‘Jamaica Blue Mountain’ บนเส้นทางสายอนาคต!

‘Jamaica Blue Mountain’ บนเส้นทางสายอนาคต!

เกาะสถานการณ์กาแฟ “Jamaica Blue Mountain” จากวันที่รุ่งโรจน์สู่วันที่ร่วงโรย และแผนการพลิกฟื้นให้กลับมายืนแถวหน้าของวงการกาแฟโลกอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา "จาไมก้า"ประเทศเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยสีสันและเสน่ห์ที่มีชีวิตชีวาในทะเลแคริบเบียน ได้จัดงานประจำปีขึ้น มีชื่อว่า "Jamaica Blue Mountain Day" หรือ วันกาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น ผ่านทางความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกาแฟในประเทศกับสมาคมผู้ส่งออกกาแฟจาไมก้า (JCEA) ซึ่งงานนี้ นอกจากจาไมก้าแล้วยังจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นอีกด้วย

วัตถุประสงค์หลักๆ ของการจัดงานนี้ก็คือ ต้องการเพิ่มปริมาณการบริโภคกาแฟภายในประเทศ และส่งเสริมธุรกิจทัวร์ไร่กาแฟของเกาะ ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ

วัน “กาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น” ในปีนี้นั้นจัดขึ้นเป็นที่ 3 ติดต่อกันแล้ว เป้าหมายแรกๆของการจัดงาน มุ่งเน้นความสำคัญไปในเรื่องการเฉลิมฉลองให้กับกาแฟ จาไมก้า บลู เม้าเท่น หนึ่งในสายพันธุ์กาแฟที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและว่ากันว่ามีรสชาติดีที่สุดของโลก ทั้งยังเป็นสินค้าที่สามารถดึงดูดเงินตราต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น

แต่...ในปีค.ศ. 2021 ไฮไลท์ของงานจำต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นั่นคือ เร่งเพิ่มช่องทางการขายให้ได้มากยิ่งขึ้น!

161197188197 โปสเตอร์งานวันกาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น ประจำปี 2021 / ภาพ : twitter.com/TEFJamaica

นับจากเกิดระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจส่งออกกาแฟจาไมก้า สะท้อนจากตัวเลขกาแฟ “จาไมก้า บลู เม้าเท่น” ที่ยังมี “ค้างสต๊อก” ในปัจจุบันอยู่ราว 350,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กาแฟดังระดับโลกตัวนี้ที่ได้รับการขนานนามว่า "แชมเปญแห่งโลกกาแฟ" มักถูกจับจองแทบจะหมดเกลี้ยงในแต่ละปีจากบริษัทกาแฟญี่ปุ่น ตามด้วยสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งล้วนล้วนแต่เป็นตลาดผู้บริโภคกาแฟขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น

ข้อดีมากๆ ของการมีตลาดใหญ่รองรับอยู่แล้วก็คือ ผลิตมากเท่าไร ผู้ซื้อก็เหมาหมดเท่านั้น เรียกว่าแทบจะผูกขาดกันไป แต่มันก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เช่น ไม่ว่าจะด้วยจากเหตุผลใดก็ตาม หากผู้ซื้อเกิด "ลด" หรือ "เลิก" ซื้อขึ้นมา ความต่อเนื่องมาเนิ่นนานก็จะเกิดอาการ "สะดุด" ลง ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่สามารถหาช่องทางระบายสินค้าที่เหลืออยู่ได้ทันในเวลาอันรวดเร็ว

สถานการณ์การส่งออก “กาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น” ณ ปัจจุบัน ก็ไม่ต่างไปจากภาวะนี้มากน้อยเท่าใดนัก

ครั้นจะไปพึ่งพาตลาดภายในประเทศเพื่อรองรับหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ในจาไมก้า... เป็นเรื่องยากลำบากทีเดียว เนื่องจากความที่กาแฟบลู เม้าเท่น หรือที่ชื่อภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "Jablum" มีราคาสูง คอกาแฟท้องถิ่นส่วนใหญ่เอื้อมไม่ถึง จึงหันไปนิยมดื่มกาแฟผงสำเร็จรูปกันเป็นทิวแถว

