'เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี'  สมรรถนะ-เทคโนโลยี น่าใช้

'เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี'  สมรรถนะ-เทคโนโลยี น่าใช้

รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด จากญี่ปุ่นที่เข้าไปตีตลาดยุโรปได้อย่างน่าสนใจ และสามารถสร้างยอดจำหน่ายทั่วโลกได้มากกว่า 2.6 แสนคัน เข้ามาทำตลาดในไทยเป็นรุ่นแรกของฝั่งผู้ผลิตญี่ปุ่น

มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เข้ามาทำตลาดปลายปีที่ผ่านมา 2 รุ่นย่อย คือ จีที ราคา 1.64 ล้านบาท และ จีที พรีเมียม 1.749 ล้านบาท เป็นราคาที่หลายคนบอกว่าสูงไปนิด แต่มิตซูบิชิ เชื่อว่ารถที่ทำตลาดได้ดีในยุโรปทั้งที่ราคาสูงกว่ารถเจ้าถิ่น จะไปได้ดีในไทยที่ราคาต่ำกว่ารถยุโรป

สิ่งที่ทำให้มั่นใจมาจากสมรรถนะ เทคโนโลยี ซึ่งผมก็ว่าน่าจะจริง แม้ว่าการมีอายุในตลาด่ยาวนานทำให้รูปร่างหน้าตาอาจจะเสียเปรียบก็ตาม

มาว่ากันที่ออปชั่นเด่น เช่น ระบบความปลอดภัยหลายๆ ระบบ ทั้งการเตือนการชนด้านหน้า พร้อมช่วยเบรก อแดปทีฟ ครูส คอนโทรล ไฟสูง-ต่ำ อัตโนมัติ ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์เมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็วไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังที่ความเร็วไม่เกิน 10 กม./ชม. ระบบเตือนจุดอับสายตา ระบบเตือนขณะเปลี่ยนเลน ระบบเตือนด้านหลังขณะถอยออกจากช่องจอด กล้องมองภาพรอบคัน 

161236258316

ซึ่งการทำงานต่างๆ เหล่านี้ มาจาก 3 ระบบ คือ ”กล้อง เรดาร์ และคลื่นอัลตร้าโซนิค” 

นอกจากนี้ก็ยังมีระบบเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนช่วยให้การใช้งานสะดวกขึ้น เช่น ตั้งเวลาการทำงานของระบบปรับอากาศล่วงหน้า  ตรวจสอบสถานะของรถยนต์ ทั้งการล็อค-ปลดล็อครถ เปิด-ปิดไฟในห้องโดยสาร เปิด-ปิดประตูท้ายรถ สั่งเปิดไฟหน้าหรือไฟหรี่ การตั้งเวลาการชาร์จไฟให้เริ่มชาร์จในช่วงที่ค่าไฟถูก เป็นต้น

เครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 128 แรงม้าที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 199 นิวตันเมตรที่ 4,500 รอบ/นาที และมอเตอร์ขับเคลื่อน 2 ตัว ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด

มอเตอร์เคลื่อนล้อหน้าให้กำลังสูงสุด 82 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 137 นิวตันเมตร ตัวขับเคลื่อนล้อหลัง 95 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 195 นิวตันเมตร

161236218865

เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ แปรผันตามความเหมาะสม และโหมดการขับขี่ หากขับขี่ทั่วไปจะเน้นส่งกำลังที่ล้อหลังเป็นหลักประมาณ 80% และถ้าใช้โหมด LOCK จะส่งกำลังเท่าๆ กัน 50:50 

ซึ่งโหมดขี่มีทั้ง Normal, Sport, Snow สำหรับขับขี่บนทางลื่น และ LOCK สำหรับการขับขี่ที่ต้องการกำลังฉุดลาก เหมาะกับเส้นทางขรุขระ ทราย หรือทางวิบาก

สำหรับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เรียกว่า ซูเปอร์-ออลวิลล์คอนโทรล” (S-AWC) จาก “มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีโวลูชัน” โดยมีระบบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง คือระบบเบรกเอบีเอส ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว  (ASC) และระบบควบคุมการขับเคลื่อนและการเบรกระหว่างล้อซ้ายและล้อขวา (Active-Yaw Control : AYC)

