สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์วันที่ 4-8 มกราคม 2564

สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์วันที่ 4-8 มกราคม 2564

เงินบาทอ่อนค่าช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,500 จุดในสัปดาห์แรกของปี

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากขยับแข็งค่าเล็กน้อยช่วงต้นสัปดาห์ตามเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ มาสนับสนุน อย่างไรก็ดีเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ประกอบกับมีปัจจัยลบจากแรงขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาดหนุนให้มีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มเติม (ก่อนรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร) ในระหว่างสัปดาห์ ธปท. มีการผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาทภายใต้โครงการ NRQC เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดจากการทำธุรกรรมในต่างประเทศ   

- ในวันศุกร์ (8 ม.ค. 64) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.05 เทียบกับระดับ 29.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพุธก่อนหน้า (30 ธ.ค. 63)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ม.ค. 64) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย และความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 63 ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) สำหรับเดือนม.ค. 64 และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟด (Beige Book) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. 63 ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ตัวเลขการส่งออก ด้วยเช่นกัน  

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปรับตัวขึ้นในสัปดาห์แรกของปี โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,536.44 จุด เพิ่มขึ้น 6.01% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 118,648.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.37% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.40% มาปิดที่ 340.99 จุด

- หุ้นไทยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ โดยมีปัจจัยหนุนจากการที่ทางการไทยยังไม่ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ประกอบกับมีความคาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ทิศทางเดียวกับหุ้นภูมิภาค ขานรับการรับรองชัยชนะของนายโจ ไบเดน และการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสของเดโมแครต ซึ่งกระตุ้นความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ม.ค. 64) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,515 และ 1,500 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,550 และ 1,565 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 การออกมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบจ. ไทย รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 63 ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. 63 ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. 63 ของญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. 63 ของจีน