สศช.ส่งข้อมูลถึง 'ประยุทธ์' หนุนเดินหน้าโครงการทวาย

สศช.ส่งข้อมูลถึง 'ประยุทธ์' หนุนเดินหน้าโครงการทวาย

สศช.ทำข้อมูลกรณีปัญหาอิตาเลียนไทยถูกยกเลิกสัญญาส่งถึงมือ “ประยุทธ์" หนุนเดินหน้าโครงการทวายต่อ ชี้ได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศ เชื่อมโยงกับพื้นที่อุตสาหกรรมของอีอีซีได้ ระบุต้องหาเวทีแก้ปัญหาพูดคุย 3 ฝ่าย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ได้จัดทำข้อสรุปกรณีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทจดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Project Companies รวม 5 บริษัท ถูกบอกเลิกสัญญา 7 ฉบับ จากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ Dawai Special Economic Zone Management Committee :DSEZMC เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รวม 27 ตารางกิโลเมตร 

พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาะรณูปโภคต่างๆ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบเป็นข้อมูลแล้ว ซึ่งในส่วนของรัฐบาลไทย ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน จะหารือเพื่อหากลไกช่วยเหลือ หรือหาเวทีเพื่อให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งจะต้องหาเวทีพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาเพื่อให้เดินหน้าในทิศทางเดียวกัน

161114047295

“ในแง่ยุทธศาสตร์ผมมองว่า ควรเดินหน้าโครงการนี้ต่อ และเป็นเรื่องที่ สศช.ทำมานานแล้ว เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม มาเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีของไทย และรัฐบาลไทยก็ลงทุนสร้างถนนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อเป็นเส้นทางออกไปเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ร่วมกันของไทยและเมียนมา เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ”

เลขาธิการ สศช. กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไทยยังได้กันเงินไว้ 4,500 ล้านบาทให้รัฐบาลเมียนมากู้เพื่อนำไปสร้างถนนจากบ้านพุน้ำร้อนไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ปัจจุบันทางเมียนมายังไม่ได้ดำเนินการ โดยวงเงินนี้อนุมัติไว้ตั้งแต่ช่วงที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ส่วนขั้นตอนการเจรจาจากนี้ไปนายอาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JCC) ต้องไปหารือกับทางเมียนมา 

จากนั้นจึงจะนำมาเสนอคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง(JHC) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน