ฝรั่งเศสระแวงวัคซีนหนักสุด-ผู้นำอินโดฯฉีดโชว์ออกทีวี

ฝรั่งเศสระแวงวัคซีนหนักสุด-ผู้นำอินโดฯฉีดโชว์ออกทีวี

ผลสำรวจ 15 ประเทศชี้ คนฝรั่งเศสไม่ไว้ใจวัคซีนมากที่สุดในโลก ส่งผลรัฐบาลทำงานยาก ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียฉีดวัคซีนซิโนแวคเรียกความเชื่อมั่น แต่แพทย์จำนวนมากยังไม่แน่ใจ

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานวานนี้ (13 ม.ค.) ว่า แม้สหรัฐ สหราชอาณาจักร(ยูเค) และสหภาพยุโรป (อียู) เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ไปมากแล้ว แต่ความรู้สึกต่อต้านการฉีดวัคซีนในประเทศฝรั่งเศสยังคงมีอยู่สูง ผลการสำรวจของอิปซอสและเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม จากประชาชน 13,500 คนใน 15 ประเทศ ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค. หลังจากที่สหรัฐและยูเคฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วแต่อียูยังไม่เริ่ม พบว่า ประเทศที่ประชาชนตั้งใจไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สูงที่สุดคือจีน (80%) ค่อนข้างสูงคือ บราซิล (78%) เม็กซิโก (77%) ยูเค (77%) ออสเตรเลีย (75%) เกาหลีใต้ (75%)

ระดับปานกลาง ได้แก่ สหรัฐ (69%) เยอรมนี (65%) อิตาลี (62%) สเปน (62%) และญี่ปุ่น (60%) ระดับต่ำ ได้แก่ แอฟริกาใต้ (53%) รัสเซีย (43%) และต่ำสุดคือฝรั่งเศส (40%)

รายงานข่าวระบุว่า ฝรั่งเศสเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ช้า ขณะนี้กำลังเพิ่มความพยายามท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีโควิดกลายพันธุ์อีกหลายสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ worldometer วานนี้ (13 ม.ค.) ฝรั่งเศสมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 2,806,590 คน เสียชีวิต 68,802 คน หายแล้ว 204,390 คน เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. พร้อมๆ กับสมาชิกอียูอื่นๆ ข้อมูลถึงวันอังคาร (12 ม.ค.) ฉีดไปได้ไม่ถึง 190,000 คน

รัฐบาลปารีสตั้งเป้าฉีดวัคซีนประชากร 1 ล้านคนภายในสิ้นเดือน ม.ค. กลุ่มแรกที่ได้รับคือผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ แต่ถ้าดูจากอัตราการฉีดปัจจุบันคงถึงเป้าได้ในวันที่ 24 ก.พ.

การที่สาธารณชนฝรั่งเศสไม่ไว้ใจวัคซีนเป็นผลจากความไม่พอใจรัฐบาล เรื่องอื้อฉาวด้านสาธารณสุขในอดีต และลักษณะทางประชากร เช่น อายุ และเพศ

นายอังตวน บริสติเย นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ สถาบันรัฐศาสตร์เกรนอบล์เก็บข้อมูลเรื่องความเชื่อมั่นต่อวัคซีนพบว่า ในฝรั่งเศสคนอายุมากเชื่อมั่นวัคซีนมากกว่าคนอายุน้อย ผู้หญิงลังเลมากกว่าผู้ชายและกลัวเรื่องผลข้างเคียงมากกว่า

ข้อมูลจำนวนโดสสะสมของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ฉีดไปแล้วใน 10 ประเทศ รวบรวมโดยเว็บไซต์ Our World in Data นับถึงวันที่ 12 ม.ค. พบว่า สหรัฐฉีดมากที่สุด 9.33 ล้านโดส จีน 9 ล้านโดส ยูเค 2.84 ล้านโดส อิสราเอล 1.93 ล้านโดส รัสเซีย 800,000 โดส อิตาลี 791,734 โดส เยอรมนี 688,782 โดส ฝรั่งเศส 189,134 โดส เดนมาร์ก 117,104 โดส และเม็กซิโก 87,060 โดส

ที่อินโดนีเซีย โครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเปิดฉากแล้วอย่างเป็นทางการวานนี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เป็นคนแรกของประเทศที่ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน อินโดนีเซียจึงเป็นประเทศแรกนอกจีนที่ใช้วัคซีนโคโรนาแวค ผลิตโดยบริษัทซิโนแวคไบโอเทค

