'กกพ.'เคาะราคาค่าไฟชาร์จรถอีวีใช้ชั่วคราว 2 ปี 2.63 บ./หน่วย

'กกพ.'เคาะราคาค่าไฟชาร์จรถอีวีใช้ชั่วคราว 2 ปี 2.63 บ./หน่วย

กกพ. ออกประกาศกำหนดอัตราชาร์จอีวี ชั่วคราว 2.63 บาทต่อหน่วย ทดลองใช้ 2ปี(63-64) หวังส่งเสริมลงทุนหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) กระตุ้นดีมานด์ใช้รถอีวีกระจายสู่ต่างจังหวัด ด้านกฟผ.เร่งศึกษาจัดตั้งปั๊มชาร์จอีวี เผยคุยพันธมิตรหลายราย คาดชัดเจนในปี64

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้ออกประกาศกำกับอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ตั้งแต่ประมาณเดือนธันวาคม 2563 แล้ว โดยการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับปั๊มชาร์จ (ขายส่ง) อยู่ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่หักค่าพลังงานไฟฟ้า(Demand Charge) หรือ ค่าลงทุนโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ออกจากสูตรค่าไฟฟ้าฐานที่คิดสำหรับอีวี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge )กระจายในต่างจังหวัดมากขึ้น และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นอัตราชั่วคราว ที่ทดลองใช้ 2 ปี (2563-2564)

จากนั้น กกพ.จะนำข้อมูลมาศึกษาอัตราที่เหมาะสมใหม่ ก่อนจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและแยกอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรองรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ให้ชัดเจนต่อไป

“กกพ.ประกาศอัตราชาร์จไฟฟ้าชั่วคราว ในกรณี Low Priority อยู่ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย เป็นราคาขายส่งให้ของการไฟฟ้าไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า การไฟฟ้ากับคู่สัญญาจะมีการกำหนดเงื่อนไขกันอย่างไร ซึ่ง กกพ.ไม่ได้คุมอัตราขายปลีก แต่หากการไฟฟ้า กังวลว่าจะมีการนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ในส่วนอื่นๆ ก็อาจเพิ่มบทลงโทษเข้าไปในสัญญาให้เข้มงวดมากขึ้นได้” นายคมกฤช กล่าว

น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาลงทุนจัดทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ทั้งในส่วนที่เป็นความร่วมมือกับผู้ประกอบการสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมัน และในส่วนของสถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) ซึ่งเบื้องต้นจะมุ่งไปที่ลักษณะของประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) เพื่อรองรับการใช้งานของรถอีวีที่วิ่งในต่างจังหวัดอุ่นใจว่าจะมีปั๊มชาร์จไฟฟ้า และต้องใช้เวลาในการชาร์จเร็ว ประมาณ 20-30 นาที โดยจะต้องพิจารณาความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งการกำหนดจุดพักรถ ประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาใช้บริการ จำนวนรถ

“ตอนนี้ กฟผ.เราคุยกับพันธมิตรหลายราย เพื่อร่วมกันลงทุน ซึ่งจะมีทั้งการติดตั้งปั๊มชาร์จไฟฟ้าที่บริเวณ Substation ของ การไฟฟ้า หรือ พื้นที่ใกล้เคียงของพันธมิตรที่มีศักยภาพ และการติดตั้งปั๊มชาร์จไฟฟ้า ในปั๊มน้ำมัน คาดว่า จะมีความชัดเจนภายในปีนี้”

ส่วนกรณีที่ กฟผ.มีความร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ในการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น โดยเบื้องต้นจะนำร่องในถนนสายหลักเส้นทางภาคตะวันออก ที่เป็นฐานการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมความพร้อมต่างๆ คาดว่า จะเห็นแผนการลงทุนที่ชัดเจนได้ในเร็วๆนี้

ก่อนหน้านี้ กฟผ.ตั้งเป้าหมายการเติบโตในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจ Electric Vehicle (EV) โดยจัดทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ซึ่งปี 64 มีเป้าหมายจะก่อสร้างให้ครบ 31 แห่ง และจะเดินหน้าขยายการติดตั้งเพิ่มเติมต่อไป เป็นต้น

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย(EVAT) กล่าวว่า ปัจจุบัน ปั๊มชาร์จไฟฟ้า สำหรับรองรับรถอีวี มีอยู่ประมาณ 1,800 หัวจ่าย ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือ ยังไม่จูงใจให้เกิดการใช้รถอีวีที่มากพอ ซึ่งทางสมาคมฯ เคยเสนอรัฐให้มีการพิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามเทรนด์โลกที่มุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด