ถ้า'วัคซีนโควิด-19' มาถึงแล้ว เลือกแบบไหนดี ?  

ถ้า'วัคซีนโควิด-19' มาถึงแล้ว  เลือกแบบไหนดี ?   

ตัดสินใจหรือยังว่า ถ้า"วัคซีน"ป้องกันไวรัส"โควิด-19" มาถึงเมืองไทย จะเลือกฉีดหรือไม่ฉีด,แต่ละบริษัทที่ผลิตออกมาป้องกันได้นานแค่ไหน เรื่องนี้ 'ผศ.ดร. วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย' หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) มีคำตอบ

เป็นข่าวดีที่วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เริ่มมีการใช้ในมนุษย์แล้ว จากผู้ผลิตหลายบริษัท อาทิ Astra Zeneca ,Moderna ,Pfizer, Sinovac และSputnik ฯลฯ และประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละบริษัท ระยะเวลาการคุ้มครอง ก็มีข่าวสารออกมาอยู่เรื่อยๆ ถ้าอย่างนั้นมาทำความเข้าใจอีกมุม

“ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ส่วนใหญ่การพัฒนาวัคซีนจะนานกว่า 1 ปี กรณีวัคซีนโควิด-19 โชคดีมากที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้เร็ว ถือเป็นปาฏิหาริย์ที่สำเร็จ แต่วัคซีนที่มีทั้งหมดสร้างจากเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่เคยมีวัคซีนตัวไหนในโลกสร้างด้วยเทคโนโลยีนี้ จึงมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย” ผศ.ดร. วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าว

และอีก  9 คำถามที่ช่วยทำให้เข้าใจเรื่องวัคซีนมากขึ้น ...

161007973819

1.วัคซีนที่ดีควรเป็นอย่างไร

ตอนนี้อาวุธที่ดีที่สุดคือ หาความรู้ ข่าวเกี่ยวกับวัคซีนมีมากมาย (ต้นมกราคมปีพ.ศ.2564) ประชาชนอาจจะตัดสินใจตามข่าว แต่ต้องเข้าใจถึงรายละเอียดของวัคซีนด้วย วัคซีนมีผลได้ 3 แบบคือ 1 ลดการติดเชื้อ 2 ลดการแพร่เชื้อเมื่อป่วย 3 ลดความรุนแรงเมื่อป่วย

ซึ่งข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนทุกบริษัทในตอนนี้ ยังไม่แยกกัน ยังรวมกันหมด และผลวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ใช่ตัวแปรตัวเดียว ยังมีคุณลักษณะอื่นๆ ด้วย

แบบจำลองงานวิจัยที่ทำออกมา พบว่า หากวัคซีนสามารถลดการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้เยอะ แต่ถ้าวัคซีนมีผลเพียงลดความรุนแรงเมื่อป่วย จะไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ และพบว่า ถ้ามีการฉีดวัคซีนให้คนวัยทำงานเทียบกับฉีดให้ผู้สูงอายุ ฉีดให้วัยทำงานจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้มากกว่า

อีกอย่างคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีประกาศไว้ว่า วัคซีนที่ดีต้องมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และวัคซีนที่จะช่วยในการป้องกันโรคได้ คือระยะเวลาที่ทำให้เกิดภูมิต้านทาน

2.ประสิทธิภาพวัคซีนโควิดควรเป็นอย่างไร

หากวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันได้ 70 เปอร์เซ็นต์ และมีผลนาน 1 ปี จะป้องกันโรคได้ดีกว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 90 เปอร์เซ็นต์แต่มีผลนานครึ่งปี 

และตอนนี้ข้อมูลของวัคซีนทุกตัวที่มี ยังอยู่ระหว่างการทดลองใช้ในมนุษย์ ซึ่งระยะเวลายังไม่นานพอ จึงบอกไม่ได้ว่าวัคซีนแบบไหนมีผลป้องกันได้นานแค่ไหน  

แล้วงานวิจัยที่ทำวัคซีนโควิด ยังไม่สามารถติดตามผลคนภายใน 1 ปี แล้วจะให้บอกว่า สามารถป้องกันได้หนึ่งปี คงพูดไม่ได้

3.การเลือกบริษัทที่ผลิตวัคซีน มีผลต่อการป้องกันมากน้อยเพียงใด

 ภญ.เบญจรินทร์ สันตติวงศ์ไชย หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรเดียวกัน ให้ข้อมูล : เมื่อเร็วๆ นี้เราทำแบบสอบถาม 2,000 กว่าคน หนึ่งในคำถามคือ ระหว่างวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 70 เปอร์เซ็นต์ และ 90 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกฉีดวัคซีนแบบไหน ปรากฎว่า มีแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ไม่อยากฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ขอฉีดวัคซีน

ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแบบไหน หรือบริษัทที่ผลิต Pfizer,Moderna,Astra Zenaca ฯลฯ  ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่หมด เพราะไม่เคยสร้างวัคซีนโควิดในโลกนี้เลย บางทีการที่เราได้วัคซีนช้ากว่าในอเมริกาหรืออังกฤษ อาจเป็นผลดีในแง่ได้รอดูผล และเมื่อถึงตอนนั้นก็จะมีข้อมูลมากขึ้น

4.มีคนจำนวนหนึ่งไม่มั่นใจในวัคซีน ในฐานะนักวิจัยจะให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างไร

อันที่จริงวัคซีนตัวหนึ่งต้องฉีด 2 โดสภายใน 28 วัน แต่ที่อังกฤษสถานการณ์หนักมาก จึงใช้วิธีการที่เรียกกันว่า first shot มีการให้วัคซีน 1 โดสกับประชาชนจำนวนมากที่สุดก่อน แล้วจึงฉีดโดสที่สองภายหลังคืออาจจะนานกว่า 2 เดือน กรณีนี้มีการถกเถียงว่าผลกระทบจะเป็นยังไง

ในอเมริกาจะไม่ทำแบบนั้น จะใช้วิธีที่เรียกว่า set aside คือ ใครที่ฉีดโดสแรกแล้ว จะมีการกันวัคซีนโดสที่สองไว้ให้คนคนนั้นได้รับภายใน 28 วัน หมายความว่าจำนวนคนที่จะได้วัคซีนจะเพิ่มขึ้นช้ากว่า แต่ตอนนี้ยากจะตัดสินว่า วิธีใดถูกหรือผิด ทุกวิธีมีทั้งข้อดีข้อเสีย

161007987538

(ผศ.ดร. วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย )

5.ถ้าในประเทศเรา มีทั้งคนฉีดวัคซีนแล้วและไม่ได้ฉีด ต้องปริมาณเท่าไรจึงจะมีภูมิคุ้มกันหมู่

มีคอนเซ็ปที่เรียกกันว่า herd immunity จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนฉีด ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งฉีดมากพอ คือ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เราจะสามารถคุมโรคทั้งหมดได้ ประเทศเรายังโชคดีที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่เยอะ และคนไทยก็ให้ความร่วมมือ ขณะที่ในหลายประเทศเสียชีวิตวันละหลายพัน

6.ถ้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้ว แล้วคนไทยยังมีภูมิคุ้มกันไม่มากพอ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร

การเปิดประเทศ ทั้งๆ ที่คนไทยยังฉีดวัคซีนไม่ครบเป็นเรื่องคาดการณ์ได้ยากมากว่า จะเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวแปรเยอะ การเปิดหรือไม่เปิดประเทศยังเป็นข้อถกเถียงว่า เศรษฐกิจกระทบหนักเป็นผลมาจากไวรัสโควิดหรือมาจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลงอยู่แล้ว

ผลทางเศรษฐกิจจากมาตรการต่างๆ มีการศึกษาดูจากความผันผวนของตลาดหุ้นพบว่า ปิดประเทศกับเว้นระยะห่าง มีผลกระทบสูงสุด 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี กระทบ1.7 แสนล้าน ถึง 4.5 แสนล้านใน 1 ปี

กรณีการระบาดที่ผ่านมา ปีที่แล้วช่วงเดือนมีนาคม– พฤษภาคมระบาดหนัก ช่วงมิถุนายน-สิงหาคม เริ่มควบคุมได้มากขึ้น เขาเรียกว่าการควบคุมแบบ hammer and dance เหมือนเกมตัวตุ่นที่มีตัวอะไรโผล่มาแล้ว ต้องทุบมันให้ทัน ถ้าทุบได้ ก็ควบคุมได้

7.ทำไมวัคซีนที่ฉีดไม่ใช่ได้ผลเต็มร้อย

คนที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ยังมีโอกาสป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ ดังนั้นการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างยังคงช่วยได้ และทุกคนมองว่า วัคซีนคือจุดเริ่มต้นของจุดจบ จริงๆ ตอนนี้แค่เป็นจุดจบของจุดเริ่มต้น ยังอีกยาวไกล ที่จะมีเซอร์ไพรส์รออยู่

8.การจัดการวัคซีน เรื่องไหนน่าเป็นห่วงมากที่สุด

อย่ามองว่าวัคซีนเป็นคำตอบเดียว ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงตอนนี้ หลายฝ่ายที่พยายามหาทางออก ต่างพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า combination of intervention คือ เอาหลายๆ มาตรการมารวมกัน ไม่ใช่มาตรการเดียวได้ผล แม้จะได้วัคซีนแล้ว เราก็ยังต้องรักษามาตรการทางสังคมต่อไป

การใส่แมส ล้างมือ เว้นระยะห่าง หรือเรียกรวมว่า social vaccine หรือวัคซีนทางสังคม สามารถช่วยได้ แม้มีวัคซีนแล้วก็ยังต้องคงมาตรการเหล่านี้ไว้ เพราะบางกลุ่มยังไม่ได้รับวัคซีน มีข้อมูลพบว่าวัคซีนเพียงอย่างเดียวสามารถช่วยลดการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ 40 เปอร์เซ็นต์

161008003434

9.จะมีการประเมินติดตามผลหลังจากฉีดวัคซีนไหม

บางประเทศคนที่ได้วัคซีนแล้ว เริ่มทำเรื่องน้แล้ว จะมีการใช้เทคโนโลยีและแอพฯติดตามผลกระทบหลังฉีดวัคซีน พวกเราเองก็อยากรู้ว่า หลังจากคนไทยได้วัคซีนแล้วจะติดตามประเมินผลอย่างไร เรากำลังอยู่ระหว่างขอทุนวิจัย เพื่อทำการสำรวจทั่วประเทศในเรื่องนี้