หอการค้าไทย แนะรัฐต่อ 'คนละครึ่ง' เฟส 3 เฟส 4 พยุงเศรษฐกิจปีหน้า

หอการค้าไทย แนะรัฐต่อ 'คนละครึ่ง' เฟส 3 เฟส 4 พยุงเศรษฐกิจปีหน้า

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัว 2.8 % ส่งออกขยายตัว 3.5 หลังมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จับตาส่งออกไตรมาสแรกยังอืดจากปัญหาตู้ขาดแคลน แนะรัฐต่อคนละครึ่งเฟสไปจนถึงกลางปีหน้า  

 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563-2564 โดยเศรษฐกิจในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบกับภาคการท่องเที่ยว สถานการณ์ทางการเมือง  เงินบาทที่แข็งค่า ภัยแล้ง ขาดตู้คอนเทนเนอร์ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระหว่างสหรัฐและจีน  แม้ว่าในไตรมาส 3 เศรษกิจเริ่มฟื้นตัวจากมาตราผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบ 6.3 % ส่งออกติดลบ 7.4 เงินเฟ้อติดลบ 0.9 % หนี้ครัวเรือน 84.5%

สำหรับปี 2564 ทางศูนย์ฯได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัว 2.8% การส่งออกขยายตัว 3.5 %  จำนวนนักท่องเที่ยว 4 ล้านคน  เงินเฟ้อทั่วไป 1.0 % หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 84.5 % โดยปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี2564  ได้แก่1. การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19  ที่มีความก้าวหน้า 2.เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ 3.ภาคการผลิตและภาคบริกรทั่วโลกเริ่มจะฟื้นตัวภายหลังจากการคลายเศรษฐกิจ 4.ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา กระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 4.การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และ5.ธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย

160828118366

อย่างไรก็ตามต้องจับตาปัจจัยที่มีความเสี่ยงที่จะฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทยที่มีความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงนานกว่าปี2563 จะกระทบต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะข้าวนาปรัง ตัวเลขการส่งออกลดลง เดิมคาดไว้บวก 5% ลดเหลือบวก 3.5% เนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออก และค่าระวางขนสินค้าปรับขึ้น 2-3 เท่า ซึ่งภาคเอกชนประเมินว่ากว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหลังเดือนพ.ย. นอกจากนี้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งหากหลุดถึง 29.5 บาทต่อดอลลาร์ก็จะกระทบต่อความสามารถในการส่งออก ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าดูแล และหากถูกสหรัฐจับตาว่าไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตาแทรกแซงค่าเงินนั้น เชื่อว่า ธปท.จะชี้แจงได้และไม่เข้าไปแทรกแซง แต่อาจใช้มาตรการการเก็งกำไรสกัดเงินทุนไหลเข้า

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า  สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำต่อเนื่องเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการต่ออายุโครงการคนละครึ่งในเฟส 3-4  ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จมากเข้าถึงทุกคน และเห็นผลประชาชนเข้าถึงเรียนรู้การใช้ระบบอินเทอร์เน็ตได้ดี หากมีการต่อมีเฟส3 เฟส 4 เพราะจะมีเงินหมุนอยู่ในระบบบเศรษฐกิจและช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงที่มีปัญหาการส่งออกในไตรมาสแรกได้  ซึ่งรัฐบาลยังมีวงเงินกู้ที่ยังเหลืออยู่กว่า  2.8 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ทั้งกระตุ้นเดินทางหรือจัดสัมมนาในวันธรรมดา หยุดยาวเพื่อการท่องเที่ยว และมอบสิทธิพิเศษเฉพาะกลุ่มที่เดินทางวันธรรมดา ดังนั้น จึงมองว่าในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นภาคการใช้จ่ายของประชาชนและไตรมาสที่ 3 – 4 ควรหันมาใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

“ศูนย์ฯคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 จะเริ่มฟื้นในช่วงปลายไตรมาส 2  และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นจะกลับเป็นเป็นปกติก่อนเกิดโควิด-19 ได้ดีในปี 65 “