‘โควิด-19’กลายพันธุ์...แบบไหนอันตราย ? :ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไขข้อข้องใจ

‘โควิด-19’กลายพันธุ์...แบบไหนอันตราย ? :ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไขข้อข้องใจ

"โควิด-19" ไม่มีทางหายไปจากโลกใบนี้ เหมือนไวรัสซาร์สที่จากไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดแบบไหนจะมีผลต่อมนุษย์ นักไวรัสวิทยาแถวหน้าเมืองไทยตอบทุกคำถามในเรื่องนี้

เมื่อต้นปีพ.ศ.2563 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไขปริศนาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มระบาดในเมืองไทย

ครั้งนี้ นักไวรัสวิทยาแถวหน้าของเมืองไทย ที่ร่ำเรียนปริญญาเอกด้านจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยอลาบามา เบอร์มิงแฮม สหรัฐอเมริกา และศึกษาวิจัยไวรัสโคโรนามานานกว่า 10 ปี ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปีคศ.2009 และอีกหลายเรื่อง รวมถึงเขาและทีมวิจัยกำลังผลิตวัคซีนไวรัสป้องกันโควิด-19 แต่ไม่มีงบประมาณทดลองในมนุษย์ จึงต้องรอรัฐบาลให้การสนับสนุน

 และนี่คือ 10 คำถามกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 กับผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา

160907850833

1. การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเป็นอย่างไร

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV-2 ยังเป็นไวรัสโควิดสายพันธฺุ์เดิม ทำให้คนป่วยเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แพร่กระจายแบบเดิม วิธีป้องกันก็เหมือนเดิม ประเด็นที่หลายคนกลัวคือ คำว่ากลายพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมไวรัส หลายคนเข้าใจว่าไวรัสเปลี่ยนแปลงหน้าตาไปแล้ว ไม่ใช่ครับ แม้ไวรัสโควิดที่อังกฤษและแอฟริกาใต้จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

พันธุกรรมไวรัสโควิดเป็นสาร RNA ไม่ใช่ DNA แบบในมนุษย์หรือสัตว์จะไม่กลายพันธุ์ เซลล์ในร่างกายของมนุษย์ จะแบ่งตัวสร้างอวัยวะไปเรื่อยๆ แต่พันธุกรรมของไวรัส ถ้าเกิดความผิดพลาดแล้ว จะไม่มีการแก้ไข ผิดแล้วผิดเลย โชคดีที่ไวรัสโคโรนามีวิธีการแก้ไขระดับหนึ่ง แต่ไม่ดีเหมือน DNAในร่างกายมนุษย์ ต่างจากไวรัสไข้หวัดใหญ่และไวรัส HIV เปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์มหาศาล

ส่วนไวรัสโคโรนาทุกครั้งที่ติดในคนๆ หนึ่ง มันก็จะสร้างสายพันธุ์ของมันเองหนึ่งตัว ผู้ป่วยแต่ละคนที่ติดเชื้อจะมีสายพันธุ์ไม่เหมือนกันเลย เพราะการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติเกิดขึ้นทุกวัน ส่วนใหญ่คนที่ไม่ได้อยู่ในสายวิทยาศาสตร์จะคิดว่า “การกลายพันธุ์จะทำให้ไวรัสรุนแรงกว่าเดิม เจริญเติบโตและติดต่อง่าย” ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแบบนั้น และยังไม่มีข้อมูลที่สรุปเป็นทางการว่า ไวรัสโควิดในอังกฤษกลายพันธุ์

2. จากคำอธิบายของอาจารย์ การกลายพันธุ์ไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ?

เวลาไวรัสโควิดกลายพันธุ์ มันจะแบ่งตัว ตัวที่ไปต่อไม่ได้ก็กลายเป็นไวรัสพิการ ไม่เจอในธรรมชาติ ตัวที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ดีก็ไปต่อ ไวรัสโควิดสายพันธุ์ G ที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อติดคนแล้ว จะไปต่อได้ดีกว่าสายพันธุ์ไวรัสที่อู่ฮั่น สายพันธุ์ G เป็นสายพันธุ์ที่พบเยอะที่สุดในโลก