ปัจจุบัน จาไมก้าเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟในอันดับที่ 45 ของโลก มีกำลังการผลิตต่อปีจัดว่าน้อยมาก อยู่ที่ราว 21,000 กระสอบ  หรือราว 1.26 ล้านกิโลกรัม (คำนวณกาแฟกระสอบหนึ่งมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม) จะเห็นว่าตัวเลขกาแฟที่ค้างสต๊อกอยู่ 350,000 กิโลกรัม ถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ในจำนวนนี้รวมไปถึงกาแฟตัวรองลงมาอันได้แก่ "จาไมก้า ไฮ เม้าเท่น" ด้วย

ตามกติกานั้น กาแฟที่ปลูกในระดับความสูงระหว่าง 910 - 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในเขตที่กำหนดไว้ จึงเรียกว่า "จาไมก้า บลู เม้าเท่น"  ถ้าปลูกในระดับความสูง  460 - 910 เมตร เรียกว่า "จาไมก้า ไฮ เม้าเท่น"

รัฐบาลจาไมก้ากำหนดกฎกติกาหลักสำหรับการใช้ชื่อ “กาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น” ไว้ดังนี้ ต้องปลูกในระดับความสูงไม่เกิน 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในขอบเขตปริมณฑลของเมืองพอร์ตแลนด์,เซนต์ แอนดรูว์ ,เซนต์ แมรี่ และเซนต์ โธมัส มีพื้นที่ปลูกภายในเขตควบคุมประมาณ 37,500 ไร่

161197193234

เทือกเขาบลู เม้าเท่น หนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟชั้นเลิศของโลก / ภาพ : Yves Alarie on Unsplash

ผลพวงประการหนึ่งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็คือ คอกาแฟเข้าไปนั่งดื่มตามร้านรวงคาเฟ่น้อยลง หันมาชงดื่มกันตามบ้านหรือตามออฟฟิศมากขึ้น ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกในปีค.ศ.2020 ที่ผ่านมา  เมื่อการบริโภคหดตัวลง ยอดสั่งซื้อก็พลอยลดลง  ย่อมกระทบกระเทือนไปถึง "แหล่งผลิต" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีข้อมูลระบุชัดๆลงไปว่า กาแฟจากจาไมก้า ได้รับแรงกระทบจาก ตลาดกาแฟแบบพิเศษ (specialty coffee) แต่ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะได้รับผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย เพราะสังเกตจากตัวเลขส่งออกกาแฟโดยรวมของจาไมก้า ปรากฎว่ามียอดตกลงมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 จนถึง ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่กาแฟพิเศษเริ่มมาแรงมากๆ ก่อนจะโดนแรงเหวี่ยงซ้ำเติมจากวิกฤติโควิด-19 ในปีค.ศ. 2020

สารกาแฟ “จาไมก้า บลู เม้าเท่น” เน้นส่งออกไปยังญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก เมื่อถึงมือบรรดาโรงคั่วก็จะทำหน้าที่คั่วเมล็ดกาแฟ ส่วนใหญ่นิยมคั่วระดับเข้ม แล้วจึงส่งไปตามร้านกาแฟทั่วประเทศ หรือบรรจุถุงจำหน่าย แล้วชาวอาทิตย์อุทัยก็นิยมดื่มกาแฟชื่อดังตัวนี้กันมากเสียด้วย

ร้านกาแฟหรือโรงคั่วในต่างประเทศที่อยากมีไว้จำหน่ายให้ลูกค้าในรูปต่างๆ ไม่ว่าจะนำมาบรรจุลงถุงหรือเป็นเมนูพิเศษประจำร้าน ก็มักจะสั่งมาจากญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง

“จาไมก้า บลู เม้าเท่น” เป็นสายพันธุ์กาแฟที่มีถิ่นกำเนิดในเขตเทือกเขาบลู เม้าเท่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น รสชาติอมหวาน บอดีแน่น กลิ่นหอมกลมกล่อม แต่มีความเปรี้ยวโทนเบอร์รี่และความขมน้อย เป็นที่แสวงหาต้องการลองลิ้มชิมรสจากคอกาแฟทั่วโลก  จึงมักถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในกาแฟ "Single origin" ที่มีราคาแพง, หายาก และดีที่สุดในโลก