ขณะที่การทำงานของระบบไฮบริดนั้น แหล่งเก็บพลังาน คือ แบตเตอรี ลิเธียม ไอออนขนาด “13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง”  ซึ่งใช้เวลาชาร์จไฟแบบปกติประมาณ 4 ชม. แต่ถ้าหากชาร์จแบบ ควิกชาร์จ ถึงความจุ 80% จะใช้เวลา 25 นาที

161236218792

เมื่อชาร์จไฟเต็มที่แล้ว สามารถขับขี่ด้วยไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวได้ระยะทางสูงสุด 55 กม. ซึ่งหลายคนหากบ้านกับที่ทำงานไม่ไกลกันมาก วันๆ หนึ่งอาจจะไม่ต้องใช้น้ำมันจากเครื่องยนต์เลยก็เป็นได้เช่นกัน

 และความเร็วสูงสุดของการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า อย่างเดียวคือ 135 กม./ชม.”

ผมลองใช้งานจริง ขับขี่ในกรุงเทพฯ และรอบๆ เริ่มจากย่านเมืองทอง ไปถนนแจ้งวัฒนะ ออกไปยังกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันตก ตัดเข้าถนนบรมราชนี ราชพฤกษ์ มายังถนนนกรุงธนบุรี เจริญนคร

ขับแบบปกติ มีช้า มีเร็ว มีเร่งแซง เบ็ดเสร็จแล้วได้ระยะทางเกือบๆ 50 กม. เครื่องยนต์ถึงจะมีโอกาสได้ทำงานกับเขาสักที

161236219255

 

จุดเด่นอย่างหนึ่งก็คือสมองของ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี มีแนวคิดทีเหนียวแน่นว่า “EV first” เพราะจะพยายามใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเป็นหลัก ด้วยจุดเด่นทั้งเรื่องของการตอบสนองที่รวดเร็ว ประหยัด ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ได้เลือกโหมด EV ก็ตาม ดังนั้นการขับขี่ในชีวิตจริง ถ้าไม่ได้รุนแรงกับคันเร่งมากเกินไป ระบบก็จะไม่ไปรบกวนเครื่องยนต์ จนกว่าแบตเตอรีจะหมดหรือใกล้หมดเต็มแก่

ที่บอกว่าใกล้หมดเต็มแก่ คือ ระบบจะไม่รีบร้อนสั่งการให้เครื่องยนต์ทำงาน เป็นเพราะมั่นใจว่าต่อให้ไฟหมดหรือเกือบหมดจากแบตเตอรี แต่เจเนอเรเตอร์ตัวใหญ่และสร้างพลังงานไฟฟ้าได้สูง จะสามารถเข้ามารับช่วงต่อในการสร้างพลังงานไฟฟ้าส่งไปขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าได้ทันท่วงทีไร้รอยต่อ และยังเจียดอีกส่วนหนึ่งส่งไปชาร์จเก็บไว้ในแบตเตอรีอีกด้วย

แม้กระทั่งเมื่อเครื่องยนต์เริ่มทำงาน ระบบก็ยังเน้นให้มอเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก กล่าวคือ เครื่องยนต์จะทำหน้าที่ปั่นเจนเนอเรเตอร์ เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า ส่งต่อไปยังมอเตอร์และแบตเตอรีเท่านั้น โดยไม่ได้ส่งกำลังไปขับเคลื่อนโดยตรงที่ล้อ หรือเรียกว่าเป็นการทำงานแบบ “ซีรีส์ ไฮบริด”

 ส่วนจังหวะที่เครื่องยนต์จะส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อโดยตรง ร่วมแรงกับการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “พาราเรล ไฮบริด” ก็มีเช่นกัน แต่มีไม่มากนัก เช่น ช่วงที่ต้องการกำลังสูงๆ มากเป็นพิเศษ เช่น เร่งแซง หรือแช่ที่ความเร็วสูงนานๆ

การส่งกำลังจากเครื่องยนต์โดยตรง จะส่งไปที่ล้อคู่หน้า

จุดเด่นอีกอย่างของระบบไฮบริด คือ ระบบชาร์จ เมื่อกดปุ่มควบคุม CHARGE ที่อยู่แถวๆ คอนโซลเกียร์ ไม่ว่าขณะนั้นพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรีจะอยู่ที่เท่าไรก็แล้วแต่ ต่อให้เหลือมากกว่า 90% ก็ตาม ระบบจะสั่งการให้เครื่องยนต์ทำงานเพื่อชาร์จไฟทันทีจนกว่าจะเต็มหรือกดปุ่มยกเลิก