สายพันธุ์ G ผ่านเข้าไปในจมูกได้ดี ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย เพราะไวรัสตัวนี้ชอบเซลล์ในจมูกและหลอดลม แต่ไม่ลงปอด  สายพันธุ์ G ยังแบ่งย่อยได้อีก เป็นสายพันธุ์ GH ,GR  ฯลฯ สายพันธุ์ที่แยกย่อยเหล่านี้นักไวรัสวิทยาใช้แค่อ้างอิง
ไวรัสโควิดสายพันธุ์ G ในไทย ก็เหมือนในอเมริกาและอินเดีย แต่ในอังกฤษสายพันธุ์ G มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 6-7 ตำแหน่ง

 

3. ไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษมีการกลายพันธุ์แบบไหน

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่ให้คำปรึกษารัฐบาลอังกฤษ รายงานว่า ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีคนป่วยจากไวรัสโควิดเยอะ พวกเขาจึงเอาเชื้อไวรัสโควิดจากคนป่วยมาถอดรหัสพันธุกรรม พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 6-7 ตำแหน่ง นั่นคือข้อมูลทางระบาดวิทยา โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ไวรัสที่เปลี่ยนแปลง พวกเขาก็เลยรายงานรัฐบาลว่า มีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้คนป่วยเยอะขึ้น

ส่วนในมุมนักไวรัสวิทยา ตั้งคำถามว่า มีการทดสอบสายพันธุ์ล่าสุดกับสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือยัง ถ้าจะทำให้คนเชื่อ ต้องมีคนป่วยสองกลุ่มที่ติดไวรัสโควิดสายพันธุ์อังกฤษกับสายพันธุ์ในอเมริกา ไทย หรืออินเดีย เปรียบเทียบกัน เพราะข่าวที่ออกมาทำให้คนตื่นกลัว 

ทางอังกฤษก็ยอมรับว่า ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรงของการกลายพันธุ์ พวกเขาไปดูที่โรงพยาบาล ปรากฏว่า จำนวนคนป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ต่างจากเดิม แต่ผลการตรวจเลือดผู้ป่วยเป็น Positive เยอะขึ้น

160922601859

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา

4. ทำไมตอนนี้มีกลุ่มคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่แสดงอาการอยู่เยอะ 

บางคนไม่รู้ต้วเพราะไม่มีอาการป่วย การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดที่สมุทรสาคร(เดือนธันวาคม 2563) พบผู้ติดเชื้อ 40% ซึ่งผมฟันธงได้ว่าอีกหนึ่งอาทิตย์จะเจอ 80% เพราะคนที่ตรวจไม่เจอไม่มีการตรวจซ้ำ แล้วสรุปว่าคนกลุ่มนี้ไม่ติดเชื้อ ถ้ารอตรวจใน 7 วันข้างหน้า ผมว่าเชื้อมาแล้ว

เพราะแรงงานกลุ่มนี้อาศัยตามหอพัก หลายคนอยู่ห้องเดียวกัน และการคัดกรองไวรัสโควิดจะต้องยืนต่อแถวยาวมาก เพื่อรอตรวจเชื้อในโพรงจมูก ทำให้คนเหล่านั้นติดเชื้อเยอะ 

ผมเคยถามหมอด้านระบาดวิทยาว่า ต้องตรวจซ้ำไหม ทางศบค.บอกว่า ไม่ต้องตรวจซ้ำ ถ้าผลเลือดเป็นลบให้กักตัว 14 วัน ผมฟันธงว่าติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ เพราะแรงงานกลุ่มนี้อายุไม่มาก สุขภาพแข็งแรง ภูมิคุ้มกันดี

แต่ตามหลักการวิทยาศาสตร์ ถ้าตรวจแล้วไม่พบเชื้อ กักตัว 14 วัน โอเคแล้ว ถ้าตรวจซ้ำแล้วเจอว่าติดเชื้อ เชื้อพวกนั้นไม่น่าไปต่อได้ เพราะร่างกายจัดการเองได้  โอกาสแพร่กระจายน้อย หลักการที่รัฐบาลทำอยู่ ถูกต้องแล้ว

เชื้อไวรัสถูกจำกัดอยู่ตรงนั้นไปต่อไม่ได้ แต่ก็หลุดรอดออกมาแพร่เชื้อให้คนไทย บางคนจึงบอกว่า น่าจะเอาสิงคโปร์โมเดลมาใช้ แต่สมุทรสาครใหญ่กว่าสิงคโปร์ สิงคโปร์ทำได้เพราะประชากรน้อยมีการป้องกันการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ และตอนนี้คนไทยก็ติดเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่เยอะขึ้น แต่ป่วยน้อยลง 

ตอนที่ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ตรวจหาเชื้อแรงงานต่างด้าวสองหมื่นกว่าคน พบผู้ติดเชื้อประมาณ 60-70 % แต่ไม่แสดงอาการ และถ้าผ่านไประยะหนึ่ง หากมีการตรวจเลือดแรงงานต่างด้าวอีกครั้ง ผมมองว่า พวกเขาน่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว

5. อะไรทำให้ไวรัสโควิดสายพันธุ์ G ติดต่อง่าย และแพร่เชื้อเร็ว

ผมดูไทม์ไลน์ของผู้ป่วยหลายคน หลังจากที่พวกเขาไปแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร ตรงนั้นมีคนติดเชื้อเยอะ เมื่อไปรับเชื้อก็ป่วยเร็ว ใช้เวลาสองวัน แสดงว่าระยะฟักตัวของเชื้อสั้นลง ต่างจากไวรัสโควิดช่วงแรกที่เกิดในเมืองไทยใช้เวลาฟักตัว 5 วัน เรื่องที่ผมพูดตอนนี้ยังอยู่ในระดับการสมมติฐานข้อมูล  ยังตอบได้ไม่ชัด

และส่วนใหญ่อาการป่วยจากไวรัสโควิดไม่มาก มีไข้ ไอ แสบคอ เจ็บคอ ยังไม่มีใครอาการหนักเข้าโรงพยาบาล ถ้าไวรัสโควิดตัวนี้อยู่แค่จมูก และหลอดลม จะเหมือนไข้หวัดใหญ่กระจายได้ง่ายไว แต่ไม่ลงไปที่ปอด นี่คือพฤติกรรมไวรัสโควิดที่เปลี่ยนแปลง ต่างจากไวรัสโควิดช่วงแรกในไทยที่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุ ติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันไม่ดี จึงป่วยหนัก

160907867529

6. ปัจจุบันมีไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหนรุนแรงเป็นพิเศษไหม

คนจะเข้าใจว่าไวรัสเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะทำให้รุนแรงมากขึ้น มีหลายงานวิจัยในช่วงหนึ่่งปี ที่ผมฟันธงได้เลยว่า ยังไม่มีไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหนรุนแรงมากขึ้น มันไม่ได้กลายพันธุ์ในลักษณะนั้น แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในโลกยอมรับคือ ไวรัสโควิดติดง่าย ป่วยเร็ว ศึกษาจากผู้ป่วยเป็นหมื่นๆ คน หรือสัตว์ทดลอง 

และแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อไวรัสไม่เหมือนกัน หากเชื้อไวรัสตัวเดียวกันติดในเด็กและคนแก่ เด็กอาจไม่ป่วยเลย แต่คนแก่ป่วยหนัก ส่วนคนมีโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ทางเดินหายใจ ไวรัสเป็นตัวปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรงมากขึ้น

การป้องกันตัวเองจากไวรัสโควิดที่ติดง่ายๆ ก็ใช้แบบดั้งเดิม คือใส่หน้ากากไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์เข้ามาหาเรา ใช้ได้เสมอ นอกจากนี้ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ทำร่างกายให้แข็งแรง เราก็จะได้วัคซีนธรรมชาติ

7. หากมีการกลายพันธุ์ วัคซีนที่คิดค้นมาล่าสุด จะใช้ได้ผลไหม

ตอนนี้(เดือนธันวาคม 2563) ที่อเมริกาและอังกฤษ เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว แม้คนเหล่านั้นจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ไวรัสโควิดจะไม่สูญพันธุ์ง่ายๆ มันไม่ยอมอยู่นิ่งๆ จะเปลี่ยนตัวเองไปเรื่อยๆ ก็คือ การกลายพันธุ์ที่แท้จริง

สิ่งที่ผมกังวลคือ ถ้าประเทศไทยได้รับวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น หากไวรัสโควิดกลายพันธุ์ไปแล้ว ถ้าเรายังใช้วัคซีนตัวเดิม ภูมิคุ้มกันที่เราสร้างขึ้นจะจัดการกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปได้ไม่เต็มที่

ไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี องค์การอนามัยโลกบอกว่า ทุกประเทศทั่วโลกต้องใช้วัคซีนตัวเดียวกัน ถ้าเราใช้วัคซีนสองปีก่อน จะป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ไม่เต็มที่ 

เพราะฉะนั้น ถ้าแถบอังกฤษ อเมริกา เริ่มฉีดวัคซีนแล้ว ไวรัสโควิดแถบนั้นไม่ได้หายไปจากประเทศเขา แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองตามธรรมชาติ และต่อไปสายพันธุ์ไวรัสจะไม่เหมือนในไทย ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ได้

ถ้าตอนนี้คนในประเทศเรา ยังไม่ได้รับวัคซีน สายพันธุ์ไวรัสโควิดในไทยก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ไม่ต้องกังวล วัคซีนที่เราจะได้รับ แม้จะช้ากว่าประเทศอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ผล 

หากการใช้วัคซีนในคนอเมริกันได้ผล 90 % เมื่อเอามาฉีดให้คนไทย ผลที่ได้อาจเหลือ 50-60 เปอร์เซ็นต์ยังป้องกันไวรัสได้ เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดทุกปี แต่คาดหวังไม่ได้ว่าฉีดวัคซีนแล้วทุกคนจะไม่ติดโควิดเลย เป็นความคาดหวังที่สูงไป

8. ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร

ถ้าช่วง 1-2 ปีคนทั้งโลกได้รับวัคซีนแล้ว ตอนนั้นองค์การอนามัยโลกสามารถมอนิเตอร์ได้ว่า การทำวัคซีนจะต้องใช้ไวรัสโควิดแบบไหนเป็นสายพันธุ์หลัก ถ้าถึงตอนนั้นวัคซีนบริษัทต่างๆ ก็จะผลิตออกมาเพื่อควบคุมไวรัสโควิดได้

ผมคาดคะเนว่า คงใช้เวลาสักห้าปีที่คนทั้งโลกจะได้รับวัคซีนเหมือนกัน คนไทยเองตอนนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์จากพม่ากลับมาแพร่ในไทย ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าประเทศแถบเอเชียได้รับวัคซีนเหมือนกันก็จะเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่

มีข้อมูลที่ค่อนข้างชัดว่า ไวรัสตัวนี้จะอยู่กับคนที่ไม่ป่วยเยอะ ถ้ามันอยู่กับคนป่วยหนักก็ตายตามคนป่วยไป สายพันธุ์นั้นๆ จะไม่มีโอกาสแพร่กระจายต่อ คนแก่และคนป่วยคือกลุ่มเสี่ยงต้องได้รับวัคซีนก่อนคนทั่วไป

160907878098

9. ไวรัสโควิด มีโอกาสหายไปจากโลกเหมือนไวรัสซาร์สไหม

ตอนไวรัสซาร์สระบาดมีคนติดเชื้อน้อย แค่พันกว่าคน เรารู้ว่ามันมาจากชะมด ก็ป้องกันไม่ให้คนคลุกคลีกับชะมด ตอนนั้นแม้จะอยู่ในสภาวะที่รุนแรง แต่คนป่วยไม่เยอะ ก็สามารถทำให้หายไปจากโลกนี้ได้ ส่วนไวรัสโควิดจะทำให้หายจากโลกนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะคนติดไวรัสโควิดไม่ป่วยมีจำนวนเยอะมาก  

      

10. ตอนนี้นักวิจัยไทยสองสามกลุ่มพยายามทำวัคซีนออกมา กลุ่มสวทช.พัฒนาไปไกลแค่ไหน

ในเรื่องวัคซีน เราก็ทำได้เหมือนชาติอื่น เราค่อนข้างภูมิใจ ผลการทดลองในหนูของนักวิจัยกลุ่มเรา อาจดีกว่าผลงานที่นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งรายงานไว้   เราก็หวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้นักวิจัยไทยผลิตวัคซีนในเฟสต่อไป ผมรอทดสอบในมนุษย์ ต้องใช้เงินเยอะ ผมก็รอข่าวดี ผมอยากให้คนไทยปลอดภัยมีวัคซีนที่นักวิจัยไทยผลิต และอยากให้คนไทยเห็นว่า นักวิจัยไทยก็ไม่แพ้ใครในโลก เพราะทีมวิจัยของเราก็จบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก