นอนไม่พอ พักไม่เป็น 'สมอง'ลีบได้

นอนไม่พอ พักไม่เป็น 'สมอง'ลีบได้

ความเครียดเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้สมองบางส่วนมีขนาดเล็กลงได้ ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร เพื่อให้สุขภาพสมองดีขึ้น

สมองคนเราเป็นอวัยวะที่อัศจรรย์มาก มันเป็นหนึ่งในไม่กี่อวัยวะที่ทำงานตั้งแต่วันที่เกิดไปจนเราวันที่เราตาย ไม่มีวันหยุดวันลา ไม่ว่าเราจะรู้เรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ว่ามันจะมหัศจรรย์เพียงใด มันก็เสื่อมโทรมลงตามเวลาได้ และปัจจัยที่ทำให้มันเสื่อมโทรมลง ก็อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราคาดไม่ถึงก็ได้

อาการอย่างหนึ่งที่อาจสังเกตได้ง่ายๆ เมื่ออายุมากขึ้นและสมองเริ่มเสื่อมลงก็คือ การหลงๆ ลืมๆ คิดไม่คล่องหรือไวเท่าเดิม หากใช้เครื่องมือสแกนสมองอาจพบว่า สมองบางส่วนหดตัวเล็กลง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นที่เราอาจคาดกันไม่ถึงกันคือ การนอนหลับไม่เพียงพอ

มีงานวิจัยที่ตีในวารสาร Neurology (ประสาทวิทยา) ในเดือนมิถุนายน 2014 ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยออสโลในนอร์เวย์ พวกเขารวบรวมข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการทดลอง 147 คนที่เป็นผู้ใหญ่ชาวนอร์วีเจียนนาน 3.5 ปี

โดยถามผู้เข้าร่วมทดลองเกี่ยวกับธรรมชาติของการนอนแต่ละคน เช่น นอนมากน้อยเท่าใด แล้วไปง่วงนอนหรือหลับในตอนกลางวันบ้างหรือไม่ ฯลฯ

สิ่งที่พบก็คือ โดยเฉลี่ยแต่ละคน จะใช้เวลาราว 20 นาทีกว่าจะหลับลงได้ และมักจะนอนหลับโดยเฉลี่ยนาน 7 ชั่วโมง

คณะนักวิจัยพบว่าคนที่นอนแบบ “ไม่ได้คุณภาพ” นัก สมองส่วนฟรอนทรัลคอร์เทกซ์ (frontal cortex) หรือเปลือกสมองส่วนหน้าจะหดตัวลง และมีอาการลีบฝ่อลงของสมองอีก 3 บริเวณ ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล วางแผนแก้ปัญหา และส่วนที่ใช้จดจำ โดยผลดังกล่าวตัดผลกระทบจากเรื่องกิจการทางกายภาพ มวลกาย หรือความดันออกแล้ว

การนอนให้ดีจึงมีผลกระทบกับสุขภาพสมองมากอย่างไม่น่าเชื่อ แค่ 3.5 ปีก็ส่งผลที่ตรวจวัดได้ชัดเจนแล้ว

อาการป่วยอย่าง “ภาวะซึมเศร้า (depression)” ก็ส่งผลกระทบกับสมองได้มากเช่นกัน งานวิจัยของทีมหาวิทยาลัยเยลในวารสาร Nature Medicine (13 เม.ย. 2014) แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของการขาดความสุขกับการเชื่อมต่อสัญญาณประสาท

การผ่าตัดหลังการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าจำนวนมากทำให้ทราบว่า มีสมองส่วนที่เรียกว่า เกรย์แมตเทอร์ (gray matter) ลดลง นอกจากนี้การทดลองในหนูทำให้ทราบว่า หากให้ยาที่ใช้ป้องกันอาการเครียดกับพวกมัน จะทำให้พวกมันสร้างโปรตีนที่มาทำลายสมองส่วนนี้ลดน้อยลง

ความเครียดเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตทำให้สมองส่วนพรีฟรอนทรัลคอร์เทกซ์ (prefrontal cortex, PFC) มีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด สมองส่วนนี้ควบคุมกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย กระบวนควบคุมอารมณ์ และแก้ไขปัญหาไม่น่าแปลกใจที่ในภาวะเครียดหรือซึมเศร้า เราจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์และการแก้ไขปัญหาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

แม้แต่ยาที่ใช้รักษาโรคจิตประสาท (antipsychotic drug) ก็มีส่วนทำให้สมองหดตัวลงเช่นเดียวกัน ยาแต่ละชนิดก็ทำให้เกรย์แมตเทอร์ลดลงมากน้อยต่างกันไป และขึ้นกับปริมาณยาอีกด้วย

โดยยาพวกนี้เข้าไปรบกวนและลดกระแสประสาทเพื่อลดอาการคิดมากลง โดยลดปริมาณสารสื่อประสาทจำพวก โดพามีน (dopamine) ซึ่งทำให้ไปช่วยลดอาการเห็นภาพหลอนได้

ในเนื้อสมองของคนเราจะมีส่วนเนื้อที่เห็นเป็นสีขาวและสีที่เข้มกว่า ส่วนที่เข้มกว่านี้เองที่เรียกว่า “เกรย์แมตเทอร์” ซึ่งจะพบมากในระบบควบคุมประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีเซลล์สมองอยู่เป็นจำนวนมาก สมองส่วนที่สีขาวกว่าเพราะมีเยื่อหุ้มที่เรียกว่า ไมอีลินชีท (myelin sheath) ซึ่งช่วยให้ส่งกระแสประสาทได้ไวยิ่งขึ้นอยู่มากกว่า

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยทีมนักวิจัยชาวเยอรมันที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Psychiatry (ก.ค. 2014) โดยศึกษาในผู้ชายอายุ 21-45 ปีที่ดูพวกภาพโป๊บ่อยๆ ทำให้ทราบว่าพฤติกรรมแบบนี้ทำให้คนกลุ่มนี้มีเกรย์แมตเทอร์ลดน้อยลงกว่าเฉลี่ย นอกจากนี้ ยังพบว่าสมองส่วน สไทรเอทัม (striatum) และ PFC ทำงานแย่ลงด้วย

สมองทั้งสองส่วนนี้ทำงานร่วมกันในการควบคุมผลจากตัวกระตุ้นภายนอก การควบคุมตัวเองทางสังคม การเก็บกดอารมณ์ และการควบคุมตัวเองจากสิ่งกระตุ้นทางเพศ

นักวิจัยแปลผลว่าการดูภาพโป๊บ่อยๆ จะไปทำให้ควบคุมตัวเองได้น้อยลง และความสามารถในการตัดสินใจลดลง เมื่อเทียบกับคนปกติโดยเฉลี่ย

ถ้ากล่าวถึงแต่ปัญหา บทความนี้คงจะมีประโยชน์น้อยไปหน่อย เราสามารถรักษาความกระฉับกระเฉงของสมองได้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายแบบ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะไปกระตุ้นให้สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) สร้างเซลล์สมองใหม่ๆ เพิ่ม ทำให้มีระบบความจำที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารชื่อ นิวโรโทรพิกแฟกเตอร์ (neurotropic factor) ซึ่งไปช่วยกระตุ้นการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทเข้าด้วยกันอีกด้วย

การนั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือแม้แต่การอธิษฐาน ก็ช่วยสมองด้วยเช่นกัน เพราะไปลดการทำงานของวงจรของเซลล์ที่สั่งให้เซลล์ทำลายตัวเองให้ลดน้อยลง ในโรงพยาบาลหลายแห่งในต่างประเทศสนับสนุนวิธีการเหล่านี้ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า การฝึก “ตอบสนองอย่างผ่อนคลาย (relaxation response)”

สุดท้าย การใช้มืออีกข้างทำกิจกรรมที่ปกติไม่ได้ใช้มือนั้นทำ เป็นเรื่องที่ช่วยกระตุ้นสมองมาก เช่น คนถนัดขวาควรหัดลองเขียนด้วยมือซ้าย เป็นต้น

ผมเลยคิดต่อไปอีกว่าไม่แน่ว่า การหัดคิดในแบบที่เราไม่เคยเชื่อ ฟังความฝ่ายที่เราเห็นแย้งหรือคิดว่าน่าจะผิดมาตลอดบ้าง ก็อาจจะช่วยกระตุ้นสมองได้เช่นกัน น่าลองทดสอบดูนะครับ !