161236219429

161236220162

ระบบนี้มีไว้ทำไม ก็เช่น เมื่อเราต้องการให้เมื่อเดินทางถึงที่หมายแล้วมีไฟในแบตเตอรีเพียงพอ สำหรับใช้ทำอะไรสักอย่าง เช่น ต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากปลั๊กเอซี (AC) ท้ายรถซึ่งให้กำลังสูงสุด 1500 วัตต์”  ไม่ว่าจะเป็นไปจอดแคมปิ้ง เสียบเตาปิ้งย่างไฟฟ้า ฯลฯ

161236219949

หรือบางคนจะเตรียมพร้อมไปจอดรอรับลูกที่โรงเรียน หรือ จะไปจอดรถในอาคารจอดรถที่ห้ามติดเครื่องยนต์ ก็สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อเปิดเครื่องปรับอากาศโดยไม่ต้องติดเครื่องยนต์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ก็มีระบบ SAVE เมื่อกดปุ่ม ระบบจะคงพลังงานไฟฟ้า ณ ขณะนั้นไว้ให้อยู่เท่าเดิม ไม่ลดลง

161236220012

ทีนี้มาว่ากันถึงการขับขี่โดยรวม เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เป็นเอสยูวีที่มีความกระฉับกระเฉง เรียกกำลังมาได้เร็ว เร่งแซง หรือเพิ่มความเร็วหายห่วง ได้อารมณ์สปอร์ต เร้าใจ ช่วยเพิ่มคล่องตัวในการใช้งานโดยเฉพาะในเส้นทางที่รถหนาตาที่ต้องใช้การเปลี่ยนความเร็วบ่อยครั้ง

ด้านช่วงล่างเกาะถนนมั่นใจได้ แม้จะออกนุ่มๆ เล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการควบคุมรถ ขณะที่พวงมาลัยแม่นยำ แต่น้ำหนักเบาไปหน่อย แม้ไม่มีผลกับการควบคุมรถมากนักจนเป็นปัญหา แต่ก็อาจจะขัดใจคนที่ชอบอารมณ์สปอร์ตไปบ้าง

161236219260

ผมลองขับขี่นอกถนนด้วยเพื่อดูการทำงานของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ S-AWC ถือว่าการกระจายกำลัง การควบคุมล้อแต่ละล้อทำได้ดี เพราะเส้นทางที่เป็นหินลอยลื่นๆ แต่สามารถควบคุมรถให้อยู่ในเส้นทางได้ไม่ยาก ใส่ความเร็วเข้าไปในโค้งได้ จนรถออกอาการล้อหลังกวาดออกไป แต่จากนั้นไม่นาน ด้วยการแก้อาการที่พวงมาลัยแค่เล็กน้อย กับระบบต่างๆ ของรถ ก็ดึงมันกลับมาอยู่ในเส้นทางได้ไม่ยาก

รวมถึงลองขับแบบสลาลอม หรือขับซิกแซกไปมาอย่างรวดเร็วบนผิวเส้นทางแบบนี้ รถสามารถเกาะเส้นทางได้ดี เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งสำหรับ เอาท์แลนเดอร์ พีเอช อีวี

161236219665

โดยสรุป การเป็นรถที่อยู่ในตลาดมานาน ผ่านการ “ไมเนอร์เชนจ์” มา 4 ครั้ง ทำให้มันลบจุดอ่อนต่างๆลงไป จนเป็น ปลั๊ก-อิน ไฮบริดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ น่าใช้ 

จะมีจุดด้อยอยู่บ้าง ก็ตรงที่ว่าอยู่ในตลาดมานาน เพราะฉะนั้นโครงสร้างหลักของตัวถัง อาจจะดูไม่โฉบเฉี่ยวเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับรถในยุคสมัยปัจจุบัน แต่มิตซูบิชิก็ปรับเปลี่ยนหลายส่วนโดยเฉพาะด้านหน้าที่ล้ำสมัยขึ้น

แต่จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน และขณะเดียวกันภายในห้องโดยสาร ก็กว้างขวาง โปร่งโล่ง เบาะนั่ง นั่งสบาย ทั้งเบาะหน้า และเบาะหลัง และหากต้องการเพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ ก็สามารถพับเบาะหลังได้แบบแบนราบ เพิ่มความสะดวกได้มากทีเดียวครับ

161236219584

161236219724

161236219819