‘วัคซีนโควิด-19’ จะมาแล้ว... ฉีดฟรีทุกคน มีเงินก็ซื้อก่อนไม่ได้

‘วัคซีนโควิด-19’ จะมาแล้ว... ฉีดฟรีทุกคน มีเงินก็ซื้อก่อนไม่ได้

การจัดการวัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องทำอย่างไร เรื่องนี้มีคำตอบจากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และมุมวิชาการที่ยืนยันว่า ข้อมูลไวรัสโควิดเปลี่ยนทุกวัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมโลก

แม้ประชากรในซีกตะวันตกจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีผลยืนยันว่า ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง และอีกหลายเรื่อง เพราะการศึกษาเรื่องไวรัสโควิดและวัคซีนโควิด เป็นเรื่องใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การผลิตวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นภาระกิจเร่งด่วนที่ทุกประเทศดำเนินการ ถ้าจะประเมินผลในแง่ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ คงต้องรองานวิจัยระยะยาวที่หลายประเทศกำลังเริ่มต้นทำ

ณ วันนี้ (ปลายเดือนมกราคม 2564) วัคซีนที่ผลิตออกมา ยังไม่มีหลักฐานสรุปว่า ลดการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อ มีเพียงข้อมูลว่า ลดความรุนแรงของโรค

และอีกหลายเรื่องที่คนไทยสงสัย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า โรงพยาบาลเอกชนจะซื้อวัคซีนโควิดมาฉีดก่อนได้ไหม ,คนต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้ว ปลอดภัยจริงหรือ (อ่านบทสรุปเพิ่มเติมท้ายเรื่อง)

161199110712  

ต้องดูผลการศึกษาระยะยาว

 “วัคซีนจะทยอยมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนที่มีอยู่ผ่านการวิจัยและทดลองว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในเบื้องต้นมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ตอนนี้ทั้งโลกมีแค่งานวิจัยระยะสั้น ต้องติดตามผลระยะยาว” นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 และผู้ช่วยรัฐมนตรีการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานวิชาการของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) เรื่อง “วิจัย-นโยบาย-เศรษฐกิจ” จัดการวัคซีนอย่างไรจึงได้ประโยชน์สูงสุด

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนทั้งประเทศ เป็นเรื่องที่คณะทำงานต้องวางแผนให้ดีที่สุด ประกอบกับการติดตามผลการศึกษาวิจัยเรื่องไวรัสโควิด-19 ในทุกๆ ด้าน เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีบางเรื่องที่คนไทยเข้าไม่ถึงข้อมูล

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ กรรมการที่ปรึกษาด้านการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน องค์การอนามัย และนักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) บอกว่า นอกเหนือจากประสิทธิผลการลดความรุนแรงของโรค เราต้องรู้ว่า วัคซีนมีระยะเวลาป้องกันนานแค่ไหน และมีผลข้างเคียงอย่างไร

“ต้องดูผลการศึกษาวิจัยระยะยาว ผมเข้าใจว่าทางกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและมีแผนที่จะติดตามผลเรื่องนี้”

วัคซีนโควิด-19 ล็อคแรก วางแผนไว้ว่า จะฉีดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 กลุ่มแรกที่จะได้วัคซีนคือ บุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบุคคลที่มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดัน มะเร็ง หัวใจ โรคอ้วน ฯลฯ ,ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

นายแพทย์โสภณ บอกว่า ดูจากผลการศึกษาวิจัย วัคซีนน่าจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะคนป่วยโรคเรื้อรัง คนอ้วน คนสูงวัย ฯลฯ

“ทั่วโลกจะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน และคนที่มีความเสี่ยง ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง รวมถึงคนในพื้นที่เสี่ยงอย่างสมุทรสาคร และพื้นที่สีแดงที่มีคนติดเชื้อเยอะ มีคนบอกว่าถ้าจะให้ได้ผลดีต้องให้กลุ่มเสี่ยงมากที่สุด”

วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค

เหมือนเช่นที่กล่าวมา ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่า วัคซีนโควิดช่วยลดการติดเชื้อ หรือมีผลสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ลดความรุนแรงของโรคได้ คุณหมอยศ บอกว่า ข้อมูลงานวิจัยไม่ได้ตอบคำถามอย่างที่สังคมคาดหวัง ต้องรอผลการศึกษาระยะยาว เพราะบริษัทที่ผลิตวัคซีนก็อยากให้วัคซีนออกมาเร็วที่สุด

