ยอด 'โควิด-19' สมุทรสาครพบเพิ่มรอรายงานราว 800 ราย

ยอด 'โควิด-19' สมุทรสาครพบเพิ่มรอรายงานราว 800 ราย

ยอด ‘โควิด-19’เพิ่ม 187 ราย พบผู้ติดเชื้อเหลือเพียง 5 จังหวัดจากสะสม 63 จังหวัด เฉพาะ “สมุทรสาคร”พบเพิ่มรอรายงานกว่า 800 ราย หลังลุยตรวจเชิงรุกเป้า วันละ 10,000 ราย เตรียมรพ.สนามรองรับ 3,000 เตียง พิจารณาผ่อนคลายมาตรการสัปดาห์นี้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 25 ม.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 187 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 177 ราย แยกเป็นพบจากการเฝ้าระวังในระบบบริการ 61 ราย ในจังหวัดสมุทรสาคร 35 ราย กรุงเทพฯ 20 ราย สมุทรสงคราม 3 ราย ระยอง 1 ราย และสมุทรปราการ 2 ราย การค้นเชิงรุก 116 ราย ในจังหวัดสมุทรสาคร 113 ราย กทม. 2 รายและระยอง 1 ราย และเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 13.687 ราย รักษาหาย 10,662 ราย ยังรักษา 2,950ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 75 ราย


ในส่วนผู้ที่เสียชีวิต รายแรก เป็นชาย สัญชาติอังกฤษ อายุ 61 ปี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม เดินทางมาจากอังกฤษถึงไทย โดยเข้าพักในสถานกักกันโรค จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม มีอาการปวดกล้ามเนื้อ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เหนื่อยหอบมากขึ้น ระยะแรกผู้ป่วยปฏิเสธการใช้ท่อช่วยหายใจ กระทั่งอาการรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 มกราคม ต้องใส่ท่อช่วยหายใจแต่อาการยังแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตลงในวันที่ 24 มกราคม

ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี ในจ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัว คือ โรคหลอดเลือดสมอง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ป่วยไม่ได้สัมผัสพื้นที่เสี่ยง ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่บ้าน แต่สามีสัมผัสกับคนส่งปลาที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 21 มกราคม ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ เมื่อไปถึงโรงพยาบาล(รพ.) แพทย์เตรียมใส่ท่อหายใจทันที แต่ระหว่างนั้นหัวใจหยุดเต้น แพทย์ทำการกู้ชีพแต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษา ในขณะนั้น ทีมแพทย์สงสัยการติดเชื้อโควิด เนื่องจากประวัติสัมผัสกับผู้ทำงานในตลาดทะเลไทย จึงตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเสียชีวิตในวันที่ 21 มกราคม ที่ รพ. และเมื่อวันที่ 24 มกราคม ผลตรวจยืนยันว่ามีการติดเชื้อโควิด-19

0 พบติดเชื้อเพียง 5 จังหวัด
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า จากตารางผู้ติดเชื้อรายจังหวัดจะเห็นได้ว่าในวันนี้(25 ม.ค. 2564) ยังพบผู้ติดเชื้อเพียง 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ระยอง สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม แต่หากพิจารณาในช่วง 2 วันที่ผ่านมาของสัปดาห์ที่ 4 เดือนมกราคมคือวันที่ 24-25 ม.ค.2564 พบว่า มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 7 จังหวัด คือ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทุบรี และราชบุรี จากจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสะสม 63 จังหวัด ลดลงจากสัปดาห์ที่ 1ที่พบใน 39 จังหวัด สัปดาห์ที่ 2 พบ 30 จังหวัด และสัปดาห์ที่ 3 พบ 24 จังหวัด

0 เพื่อนดีเจมะตูมแพร่เชื้อเชื่อม 3 กลุ่มก้อน
พื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563-25 ม.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อสะสม 700 ราย ซึ่งหากดูจากไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถกหลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้สัมผัสรายอื่นอีกหลายคน ยกตัวอย่าง กรณีการติดเชื้อของดีเจมะตูม จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้นำเข้าเชื้อเป็นชายคนหนึ่งที่มีประวัติไปสถานบันเทิงในจ.เชียงใหม่ ก่อนเข้าร่วมงานวันเกิดดีเจมะตูม และทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อในกลุ่มนี้รวม 7 คน นอกจากนี้ พบว่าชายคนเดียวกันนี้ยังไปพบปะกับชายอีกคน และทำให้มีการติดเชื้อต่อในกลุ่มก้อนที่ 2 อีกรวม 4 คน และเชื่อมต่อว่าชายติดเชื้อในกลุ่มก้อนที่ 2 มีประวัติเชื่อมต่อกับผู้ที่ไปร่วมงานวันเกิดอีกกลุ่มหนึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อในกลุ่มก้อนที่ 3 อีก 4 ราย รวมถึงผู้ประกาศข่าวช่องNBTด้วย


นอกจากนี้ พื้นที่กทม.ยังพบในส่วนของโรงงาน จึงอยากย้ำเตือน นอกจากการระมัดระวังตัวเองแล้ว ผู้ประกอบการ เจ้าขององค์กรธุรกิจต่างๆ จะต้องดูแลบุคลากรในสถานประกอบการ เพิ่มมาตรการคัดกรองให้เข้มข้น เพราะไม่มีโอกาสรู้ได้ว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนไปสถานที่เสี่ยงหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงใดมาหรือไม่ มาตรการป้องกันตัวเองยังสำคัญที่สุดร่วมกับมาตรการองค์กร

0 สมุทรสาครเปิดรพ.สนาม 3,000 เตียง
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่จ.สมุทรสาคร ที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 5,000 ราย และกำลังมีการระดมคัดกรองเชิงรุกในชุมชนอย่างเข้มข้นให้ได้วันละ 10,000 ราย ทำให้จะพบการติดเชื้อค่อนข้างสูง ในบ่ายนี้ อาจจะได้เห็น ตัวเลขเพิ่มไปถึง 800 กว่าราย ขอให้ติดตามตัวเลขจากจังหวัดอย่างใกล้ชิด ซึ่งตัวเลข ศบค.จะตัดเลข เที่ยงคืน แต่จังหวัด จะมีตัวเลขที่อัพเดทยิ่งขึ้น แต่หลังจากนี้จะปรับตัวเลขให้เป็นตัวเลขเดียวกัน 

ทั้งนี้ แผนการดูแลผู้ติดเชื้อที่พบจากการค้นหาเชิงรุก โดยหากเป็นผู้ป่วยอาการรุนแรงจะเข้ารับการรักษาในรพ. แต่หากเป็นผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง จะให้สังเกตอาการที่รพ.สนาม ซึ่งขณะนี้จังหวัดมีการเปิดใช้แล้ว 1,091 เตียง วันที่ 26 ม.ค.เปิดอีก 400 เตียง วันที่ 29 ม.ค.เปิดอีก 1,000 เตียง และมีในส่วนของสถานประกอบการและภาคเอกชนที่เสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือให้โรงงานเป็นรพ.สนามอีกจำนวนหนึ่งอีกราว 2,000 เตียง คาดว่าสัปดาห์นี้จะมีรพ.สนามรองรับ 3,000 เตียง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ยืนยันว่ามีความพร้อมรับมือมาตรการเข้มข้นจากการที่จะพบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก

0ประกาศมาตรการผ่อนคลายสัปดาห์นี้
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า มาตรการผ่อนคลายนั้น สัปดาห์นี้ศบค.กำลังนำข้อมูลต่างๆจากทุกฝ่ายมาพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อวางแผนมาตรการคลายล็อคซึ่งจะเห็นมาตรการคลายล็อคออมาในสัปดาห์นี้ในแต่ละวัน บางจังหวัดจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่บางจังหวัดที่เป็นสีแดงก็ยังต้องคุมเข้มมาตรการต่อไป


ต่อข้อถามการเปิดเรียนที่เดิมมีกำหนดเปิดในวันที่ 31 ม.ค. 2564 มีความชัดเจนอย่างไรแล้วหรือไม่ พญอภิสมัย กล่าวว่า ผู้ปกครองบางท่านยังห่วงสถานการณ์ติดเชื้อที่ยังไม่นิ่งเห็นว่าไม่ปิดต่อไปเพราะเป็นห่วงลูกหลาน ขณะที่บางท่านสะท้อนว่าการเรียนออนไลน์ลำบาก พ่อแม่ต้องทำงานไม่สามารถดูแลการเรียนออนไลน์ของลูกได้เต็มที่ ซึ่งศบค.นำทุกความเห็นมาพิจารณา โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พื้นที่ และประชุมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละพื้นที่ ในส่วนของสถานศึกษาทั้งโรงเรียนหรือสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอให้ติดตามตัวเลขผูติดเชื้ออย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าในการเฝ้าระวังหากตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่คาดการณ์ ก็จะต้องมีการเปิดสถานศึกษาในเร็ววัน แต่จะเป็นการเปิดไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ หากเป็นพื้นที่ที่ยังเสี่ยงสูงอาจจะเปิดช้ากว่าพื้นที่อื่น และหากเป็นพื้นที่สีเขียวอาจจะมีการพิจารณาให้เปิดในเร็วๆนี้