161197205198

ผลกาแฟสีเขียวยังไม่สุก บนเทือกเขาบลู เม้าเท่น / ภาพ :  Marc Babin on Unsplash

แม้กำลังผลิตมีน้อย แต่ “จาไมก้า บลู เม้าเท่น”  เคยทำยอดส่งออกได้มากถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีค.ศ. 2016 ทว่าในปีที่แล้ว คาดการณ์กันว่าตัวเลขจะตกลงเหลือเพียง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หายไปเยอะเหมือนกัน

เพื่อกอบกู้สถานการณ์... สมาคมผู้ส่งออกกาแฟจาไมก้า จึงได้รับมอบหมายให้เป็น "โต้โผใหม่" เปิด 2 แคมเปญใหม่ หนึ่งนั้นรณรงค์ให้คนจาไมก้าดื่มกาแฟกันมากขึ้นในแต่ละปี บ่มเพาะให้เป็นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ ที่ปัจจุบันมีอัตราดื่มกาแฟกันเพียง 0.25 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เทียบไม่ได้เลยกับบางประเทศที่มีอัตรา 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

อีกหนึ่ง...โฟกัสไปที่ธุรกิจทัวร์ไร่กาแฟสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะขายความเก่าแก่แล้ว ต้องทำให้มีความพิเศษมากขึ้นไปกว่าเดิม ในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวโลกเป็นไปอย่างลำบากยากเย็นยิ่ง

ประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียนล้วนขึ้นชื่อลือชาในเรื่องน้ำทะเลสวยใส หาดทรายขาวสะอาดตา อาหารรสเลิศ จาไมก้าก็เฉกเช่นกัน เต็มไปด้วยสีสันและจุดท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าไปเช็คอินเป็นจำนวนมาก นอกจากเดินป่า เล่นน้ำตก ล่องแก่ง แช่น้ำทะเล ดำน้ำ เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ “บ็อบ มาร์เลย์” ตำนานนักดนตรีเร็กเก้ชาวจาไมกาผู้โด่งดังแล้ว ไร่กาแฟยุคบุกเบิกของที่นี่ก็มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนมิได้ขาด แล้วก็ได้รับความนิยมสูงเสียด้วย ใครๆ ก็อยากไปชิมกาแฟที่มีชื่อเสียงและราคาแพงกันถึงไร่ ไหนๆ ก็ไปถึงแหล่งกันแล้ว…มิใช่หรือ

ไร่กาแฟที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีอยู่หลายแหล่งด้วยกัน เช่น คลิฟตัน เมาท์ ค๊อฟฟี่ เอสเตท (Clifton Mount Coffee Estate), วอลเลนฟอร์ด ค๊อฟฟี่ (Wallenford Coffee), มาวิส แบงก์ ค๊อฟฟี่ แฟคตอรี่ (Mavis Bank Coffee Factory) และยูซีซี เคร็กตัน ค๊อฟฟี่ เอสเตท (UCC Craighton Coffee Estate) โดยเฉพาะรายหลังนี้ เป็นไร่กาแฟที่มีความเก่าแก่เปี่ยมด้วยประวัติความเป็นมา ก่อนที่จะมีการขายไร่และอสังหาริมทรัพย์ไปให้บริษัท "ยูซีซี อูเอะชิม่า คอฟฟี่" แบรนด์กาแฟชั้นนำของญี่ปุ่น เมื่อปีค.ศ.1981

ไร่กาแฟเคร็กตัน ค๊อฟฟี่ เอสเตท ในเมืองเซนต์ แอนดรูว์ อันเป็นย่านเก่าแก่ของชาวไอริชบนเทือกบลู เม้าเท่น นั้น ในเว็บไซต์ของไร่ระบุมีอายุการก่อตั้งมากว่า 200 ปีทีเดียว ตัวบ้านพักสีสมพูอ่อนทรงคลาสสิคที่มีชื่อว่า เกรท เฮ้าส์ (Great House) เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1805 โดยชายผู้เป็นลูกครึ่งสก็อต-อิตาเลี่ยน

