บีโอไอเปิดแผนปี 64 ดึงลงทุนเชิงลึก5ด้าน

บีโอไอเปิดแผนปี 64 ดึงลงทุนเชิงลึก5ด้าน

รัฐบาลมีแผนที่จะเร่งรัดการลงทุนในปี 2564 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เป็นหน่วยงานสำคัญในการดึงการลงทุนได้จัดเวทีรับฟังความเห็นภาคเอกชน

ไปแล้ว 2 ครั้ง เพื่อรับฟังความเห็นหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย (JFCCT) และรับฟังความเห็นภาคเอกชนไทย

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา บีโอไอได้ประเมินผลพร้อมทบทวนนโยบายและมาตรการที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้า รวมทั้งได้รับฟังข้อแนะนำจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ

สำหรับทิศทางส่งเสริมการลงทุนปี 2564 บีโอไอจะเน้นขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนให้เป็นกลไกสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งรองรับเทรนด์ใหม่พร้อมให้ความสำคัญกับ คุณภาพของการลงทุน” มากกว่าปริมาณอย่างเดียว โดยวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายตระหนักว่าเศรษฐกิจไทยโตแบบเดิมไม่ได้ เราต้องอาศัยวิกฤติครั้งนี้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสู่ยุค ดิจิทัล อีโคโนมี” และ กรีน อีโคโนมี” เต็มรูปแบบ พร้อมเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้ชนะคู่แข่งที่พัฒนาเร็ว

สำหรับทิศทางปี 2564 บีโอไอจะร่วมกับหน่วยงานและองค์กรพันธมิตรต่างๆ เน้นดึงการลงทุนเชิงรุกใน 5 ด้านที่สำคัญ คือ 

1.ต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูงและเป็นจุดแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และการแพทย์ ซึ่งเกษตรและอาหารจะเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบการเกษตร การยกระดับสู่มาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน GAP,การตรวจสอบย้อนกลับ ,ความปลอดภัยของอาหาร รวมทั้งการวิจัยพัฒนาและการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ การทำระบบเกษตรอัจฉริยะ การทำโรงงานผลิตพืชผัก การผลิตสารสกัดหรือสารออกฤทธิ์

ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์จะต่อยอดสู่ศูนย์กลางสุขภาพภูมิภาค ซึ่งไทยได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานสาธารณสุขที่ดีทั้งบริการเสริมสุขภาพ (Wellness) และการรักษาพยาบาล โดยจะเน้นส่งเสริม Ecosystem อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรทั้งการผลิต เช่น เครื่องมือแพทย์ ยา วัคซีน อาหารทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ รวมทั้งวัตถุดิบที่จะพึ่งตัวเองได้เมื่อเกิดวิกฤติ 

161073147533

รวมทั้งด้านบริการ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแพทย์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบเปิดส่งเสริมกิจการใหม่ คือ กิจการวิจัยทางคลินิก และกิจการบริการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุแบบครบวงจร และร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี

2.สร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ บีโอไอเดินหน้าเจาะกลุ่มบริษัทเป้าหมายรายใหม่ โดยเฉพาะการดึงนักลงทุนรายสำคัญเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนในอุตสาหกรรม และเป็นแม่เหล็กดึงผู้ลงทุนรายอื่นหรือซัพพลายเออร์ให้ตามเข้ามาลงทุนในอนาคต โดยเน้นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ พลังงานสะอาดและดิจิทัล ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น Data center ,Cloud services และเทคโนโลยี 5G ที่จะยกระดับอุตสาหกรรม

3.ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีจุดแข็งหลายด้านทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ บุคลากรที่มีคุณภาพและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ ทำให้มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และด้านการศึกษา โดยเฉพาะธุรกิจระหว่างประเทศที่บีโอไอจะใช้จุดแข็งที่ผลักดันให้ไทยเป็น ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทชั้นนำทั่วโลกยื่นขอรับการส่งเสริมกิจการนี้กว่า 300 โครงการ ทั้งจากญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐ และยุโรป

รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบเปิดส่งเสริมกิจการ ศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนระหว่างประเทศ (IPO) เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตภูมิภาค  โดยบีโอไอกำลังหารือกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขยายขอบข่ายกิจการ IBC ให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ที่จะสนองตอบการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศมากขึ้น

4.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อยกระดับธุรกิจ มาตรการที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก คือ ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้โอกาสช่วง วิกฤติโควิด” ลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจแข็งแกร่งและพร้อมเติบโตเมื่อวิกฤติผ่านไป โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรทันสมัยหรือนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการผลิต บริการและบริหารคลังสินค้า รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ 

ทั้งนี้ ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 มีคำขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพถึง 211 โครงการ เพิ่มขึ้น 45% มูลค่าการลงทุน 18,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจมองเห็นความจำเป็นในการปรับปรุงประสิทธิภาพมากขึ้น

5.ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไทย ทั้ง Reskill, Upskill และการสร้าง New Skill ที่สำคัญในอนาคต พร้อมดึงผู้มีทักษะสูงหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งกลยุทธ์บีโอไอจะไม่เพียงดึงดูดเม็ดเงินลงทุน แต่ให้ความสำคัญกับการสร้าง คน” และการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงจากทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเข้ามาไทยและช่วยพัฒนาประเทศ โดยบีโอไอเตรียมปรับปรุงมาตรการ Smart Visa ให้จูงใจและมีขอบข่ายที่ครอบคลุมบุคลากรทักษะสูงในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น