'ยูนิโคล่ พาร์ก โยโกฮามา' กลยุทธ์โตอย่างยั่งยืนยุคโควิด

'ยูนิโคล่ พาร์ก โยโกฮามา' กลยุทธ์โตอย่างยั่งยืนยุคโควิด

"ยูนิโคล่ พาร์ก โยโกฮามา" กลยุทธ์โตอย่างยั่งยืนยุคโควิด โดยร้านของยูนิโคล่ที่โยโกฮามาของญี่ปุ่น เริ่มขายดอกไม้สดก่อนเป็นที่แรกจากนั้นก็ขยายไปยังสาขาที่ตั้งอยู่ใจกลางธุรกิจของกรุงโตเกียว

“ยูนิโคล่” แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังของบริษัทฟาสต์ รีเทลลิง กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองจากร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นเป็นร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น ที่เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ด้วยความหวังว่าจะหนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ให้สมกับคำกล่าวของทาดาชิ ยานาอิ ประธานยูนิโคล่ ที่กล่าวว่า “ต้องการทำให้แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นนี้เป็นตัวแทนของสังคมมากกว่านี้” ถือเป็นการปรับตัวรับยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคทั่วโลกเองต้องปรับตัวให้สอดรับกับวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่เช่นกัน

“ฉันไม่คิดว่ายูนิโคล่จะเปลี่ยนไปมากขนาดนี้ ”ลูกค้าคนหนึ่งของยูนิโคล่ กล่าวหลังจากเข้ามาเลือกซื้อเสื้อผ้าในร้านซึ่งตั้งอยู่ในย่านฮาราจูกุของกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 2ธ.ค.ที่่านมาซึ่งตรงกับวันครบรอบ 36 ปีของยูนิโคล่ และพบว่าบรรยากาศภายในร้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ภายในร้านมีมุมจำหน่ายดอกไม้สดและหนังสือหลากหลายประเภทให้ลูกค้าเลือกชมและเลือกซื้อด้วย

“ปี 2563 เป็นปีที่สำคัญสำหรับเรา” ทากาโอะ คุวาฮารา เจ้าหน้าที่บริหารระดับอาวุโสที่เข้าร่วมกับยูนิโคล่ตั้งแต่ปี 2537 และเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบริษัทเคียงข้างยานาอิมาตลอด กล่าว

อันดับแรกคือ การเปลี่ยนแปลงกับตัวร้านค้าปลีกเสื้อผ้าที่เรียกว่า “ยูนิโคล่ พาร์ก โยโกฮามา เบย์ไซด์”ที่เปิดตัวในเดือนเม.ย.ปีนี้ในช่วงเวลาเดียวกับที่ญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ร้านนี้ถูกแปลงโฉมเป็น“สวนสาธารณะ”ด้านนอกถูกตกแต่งด้วยสโลปขนาดใหญ่ และดาดฟ้าถูกดัดแปลงเป็นโรงยิมในสวนสวยที่เต็มไปด้วยเครื่องออกกำลังกายหลากหลายชนิด เรียกได้ว่าร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นแห่งนี้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เสียงพูดคุยของบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเสียงเล่นของเด็กๆตลาดทั้งวัน ยูนิโคล่ สร้างสถานที่แห่งนี้ด้วยแนวคิดว่า“ร้านค้าคือสวน”และเปิดให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้บริการได้อย่างเต็มที่

ร้านของยูนิโคล่ที่โยโกฮามา เริ่มขายดอกไม้สดก่อนเป็นที่แรก จากนั้นก็ขยายไปยังสาขาของร้านในย่านฮาราจูกุก่อนจะไปจบที่ร้านสาขาหลักที่ทำเงินได้มากที่สุดในย่านใจกลางธุรกิจของกรุงโตเกียว คาวาฮารา บอกว่า “ดอกไม้สดและเสื้อผ้ามีลักษณะเฉพาะที่คล้ายกัน คือมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและเพิ่มสีสันให้กับชีวิตของเรา”

ที่จริงแล้ว การขายดอกไม้สดของยูนิโคล่ เป็นส่วนหนึ่งของการขายเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ไลฟ์แวร์ แต่การปรับตัวครั้งนี้ของยูนิโคล่ ถือเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมดอกไม้สด ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ให้มีรายได้ด้วย แถมการมีร้านยูนิโคล่ พาร์ค โยโกฮามา เบย์ไซด์ ยังเปรียบเหมือนการมีสนามเด็กเล่นให้ผู้บริโภคทุกคนได้ใช้เป็นที่หย่อนใจด้วย