กาแฟ “จาไมก้า บลู เม่าเท่น” ถูกส่งไปยังญี่ปุ่นเป็นล็อตใหญ่ล็อตแรกในวันที่  9 มกราคม ค.ศ. 1967 ...ทว่ากาแฟที่มีชื่อเสียงโด่งดังสายพันธุ์นี้ สืบค้นต้นตอไปนานกว่านั้น ย้อนหลังไปถึงสมัยกษัตริย์ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ทีเดียว

ในปี ค.ศ. 1723 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส ส่งต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า 3 ต้น ไปยังเกาะอาณานิคมที่ชื่อ "มาร์ตีนิก" ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะจาไมก้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 1,900 กิโลเมตร อีก 5 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1728 ผู้ว่าการเกาะจาไมก้า ได้รับของขวัญเป็นกาแฟสายพันธุ์ทิปปิก้า 1 ต้น จากผู้ว่าราชการเกาะมาร์ตีนิก จึงส่งเมล็ดกาแฟไปปลูกยังไร่ที่เมือง เซนต์ แอนดรูว์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงคิงส์ตัน เมืองหลวงจาไมก้า เพื่อทดลองปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ

161197214924

จาไมก้า บลู เม้าเท่น บรรจุถุงขนาด 454 กรัม / ภาพ : Mariordo Mario Roberto Duran Ortiz

จากต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าเพียงไม่กี่ต้น ที่ถูกนำไปปลูกและหล่อเลี้ยงในพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ของจาไมก้า อีกเพียง 9 ปีต่อมา ปรากฏว่า จาไมก้าก็สามารถส่งออกกาแฟได้เป็นครั้งแรก นับจากบัดนั้นอุตสาหกรรมกาแฟท้องถิ่นก็เริ่มต้นขึ้น ภายในหนึ่งทศวรรษ การปลูกกาแฟมีอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนก็ คือ การหลั่งไหลเข้ามาของบรรดาผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ปฏิวัติเฮติ ปี ค.ศ. 1791 ซึ่งมีทั้งเจ้าของไร่กาแฟและแรงงานทาส ที่มาพร้อมกับความเชี่ยวชาญในทุกขั้นตอนการผลิตกาแฟ

กาแฟสายพันธุ์ “ทิปปิก้า” นั้นถูกโฉลกอย่างมากกับสภาพแวดล้อมที่เป็นดินภูเขาไฟอันอุดมสมบูรณ์ อากาศเย็นสบาย ปริมาณน้ำฝนสูง มีการระบายน้ำดีเยี่ยม และสิ่งสำคัญที่สุด...ภายใต้เมฆหมอกปกคลุมของเกาะ ช่วยบดบังต้นกาแฟ ไม่ให้โดนแสงอาทิตย์มากไป  ปัจจัยหนุนจากดิน น้ำ และอากาศ ทั้งมวลนี้ ช่วยกันฟูมฟักพัฒนารสชาติกาแฟให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่น

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า 70-75 เปอร์เซ็นต์ จากผลผลิตทั้งหมดของกาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น ถูกส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น เอาเข้าจริงๆ กาแฟจาไมก้ากับญี่ปุ่นมีความ “แนบแน่น” กันในหลายมิติทีเดียว ไม่ใช่ในฐานะ "ผู้นำเข้ากาแฟ" เท่านั้น แต่ยังขยับฐานะมาเป็น "พันธมิตรทางธุรกิจ"

อย่างวันกาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น นั้น ก็เป็นสมาคมผู้นำเข้ากาแฟจาไมก้าแห่งญี่ปุ่น (AJIJC) เป็นผู้คิดริเริ่มดำเนินการ โดยทำหนังสือไปยังรัฐบาลญี่ปุ่น ขออนุญาตกำหนดให้วันที่ 9 มกราคมของทุกปี เป็นวันกาแฟจาไมก้า บลู เม้าเท่น เพื่อเฉลิมฉลองและย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาที่กาแฟล็อตแรกส่งมาถึงดินแดนซามูไร ในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1967 นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมงานวันกาแฟจึงจัดขึ้นทั้งที่จาไมก้าและที่ญี่ปุ่น พร้อมๆ กัน

