heder ซึ่งเล่าเรื่องราวของ Ruby ผู้มีพรสวรรค์ในด้านการร้องเพลง แต่เธอถือกำเนิดมาในครอบครัวที่ทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายหูหนวกและเป็นใบ้ มีเธอเพียงคนเดียวในบ้านที่ได้ยินและสามารถสื่อสารผ่านวัจนภาษากับผู้อื่นได้ และต้องคอยเป็นล่ามภาษามือให้กับครอบครัวเสมอมา

ปัญหาใหญ่คือครอบครัวของเธอประกอบอาชีพเป็นชาวประมงที่ต้องเดินเรือออกไปหาปลาเอง ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยพึ่งพาการได้ยินของ Ruby อยู่เสมอ เมื่อครูสอนดนตรีในโรงเรียนค้นพบพรสวรรค์อันสุดวิเศษของ Ruby และพยายามสนับสนุนผลักดันให้ Ruby เตรียมตัวเพื่อสอบชิงทุนเข้าวิทยาลัยดนตรีชื่อดังให้ได้ มันจึงกลายเป็นความยากลำบากใจว่า Ruby จะสามารถละทิ้งครอบครัวของเธอไปสานฝันของตัวเองได้หรือไม่ ในช่วงเวลาที่เธอเป็นที่ต้องการของทุกคน!

161251485372

161251486326

ถึงแม้ว่าหนังจะเข้าประกวดในสายที่ชื่อว่า U.S. Dramatic แต่จริง ๆ CODA เป็นหนังตลกอบอุ่นและน่ารักแบบเอาใจมหาชนจนไม่น่าแปลกใจที่หนังจะกวาดรางวัลจากทั้งกรรมการและผู้ชมไปได้ถึงสี่แขนง ได้แก่ Grand Jury Prize, รางวัลการกำกับยอดเยี่ยม รางวัล Special Jury Prize สำหรับนักแสดงกลุ่ม และรางวัลภาพยนตร์ยอดนิยมจากการโหวตของผู้ชม

CODA สามารถเป็นความบันเทิงที่เยียวยาโศกนาฎกรรมจากโรคร้ายชวนให้คิดถึงบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดของคนในครอบครัวเดียวกัน และการชมการแสดงดนตรีร่วมกันเป็นหมู่คณะ และน่าจะเป็นหนังที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในเทศกาล โดยบทหนังได้ดัดแปลงมาจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง The Bélier Family (2014) ของผู้กำกับ Eric Lartigau ที่เคยเข้าฉายในบ้านเรากันมาแล้ว

สำหรับโอกาสในการชมภาพยนตร์เหล่านี้ อาจต้องรออีกสักระยะ เนื่องจากแต่ละเรื่องก็เพิ่งจะได้ฉาย Premier เปิดตัวกันในเทศกาลแห่งนี้ และถึงแม้ว่าหลาย ๆ เรื่องจะมีผู้จัดจำหน่ายสนใจซื้อสิทธิ์เพื่อการออกฉาย แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ยังคาดการณ์อะไรไม่ได้ แต่ละค่ายก็ต้องอาศัยจังหวะดี ๆ ในการลงโรงของหนังแต่ละเรื่องอยู่เหมือนกัน ส่วนหนังฝีมือคนไทยเรื่อง One for the Road นั้น ล่าสุดมีการติดต่อเจรจากับผู้จัดจำหน่ายฝ่ายประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว หากไม่มีปัญหาใด ๆ คนไทยก็น่าจะได้พิสูจน์คุณภาพกันภายในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน