"ททท." หวั่นโควิดลากยาว 3 เดือน ฉุดรายได้ท่องเที่ยวกว่าแสนล้าน

"ททท." หวั่นโควิดลากยาว 3 เดือน ฉุดรายได้ท่องเที่ยวกว่าแสนล้าน

“ททท.” ประเมินโควิดระลอกใหม่ฉุดรายได้ท่องเที่ยวไทยวูบ 4.6 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ในกรณีร้ายแรงหากกินเวลา 3 เดือนแรกของปีนี้ อาจสูญเสียรายได้ถึง 1.38 แสนล้านบาท

ด้านตลาดต่างชาติเที่ยวไทย ลุยคิกออฟขายแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบฮาร์ดเซลล์ช่วงเทศกาลอีสเตอร์เดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ เริ่มเห็นกระแสการเดินทางไตรมาสที่ 3 คาดดึงยุโรป-อเมริกาเข้ามาได้ก่อนเอเชีย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ภายในประเทศตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 ทำให้รัฐต้องประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพื่อหยุดการแพร่ระบาด ส่งผลต่อกระแสการเดินทางท่องเที่ยว ททท.จึงคาดว่าในกรณีร้ายแรงที่สุดภาคท่องเที่ยวไทยอาจสูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4.6 หมื่นล้านบาท หากกินเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2564 อาจสูญเสียรายได้ 1.38 แสนล้านบาท

หลังจากปี 2563 มีรายได้การท่องเที่ยวภายในประเทศที่ 4.8 แสนล้านบาท ลดลง 55% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งปิดที่ 1.08 ล้านล้านบาท ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีที่แล้วอยู่ที่ 90.74 ล้านคน ลดลง 47% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อรวมกับรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศอีก 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 82% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.69 ล้านคน ลดลง 83% ทำให้ตลอดปีที่แล้วมีรายได้การท่องเที่ยวรวมปิดที่ 8.12 แสนล้านบาท ลดลง 73%

อย่างไรก็ตาม ททท.ยังคงเป้าหมายการทำตลาดในปี 2564 ให้มีรายได้การท่องเที่ยวรวมที่ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับปี 2563 แบ่งเป็นรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศที่ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทย 120 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 33% ด้านเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศปีนี้วางไว้ที่ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้น 49%

สำหรับแนวทางการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ ททท.ในฐานะหน่วยงานด้านการตลาดต้องส่งสัญญาณว่าพร้อมทำตลาด โดยจะเริ่มขายแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบฮาร์ดเซลล์ราวเดือน มี.ค.-เม.ย.ซึ่งตรงกับเทศกาลอีสเตอร์ของยุโรป เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เริ่มเดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกล (Long Haul) ทั้งยุโรปและอเมริกาจะเดินทางเข้ามาได้ก่อนตลาดระยะใกล้ (Short Haul) อย่างอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลียังคงเข้มงวด ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ ถ้าไม่จำเป็น

“ตอนนี้ ททท.ได้เริ่มคุยกับพันธมิตรสายการบิน เช่น สายการบินจากภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเอมิเรตส์และกาตาร์แอร์เวย์ส รวมถึงโรงแรมและบริษัทผู้รับจัดบริการเดินทางที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย (Destination Management Company : DMC) เพื่อขายแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบ All Inclusive แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มุ่งเพิ่มยอดการใช้จ่ายต่อทริปต่อคน ด้วยการพัฒนารูปแบบกิจกรรมท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความหลากหลายและมีมูลค่าสูงมากขึ้น”

ส่วนแนวโน้มตลาดต่างชาติเที่ยวไทยจะถึง 10 ล้านคนในปีนี้ตามเป้าหมายของ ททท.หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 เรื่องว่าจะได้รับการผ่อนปรนมากแค่ไหน ได้แก่ ความเชื่อมั่น (Sentiment) ของคนไทยในฐานะเจ้าบ้าน สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง (Ease of Travelling) นโยบายการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศของประเทศต้นทาง และมาตรการด้านสาธารณสุขในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย แต่ถ้ายังมีเงื่อนไขการกักตัว 14 วัน ก็ยากที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว

“ทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้ ททท.หาวิธีดึงชาวต่างชาติกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาเที่ยวไทย โดยอยากให้มีพาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport) และให้ไปหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (NTO) ของประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพื่อออกเป็นพาสปอร์ตวัคซีนร่วมกัน ภายใต้มาตรฐานเดียวว่าถ้าฉีดแล้ว สามารถเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ แบบไม่ต้องกักตัวได้”

ด้านเป้าหมายท่องเที่ยวไทยปี 2565 รัฐบาลต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว 50% ของปี 2562 หรืออยู่ที่ 20.8 ล้านคน จากปีก่อนปิดที่ 39.92 ล้านคน แต่ต้องการเห็นรายได้การท่องเที่ยวรวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศฟื้นตัว 80% หรืออยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เท่ากับว่า ททท.ต้องเร่งเครื่องเพิ่มค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 4.78 หมื่นบาทต่อคนของเมื่อปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 30% เป็น 6.25 หมื่นบาทต่อคนให้ได้ในปี 2565