แต่แม้ประธานาธิบดีฉีดเป็นคนแรกแต่แพทย์ในประเทศหลายคนยังไม่เชื่อมั่น นายยุสเดนี ลานาสักติ แพทย์จากชวาตะวันออกเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ไม่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเพราะกังวลเรื่องประสิทธิภาพ

วัคซีนตัวนี้ทดลองทางคลินิกที่อินโดนีเซีย บราซิล และตุรกี การทดลองที่บราซิลได้ผล 50.4% ข้อมูลชั่วคราวที่อินโดนีเซียได้ผล 65.3% ส่งผลให้ทางการอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (11 ม.ค.) ส่วนที่ตุรกีได้ผล 91.25%

นายบัมบัง เฮริยันโต เลขาไบโอฟาร์มา บริษัทอินโดนีเซียที่ร่วมทดลองทางคลินิกกล่าวว่า อย่างไรเสียข้อมูลจากบราซิลก็เกินที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำหนดค่าประสิทธิผลวัคซีนไว้ที่ 50%

ด้านสมาคมแพทย์อินโดนีเซีย ที่เพิ่งแถลงเมื่อวันเสาร์ (9 ม.ค.) ว่า แพทย์อินโดนีเซียเสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 259 คน สนับสนุนให้ใช้วัคซีน โดยให้เหตุผลว่าช่วยลดการเสียชีวิตของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้

การเสียชีวิตของแพทย์อินโดนีเซียคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของแพทย์อินเดียที่เสียชีวิตไปแล้ว 736 คน แต่อินเดียมีประชากรมากกว่าอินโดนีเซีย 5 เท่า และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 6 เท่า โดยอินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิต 24,434 คน จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 846,765 คน

นายโดมินิคัส ฮูซาดา กุมารแพทย์จากชวาตะวันออกเผยว่า ตนพร้อมฉีดวัคซีน แต่มีข้อสงสัยบางข้อที่ยังไม่ได้คำตอบ เช่น วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้นานแค่ไหน และลดลงอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป

นายตรี มหาราณี แพทย์อีกคนหนึ่งจากพื้นที่เดียวกันกล่าวว่า แพทย์เองก็ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมตอบข้อสงสัย เขาเคยติดโควิดมาแล้วจึงไม่ฉีดวัคซีน

นายดิกกี บุดีมาน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลียกล่าวเสริมว่า ถ้าแม้แต่คนวิชาชีพแพทย์ยังสงสัย ย่อมถือเป็นปัญหาระดับรากฐาน อาจหมายรวมถึงยุทธศาสตร์ไม่เหมาะสม รัฐบาลให้ข้อมูลแพทย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นประโยชน์และความเสี่ยง

นางสิตี นาเดีย ทาร์มิซี เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่มีการลงโทษแพทย์ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน แต่ขอให้บุคลากรทางการแพทย์อย่าประมาท ด้านนางฮาริฟ ฟาดิลาห์ นายกสมาคมพยาบาลอินโดนีเซีย กล่าวว่า พยาบาลส่วนใหญ่พร้อมรับวัคซีน

ความไม่ไว้ใจวัคซีนถือเป็นความท้าทายเพิ่มเติมสำหรับอินโดนีเซีย ที่วางแผนฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกว่า 180 ล้านคนทั่วประเทศตลอด 15 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค.พบว่า ชาวอินโดนีเซียเพียง 37% เท่านั้นที่ยินดีฉีดวัคซีน อีก 40% จะพิจารณา และ 17% ปฏิเสธ

ซิโนแวคเป็นซัพพลายเออร์วัคซีนรายใหญ่สุดของอินโดนีเซีย แต่ก็หาซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์และไบออนเทคด้วย ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคได้ผลถึงกว่า 95%

ด้านน.ส.แอกเนส คริสตี สุปังกัต แพทย์ในกรุงจาการ์ตา แม้เห็นประธานาธิบดีฉีดวัคซีนออกทีวีแล้วเธอก็ยังไม่เชื่อมั่น กล่าวว่าจะไม่ฉีด โดยมองว่าเป็นการเร่งรีบทั้งๆ ที่ยังทดลองทางคลินิกได้ไม่มากนัก

ส่วนเรื่องโควิดกลายพันธุ์ องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) แถลงวานนี้ว่า โควิดกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ ขณะนี้กระจายไป 50 ประเทศและดินแดนแล้ว ขณะที่สายพันธุ์คล้ายกันที่พบในแอฟริกาใต้ตอนนี้แพร่ไป 20 ประเทศและดินแดน สายพันธุ์ที่ 3 ที่พบในญี่ปุ่นน่ากังวลว่าอาจส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน จำเป็นต้องสอบสวนโรคเพิ่มเติมต่อไป