สธ. ย้ำแนวทางการจัดตั้ง รพ.สนาม ปลอดภัย ตามมาตรฐาน

สธ. ย้ำแนวทางการจัดตั้ง รพ.สนาม ปลอดภัย ตามมาตรฐาน

สธ.ย้ำ แนวทางจัดตั้ง รพ.สนาม ภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญทั้งสถานที่ ความปลอดภัย ทรัพยากรด้านสาธารณสุข บุคลากร และความต้องการของชุมชน คำนึงถึงความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในชุมชนเป็นที่ตั้ง

วันนี้ (9 มกราคม 2564) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยระบุว่า จากกรณีที่ประชาชนมีความกังวลในเรื่องการจัดตั้ง รพ. สนาม ทั้งนี้ ขอเรียนว่าการตั้ง รพ.สนามต้องมีระเบียบที่ถูกต้อง ตามหลักกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ทั้งความมั่นคง ความปลอดภัย ตามมาตรฐาน รพ.หลัก ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และคำนึงถึงความรู้สึกของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ รพ.สนาม คือ สถานที่ที่จัดเพื่อการดูแลรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ที่เกินศักยภาพของ รพ.หลัก โดย สถานที่จัดตั้ง ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ความต้องการของชุมชน และทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่มี เช่น วัด โรงเรียน โรงยิม หอประชุม ขนาดใหญ่ มีผู้รับผิดชอบหลักการดำเนินการ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้ป่วยที่เหมาะสมในโรงพยาบาลสนาม คือ ผู้ป่วยยืนยัน โควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงจะถูกส่งไปยัง รพ.หลัก และอีกกรณี คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยัน ที่ดีอาการดีขึ้นภายหลัง เข้ารับการรักษาไว้ใน รพ.และมีอาการคงที่ เพื่อเข้ารับดูแลรักษาและเฝ้าสังเกตอาการ

ขณะเดียวกัน การจัดตั้ง รพ.สนาม ต้องเป็นพื้นที่อากาศถ่ายเท ไม่อยู่ในชุมชน มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีระบบการดูแล ขนส่งผู้ป่วยจาก รพ.หลัก หรือสถานที่ตรวจ มาถึง รพ.สนามต้องเป็นระบบควบคุม ไม่ให้มีการกระจายระหว่างเดินทาง การเชื่อมโยงระบบสื่อสารหลักกับ รพ.สนาม ใช้ระบบเดียวกัน การควบคุมการติดเชื้อ การแพร่กระจาย มาตรฐานเดียวกัน ใช้ทีมแพทย์ พยาบาล หลักการวิชาการเช่นเดียวกัน รวมถึงการใช้อุปกรณ์ มีระบบสุขาภิบาล รักษาความปลอดภัย ผู้ป่วยไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ และคนนอกไม่สามารถเข้าไปได้ มีระบบติดตาม ลงทะเบียน ตรวจสอบ ป้องกันอัคคีภัย การสื่อสารความเสี่ยง และงานสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา มีพี่น้อง อสม. รวมถึงทีมจิตแพทย์ ในการดูแลผู้ป่วย

ด้าน การจัดเตรียมอุปกรณ์ สำหรับ รพ. สนาม ได้แก่ เต็นท์ ที่พัก อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล อุปกรณ์ความปลอดภัย อุปกรณ์ดำรงชีพ และยา เวชภัณฑ์ รวมถึง บุคลากรที่มีใจจิตอาสา โดยได้รับความร่วมมือกับ รร.แพทย์ ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.วชิรพยาบาล และรพ.ธรรมศาสตร์ จัดเตรียมเวรแพทย์ ร่วมกับ รพ.ในต่างจังหวัด

นอกจากนี ยังมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยในการดูแลประชาชน สำหรับพี่น้อง ชาวเมียนมา ยังมี อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) มาเป็นล่ามให้กับผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการคัดกรองคนที่ไปเป็นอาสาสมัคร ต้องไม่มีโรคประจำตัว พร้อมปฏิบัติงาน ช่วยเหลือตัวเองได้ แบ่งเบาภาระของพื้นที่ โดยปัจจุบัน มีทั้งหมดกว่า 20 กว่าทีม ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป”

นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ระบบของ รพ.สนาม ที่ สธ. ได้วางไว้ มั่นใจว่ามีคาวมมั่นคงปลอดภัย ตามมาตรฐานของ สธ. คำนึงถึงความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในชุมชน เป็นที่ตั้ง ขอให้สบายใจ ขอขอบพระคุณอย่างสูง กับทุกท่านที่แสดงความเมตตาอนุเคราะห์ในการใช้พื้นที่