“ง่ายที่สุดคือ ต้องติดตามคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วว่า มีการติดเชื้อหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลว่าลดการติดเชื้อหรือไม่ ตอนนี้มี 3 บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลคือ Astra Zeneca ,Moderna ,Pfizer

ทางเราก็ทำวิจัยกับนักวิจัยที่อ๊อกซฟอร์ด การประเมินเทคโนโลยี พบว่า วัคซีนมีผลป้องกันการติดเชื้อแค่ร้อยละ 5 ก็น่าจะมีประโยชน์ในกลุ่มติดเชื้อเยอะๆ อย่างแรงงานข้ามชาติ หรือวัยทำงาน แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ คงต้องรอ 

อย่างตอนนี้อิสราเอลฉีดให้ประชากรประมาณ 40 % น่าจะมีข้อมูลเรื่องนี้ว่ามีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อหรือไม่ ถ้ามีข้อมูลตรงนี้จะมีผลต่อการวางแผนการจัดการวัคซีน วัคซีนที่ไทยจองไปแล้ว Astra Zeneca และSinovac ถ้ามีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ด้วย ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาวัคซีนตัวอื่น

ผมไม่เชื่อว่าวัคซีนตัวเดียวจะแก้ปัญหาได้ทุกกลุ่ม ถ้าวัคซีนที่ประชาชนได้ไม่สามารถลดการติดเชื้อได้ แต่ลดความรุนแรงของโรคได้ก็ควรฉีดให้กลุ่มผู้ป่วยหนัก ส่วนวัคซีนที่เรายังไม่ได้สั่งเข้ามา แต่มีข้อมูลว่า ลดการติดเชื้อได้ ก็อาจจะนำเข้ามา”

อีกเรื่องที่คุณหมอยศห่วงมากที่สุดคือ ความเข้าใจเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีน จนเป็นที่มาของข่าวเรื่อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้คนต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไทยโดยไม่กักตัว

“ในฐานะนักวิชาการ ผมกังวล นั่นหมายถึงยังไม่มีการพูดคุยกันชัดเจนว่าวัคซีนโควิดที่ฉีดให้คนทั้งโลกป้องกันการติดเชื้อได้จริง แต่ทางผู้บริหารททท. กำหนดนโยบายออกมา แสดงว่ามั่นใจว่าป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อได้ แต่ถ้าวัคซีนช่วยได้แค่ลดความรุนแรงของโรค ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ก็ไม่สามารถออกนโยบายแบบนั้นได้”

ไม่ต่างจากวัคซีนพาสปอร์ต ที่มีแนวทางว่า ใครฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไทยได้ คุณหมอยศ อธิบายเพิ่มว่า ถ้าคนต่างชาติฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่ขึ้นทะเบียนคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)บ้านเรา จะรับพวกเขาไว้ในประเทศไหม จะรู้ได้ยังไงว่าเอกสารที่ยืนยันว่าฉีดครบตามจำนวนเข็มที่ต้องการ หรือฉีดแล้วอยู่ในระยะเวลาที่เรายอมรับได้ จะเป็นไปตามเอกสารระบุไหม ต้องตกลงให้ชัด"

161199451830

มีเงินก็ซื้อวัคซีนไม่ได้

อีกข้อสงสัยที่หลายคนคิดว่า ใครมีเงินก็สามารถซื้อวัคซีนโควิดได้ก่อน คุณหมอโสภณ บอกว่า มีโรงพยาบาลเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดต่อมาว่ามีงบประมาณซื้อวัคซีนเองได้

 “หน่วยงานปกครองท้องถิ่นก็มาคุยว่ามีล้านกว่าคนจะซื้อ แต่ตอนนี้จะเอาวัคซีนที่ไหน ปัญหาคือ ยังหาวัคซีนไม่ได้ มีความต้องการเยอะ เงินไม่ใช่ปัญหา และนโยบายรัฐฉีดให้ประชาชนฟรีทุกคน ถ้าวัคซีนมาถึงเมืองไทยก็ต้องขึ้นทะเบียน แล้วโรงพยาบาลเอกชนจะซื้อวัคซีนที่ไหน และประเทศเรายิ่งได้วัคซีนเร็วยิ่งดี ส่วนใครไม่แน่ใจว่าจะฉีดแบบไหนก็รอเวลาที่เหมาะสม”