สาเหตุความนัยในการกำหนดวันกาแฟขึ้นนั้น เป็นการบอกกล่าวให้รับทราบกันว่า ภาคธุรกิจเอกชนญี่ปุ่นพร้อมมอบความช่วยเหลือ เพื่อให้บรรดาชาวไร่กาแฟในจาไมก้า เพิ่มปริมาณการผลิตจาไมก้า บลู เม้าเท่น ออกมาให้มากที่สุด

161197218458

ตามร้านกาแฟญี่ปุ่น หาดื่มกาแฟจาไมก้าได้ไม่ยากนัก / ภาพ : Tyler Nix on Unsplash

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2020 รัฐบาลจาไมก้าได้ทำเรื่องขอขึ้นทะเบียน ”สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (GI) ให้กับ “กาแฟบลู เม้าเท่น” ของตน ต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก  ตามแรงการผลักดันและสนับสนุนจากสมาคมนักคั่วกาแฟแห่งญี่ปุ่น หวังปกป้อง "เครื่องหมายการค้า" และคุ้มครอง “แหล่งกำเนิด” กาแฟที่มีชื่อในประเทศที่กำลังถูกคุกคามจากกาแฟลอกเลียนแบบ จนส่งผลกระทบต่อราคา

ทั้งนี้ รัฐบาลจาไมก้าหวังไว้ว่า การได้ตราสัญลักษณ์ GI จะช่วยเพิ่มรายได้จากการส่งออกเมล็ดกาแฟไปยังตลาดต่างประเทศ

นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มระดับการผลิตในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลเตรียมแจกจ่ายต้นกล้ากาแฟ 50,000 ต้น ให้กับเกษตรกรชาวไร่ราว 200 รายจากชุมชนรอบๆ เมืองเซนต์ แอนดรูว์ ในเทือกเขาบลู เม้าเท่น ว่ากันว่าตามแผนนั้น จะมีการตั้งโรงเรือนเพาะชำต้นกล้าจาไมก้า บลู เม้าเท่น ในวงเงินดำเนินการ 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำจาไมก้า โดยมีบริษัทยูซีซี อูเอะชิม่า คอฟฟี่ เป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือโครงการ

ก่อนหน้านั้น หลังจากยอดส่งออกกาแฟดังจากเกาะจาไมก้าเริ่มตกลง เพราะผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายรัฐมนตรีจาไมก้า "แอนดรูว์ โฮลเนสส์" ได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 วัน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อพบปะเจรจรากับนักธุรกิจญี่ปุ่น ในการนี้ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี และยังมีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้าชายอากิชิโนะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นด้วย

ชัดเจนว่าเป้าหมายของการเดินทางเยือนก็คือ การันตีในเรื่องคุณภาพสูงสุดของกาแฟ และตอกย้ำถึงความเป็นแหล่งผลิตกาแฟคุณภาพชั้นเลิศมาอย่างต่อเนื่อง

หากเป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ทั้งกระตุ้นการดื่มกาแฟในประเทศ, เน้นหาตลาดใหม่ๆ,เร่งพัฒนาคุณภาพให้มีความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น และเพิ่มความคึกคักให้กับธุรกิจทัวร์ไร่กาแฟ สมาคมผู้ส่งออกกาแฟจาไมก้า มั่นใจว่า จะส่งผลให้ตัวเลขยอดขายกลับขึ้นมาอยู่ระหว่าง 25-30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังที่เคยทำได้มาก่อน

จาไมก้า บลู เม้าเท่น หนึ่งในสายพันธุ์ชั้นเยี่ยม เป็นกาแฟชั้นดีรสเลิศ หาดื่มยาก พื้นที่ปลูกมีน้อย จึงมีราคาสูง เติบโตบนที่ลาดชันของภูเขาสูงกลางทะเลแคริบเบียน ขณะนี้กำลังถูกแรงกระแทกอย่างหนักหน่วงจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน ชื่อเสียงที่สั่งสะสมมานับร้อยปีนั้นกำลังถูกท้าทายโดยตลาดกาแฟพิเศษ

น่าสนใจยิ่งนัก... ยอดขายจะกระเตื้องขึ้นหรือไม่ หลังเชื้อไวรัสมรณะยุติการระบาดลง หรือว่าจะเป็นกรณี...คลื่นลูกหลังทยอยไล่คลื่นลูกแรก?