ในการประชุมผู้ถือหุ้นของฟาสต์ รีเทลลิงในเมืองยามากูชิ เมื่อวันที่ 26พ.ย. ดอกไม้สด หนังสือ อุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น หน้ากากอนามัยเอไอริสซึม (AIRism) ถูกบรรจุเข้าไว้ในรายการสินค้าของร้าน “ปกติแล้วเราจะมีแต่เสื้อผ้า แต่ตอนนี้ภายใต้หลักคิดเดียวกัน เราสามารถขายสินค้าอย่างอื่นได้ด้วย” คาวาฮารา กล่าว

หน้ากากอนามัยเอไอริสซึม เปิดตัวเมื่อเดือนมิ.ย. ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของปรัชญานี้ ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างอบอุ่น และช่วยให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก ยานาอิ ไม่เห็นด้วยที่จะผลิตหน้ากากอนามัยออกจำหน่าย แต่เมื่อเห็นกระแสตอบรับจากลูกค้าวัยหนุ่มสาวจำนวนมากแล้ว ก็ตัดสินใจไฟเขียวให้บริษัทผลิตสินค้าชนิดนี้ออกมาจำหน่าย

ในแต่ละวัน พนักงานของฟาสต์ รีเทลลิงจะได้รับอีเมลที่จั่วหัวว่า “เสียงสะท้อนจากลูกค้า” ที่จะเต็มไปด้วยความเห็นของลูกค้า คำติและคำชม รวมทั้งข้อเรียกร้องต่างๆจากลูกค้าที่ผ่านมาทางคอลล์เซนเตอร์ ในร้านค้าปลีกทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ในแต่ละวันมีลูกค้าเข้ามาแสดงความเห็นหลายร้อยคน และคาวาฮารา บอกว่า ประธานยานาอิ เป็นคนที่กระตือรือร้นในการอ่านความเห็นเหล่านี้มากที่สุด

พูดถึงมูลค่าทางการตลาดของฟาสต์ รีเทลลิง ก็โดดเด่นและมีสีสันไม่แพ้ดอกไม้สดที่ยูนิโคล่นำมาวางขายในร้าน โดยบริษัทมีมูลค่าทางการตลาดทะลุ 9 ล้านล้านเยนในช่วงเวลาสั้นๆ น้อยกว่า 3 เท่าของมูลค่าทางการตลาดของบริษัทเซเว่น แอนด์ โฮลดิงส์ ค้าปลีกรายใหญ่สุดของญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 3 ล้านล้านเยน จึงถือได้ว่าฟาสต์ รีเทลลิงเป็นผู้เล่นที่น่าจับตาในญี่ปุ่น โดยบริษัทอยู่อันดับ 7 ตามหลังบริษัทเอ็นทีทีในแง่ของมูลค่าทางการตลาดของบริษัทญี่ปุ่น

ในปีงบการเงินซึ่งสิ้นสุดในเดือนส.ค.ปี 2564 ฟาสต์ รีเทลลิง มีแผนเพิ่มยอดขายและเพิ่มผลกำไรในตลาดจีนและตลาดอื่นๆในเอเชีย พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า จะทำกำไรสุทธิได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 165,000 ล้านเยน เพราะธุรกิจของฟาสต์ รีเทลลิงในตลาดเอเชียได้รับผลกระทบไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดยุโรปและสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการทำธุรกิจของฟาสต์ รีเทลลิงเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นทำยอดขายให้ได้ตามเป้า อย่างเช่นในปีงบการเงิน 2563 บริษัทตั้งเป้าทำยอดขายให้ได้ 5 ล้านล้านเยน (48.3 พันล้านดอลลาร์) แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บริษัทแทบไม่เน้นเรื่องทำยอดขาย ซึ่งเรื่องนี้ ยานาอิ เคยกล่าวไว้ว่า “ประเด็นไม่ใช่เรื่องยอดขาย ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด สิ่งที่บริษัทต้องการสื่อให้ผู้บริโภคเห็นคือการเป็นบริษัทเพื่อสังคม

เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดตัวโครงการ “รีไซเคิล” แจ็คเก็ต เพื่อนำขนสัตว์ที่ใช้ทำเสื้อแจ็คเก็ตกลับมาใช้ใหม่ “เราตั้งเป้าเป็นบริษัทที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านไลฟ์สไตล์และก้าวขึ้นเป็นบริษัทโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในที่สุด” มาซาฮิโร เอนโด หัวหน้าทีมสื่อสารด้านสังคม กล่าว