ทางด้าน คุณหมอยศ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า วัคซีนต้นปี 2564 มีไม่พอ แต่ปลายปีอาจล้นตลาด  เนื่องจากปีนี้ปีเดียว Astra Zeneca ,Moderna ,Pfizer มีกำลังผลิตสำหรับ 6 พันล้านคน แล้วมีวัคซีนอินเดีย รัสเซีย ออกมาอีก รวมถึงวัคซีนของจอห์สันแอนด์จอห์นสันฉีดเข็มเดียวได้ ถ้ารวมสี่ห้าตัว ประเทศเราจะมีวัคซีนเกินพอดี

"อังกฤษฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ฉีดให้ประชากรได้ไม่ถึง 10 ล้านคน และไวรัสโควิดยังระบาดหนัก ประเทศไทยเองมีลักษณะเฉพาะ ยากที่จะเปรียบเทียบกับประเทศเริ่มฉีดวัคซีนแล้วในยุโรป หรือสิงคโปร์

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า สามารถฉีดวัคซีนมากกว่าหนึ่งชนิดของผู้ผลิตได้ไหม คุณหมอยศ บอกว่า ฉีดวัคซีนตัวเดียวก็สร้างภูมิต้านทานได้ แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่ก็มีผลข้างเคียงได้ ถ้าฉีดวัคซีนมากกว่าหนึ่งตัวหรือหนึ่งบริษัท อาจมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์

“ถ้าถึงเวลาฉีดว้คซีน ถ้ามีคนฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต อย่าเพิ่งเหมารวมว่าเกิดจากวัคซีน บางทีคนๆ นั้นอาจเป็นคนสูงอายุที่กำลังจะเสียชีวิตก็เป็นได้ แล้วแชร์ข้อมูลออกไปกันโดยไม่ดูความจริง และอนาคตอันใกล้ ทุกประเทศอยากเห็นความร่วมมือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข

“ในอาเซียนสิบกว่าประเทศ มีแผนจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคที่ดูแลเกี่ยวกับโรคติดต่อ เพราะคนเรียนรู้มากขึ้นว่า ไม่มีประเทศเดียวที่อยู่รอดได้  และเมื่อไม่นานมีการคุยกัน 6-7 ประเทศ เรื่องแผนหลังจากบริหารจัดการเมื่อมีวัคซีนใช้แล้ว"

"""""""""""""""""""""""""""

สรุปงานวิชาการเรื่องการจัดการวัคซีน (29 มกราคม 2664)  

(จากเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว) 

1. วัคซีนโควิด ไม่ใช่มาตรการที่จะหยุดยั้งโรคได้ทั้งหมด ยังต้องใช้การรักษาสุขอนามัย กินร้อน ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เพื่อจะช่วยการยับยั้งโรค

2. การศึกษาเรื่องโรคโควิดและวัคซีนโควิด มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีชุดความจริงอันใหม่ที่มีหลักฐานมากกว่ามาเปลี่ยนแปลงความรู้เดิมได้เสมอ และปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมากด้วย คงต้องติดตามข่าวที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบันที่สุด

3. ณ เวลาปัจจุบัน ผลของวัคซีนโควิดคือ “ลดความรุนแรงของโรค” ส่วนเรื่องลดการแพร่กระจาย เรื่องลดการติดเชื้อ หรือผลการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะมาอ้างประสิทธิภาพเหล่านั้น ยังต้องรอผลการศึกษาที่ทำอยู่ในระยะยาว และการศึกษาใหม่ที่ออกมาโดยตรง

4. จากผลการศึกษาหลักคือ ความรุนแรงของโรค ดังนั้นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ควรจะได้รับวัคซีนคือ คนที่เป็นโรคแล้วจะรุนแรง คือ ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ผู้ที่น้ำหนักตัวมากเกินกำหนด และเมื่อกลุ่มคนที่กล่าวมาได้วัคซีนเพียงพอแล้ว จึงกระจายไปสู่บุคคลกลุ่มอื่นต่อไป

161199105015

5. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อน เพราะต้องดูแลคนกลุ่มเสี่ยงสูง และเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่มไป หากบุคลากรป่วยและติดต่อกันจำนวนมาก (ลองคิดดูว่า คนที่รักษาเราก็ป่วย มันคงไม่ค่อยดีเท่าไร)

6. ถามว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่ระบาด หรือลดการแพร่กระจายจากคนนั้น จริงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่อง ลดการแพร่กระจายหรือลดการติดเชื้อ ดังนั้นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดยังคงต้องติดตามต่อไป หรือแม้แต่ vaccine passport ก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะมันไม่ได้ยืนยันว่าคนที่ฉีดจะไม่แพร่เชื้อหรือไม่ติดเชื้อ แต่ช่วยไม่ให้ติดเชื้อแล้วอาการหนัก

7. การฉีดวัคซีนโดยภาพรวมให้ถึงเป้าหมาย นอกเหนือจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านเศรษฐกิจและสังคม ว่าอย่างน้อย เราก็มีมาตรการป้องกันโรคที่ดีพอ ที่จะทำให้ประเทศกลับมาเหมือนเดิมได้ เราจะดำเนินการฟื้นฟูประเทศอย่างมั่นใจมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายให้ #วัคซีนฟรี# กับประชาชน ตามลำดับความจำเป็นและข้อมูลทางวิชาการ

8. ตอนนี้ให้ใช้วัคซีนตามข้อมูลที่ศึกษาและข้อบ่งชี้ ยังไม่มีข้อมูลว่า ฉีดวัคซีนรวมกันจากหลายบริษัท หรือฉีดปนกันต่างบริษัท หรือฉีดเร็วกว่า ฉีดช้ากว่า จะดีหรือไม่ดีกว่ากัน ทั้งหมดเป็นการประยุกต์แนวคิดที่น่าสนใจ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนการประยุกต์ต่าง ๆ จึงแนะนำให้ใช้ตามหลักฐานปัจจุบันก่อน และยังไม่แนะนำให้ใช้นอกเหนือข้อบ่งชี้เพราะตอนนี้วัคซีนยังไม่เพียงพอ

9. ในอนาคตจะมีวัคซีนเพียงพอ (หรืออาจล้นตลาดได้) ด้วยกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทที่ได้รับการอนุมัตินั้น ถือว่าภายในหนึ่งปีนี้น่าจะเพียงพอ และยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังจะผลิตเพิ่ม รวมทั้งต้องคิดต่อเนื่องเรื่องการกลายพันธุ์หรือการกระตุ้น เข็มสามเข็มสี่ต่อไปด้วย ดังนั้นกำลังการผลิตกำลังเดินหน้าเต็มพิกัด

10. ความปลอดภัยของวัคซีนและประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ วัคซีนก็ใหม่ เราคงไม่สามารถรอให้เกิดคำว่า ปลอดภัย “100%” ได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ และเราอาจแย่จากตัวโรคไปก่อน แค่เราพิสูจน์ว่าประโยชน์มากกว่าผลเสียอย่างชัดเจน และพอจัดการผลเสียนั้นได้ ก็เพียงพอในการนำวัคซีนมาจัดการในทางสาธารณสุข และช่วยสร้างความเชื่อมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจ

11. สำหรับเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน จะเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นเพราะปริมาณการฉีดมากแล้ว ในปัจจุบันพบอันตรายถึงแก่ชีวิตในผู้ที่รับวัคซีน แต่ตอนนี้เท่าที่สืบสวนพบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัววัคซีน อาจจะเคยติดเชื้อมาก่อน หรือมีโรคร่วมอื่น ที่ทำให้เสียชีวิต

** ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ไม่เท่ากับ เสียชีวิตจากวัคซีน** ต้องมาพิสูจน์เสมอว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แม้แต่วัคซีนที่เรากำลังจะฉีดในอีกไม่กี่เดือน ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งไปโทษวัคซีน ต้องพิสูจน์ก่อนเสมอ

12. สำหรับเรื่องประสิทธิภาพโดยรวม การลดการติดเชื้อในระดับชุมชนหรือประเทศ ต้องรอเก็บข้อมูลในไทยหลังรับวัคซีน ข้อมูลประเทศต่าง ๆ ที่มีนั่น เขามีบริบทที่ต่างจากเรา และหากเราไปดูข้อมูลประเทศที่ฉีดไปแล้ว ส่วนใหญ่บริบทก็ต่างจากเรามาก หรือประเทศบริบทใกล้เคียงเราก็ยังรับวัคซีนน้อยเกินไปกว่าที่จะคำนวณได้ ดังนั้นข้อมูลประเทศอื่น ๆ ใช้ได้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น

.....................

อ่านเพิ่มเติมเรื่องวัคซีนได้ที่

-ถ้าวัคซีนมาถึงแล้ว เลือกแบบไหนดีhttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/916216

-วัคซีนโควิด-19 ก้าวไกลแค่ไหน :   https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/917216

-นักไวรัสวิทยา ไขข้อข้องใจ : โควิด-19 กลายพันธุ์ แบบไหนอันตราย? :https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/914387