‘ทางออก’ การเมืองไทยท่ามกลางโควิด

‘ทางออก’ การเมืองไทยท่ามกลางโควิด

วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยขาดโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและการเมืองที่มั่นคงโปร่งใส นั่นคือ ความมีคุณธรรม มีจิตสำนึกในหน้าที่และมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงของชนชั้นปกครองและกลุ่มประชาชน แล้วทางออกของวังวนนี้คืออะไร?

ปรากฏการณ์ทางการเมือง ณ เวลานี้ มิได้เป็นการเคลื่อนไหวในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการให้ประชาชนเห็น แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบ “คณาธิปไตย” ที่ซ่อนรูปอยู่ในคราบประชาธิปไตย ที่ทั้งสองฟากการเมืองต่างต้องการอำนาจผลประโยชน์ หรือการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มตนเป็นหลัก แต่ทำประหนึ่งว่ากลุ่มของตนเองเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่อย่างถูกต้องแท้จริง จึงทำให้การเจรจาออมชอมแทบไม่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ 

การปฏิรูปหากเกิดขึ้นก็จะเป็นแต่โดยผิวเผิน เป็นเพียงรูปแบบ กระบวนการ และก่อให้เกิดการถือครองอำนาจอย่างเหนียวแน่น เพื่อตีกับขั้วตรงข้าม ซึ่งทำให้การชุมนุมประท้วงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและในอนาคตจะเป็นความสูญเปล่า และทำให้ประเทศไทยอยู่ในวังวนของการประท้วง ปฏิวัติรัฐประหาร คอร์รัปชัน ผูกขาดอำนาจเพื่อกันฝ่ายตรงข้าม เช่นนี้เรื่อยไป

การปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการปฏิรูปจากภายในตนเองของทุกภาคส่วนที่สำคัญของสังคม ซึ่งต้องหันกลับมาพิจารณา และปฏิบัติอย่างเคร่งครัดครบถ้วนในบทบาท หน้าที่ คุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นต่อฐานะของตน ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการปกครองทุกระดับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เรียนรู้อย่างทั่วถึง 

แนวทางที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงคือ การก้าวไปข้างหน้าโดยที่ทุกฝ่ายคำนึงถึงปัญหาและประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก ซึ่งเชื่อมโยงถึงประเด็นชี้ขาดชัยชนะทางการเมืองของทุกฝ่าย ไม่ว่าในกรณีใด คือการครองใจประชาชนส่วนใหญ่ได้ 

ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้รัฐบาลมีชั่วโมงประชาสัมพันธ์ถึงแผนงาน การประมวล และประเมินผลงานทุกอาทิตย์และอย่างเต็มรูปแบบ (ทุกกระทรวง) ทุกเดือน ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมควรแบ่งเวลาและวาระในการชุมนุม โดยเชิญประชาชนทุกภาคส่วนที่มีปัญหาสำคัญและเร่งด่วน หมุนเวียนกันมานำเสนอปัญหา แนวทางแก้ไขในที่ชุมนุม รวมถึงแจ้งเบาะแสการทุจริตของทุกภาคส่วน ทั้งข้อบกพร่องของรัฐบาลและระบบราชการ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของกลุ่มฯ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนออกสื่อทุกแขนง 

ประหนึ่งเป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์และแก้ไขดูแลสุขทุกข์ของประชาชน จึงจะสามารถครองพื้นที่ในใจของประชาชนส่วนใหญ่ได้ มากกว่าการปลูกฝังความเกลียดชังฝ่ายรัฐบาล หรือการใช้กำลังและกฎหมายเข้าจัดการกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งรังแต่จะลดความชอบธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของทุกฝ่าย

การเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาลและของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งในด้านบวกและลบของทั้งสองฝ่าย จะเป็นการยกระดับการให้ความสำคัญ และความเข้าใจทางการเมืองของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้ชาวไทยได้สรุปตัดสินผ่านการทำประชามติ ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมดูแลตรวจตราเพื่อหาทางออกสำหรับวิกฤติทางการเมืองการปกครองในขณะนี้ เช่น การให้ลงมติเลือกข้อเสนอเพียง 1 จาก 5 ข้อ หรือไม่ออกความเห็น เช่นดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.ให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว.แล้วให้ยุบสภา ลาออก ทันที

2.ให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว.แล้วให้นายกรัฐมนตรีลาออกทันที ไม่ต้องยุบสภา

3.ให้รัฐบาลทำงานเต็มกำลังความสามารถจนจบวิกฤติ ระหว่างนี้ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว.แล้วให้นายกรัฐมนตรีลาออก

4.ให้รัฐบาลทำงานจนครบ 4 ปี ระหว่างนี้ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วเลือกตั้งตามปกติ

5.ให้รัฐบาลทำงานจนครบ 4 ปี แล้วเลือกตั้งโดยไม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

6.ไม่ออกความเห็น

(มิเช่นนั้นประเทศไทยก็จะเป็นเสมือน “บ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไม่มีขื่อไม่มีแป” คือเมื่อกลุ่มใดไม่พอใจก็ออกมาประท้วงโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบ และความประสงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งมิใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นคณาธิปไตยที่เอาแต่ประโยชน์ หรือความชอบชังของกลุ่มตนเองเป็นหลัก)

ประชาชนทุกฝ่ายต้องยอมรับ (ผลของ) ความเห็นต่างของประชาชนส่วนใหญ่ (แต่ในกรณีทั่วไป เช่นการเลือกตั้งทุก 4 ปีให้ประชาชนได้เรียนรู้ที่จะพิจารณาถึงคุณภาพ และปริมาณการทำงานของรัฐบาลตลอด 4 ปีเป็นสำคัญ โดยหากเกิดความบกพร่องผิดพลาดก็ต้อง “อดทน” รับผิดชอบต่อการตัดใจเลือกของตนเอง รอให้มีการเลือกตั้งใหม่ อันเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ถูกละเลย) 

ควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้อำนาจทั้ง 3 ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ มีความเป็นอิสระในตัวเองเพื่อให้เกิดการคานอำนาจตรวจสอบกัน อันก่อให้เกิดความยุติธรรมทางการเมืองขึ้น เช่นการยกเลิกบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีจำนวนมาก และมีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น

ต้นเหตุของวิกฤติการเมืองขณะนี้คือการขาดสำนึกในหน้าที่และขาดคุณธรรมจริยธรรม กำกับตนเองของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางการเมืองขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันสงฆ์ควรจะตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการปลูกฝังศีลธรรม และสำนึกในหน้าที่ของประชาชนทุกคนให้หนักแน่น เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงของการเมืองและสังคมไทยในอนาคตชั่วลูกชั่วหลาน 

อาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปหรือการจัดระเบียบปกครองประเทศที่แท้จริงนั้น จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการปลูกฝังคุณธรรมทางศาสนาและอุดมการณ์ประชาธิปไตยแก่ชนชั้นปกครองทุกระดับ รวมถึงประชาชนและเยาวชนที่จะต้องเป็นเสาหลักแก่สถาบันครอบครัว อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสังคมในอนาคต ด้วยการสร้างความเข้าใจและซาบซึ้ง ด้วยการแสดงตัวอย่างเรื่องราวและการทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี

หากชาติไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองและสังคมที่มั่นคงดีงาม โอกาสที่จะเกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้ก็จะน้อยลงหรือไม่มีเลยก็เป็นได้ 

ดังนั้น นอกจากคณะรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการปกครองทุกระดับ ควรสื่อสารประชาสัมพันธ์กับประชาชนอย่างเหมาะสม เช่น สถาบันสงฆ์ (ในทุกระดับ) ควรสื่อสารผ่านสื่อกระแสหลัก และสื่อตามยุคสมัยทุกช่องทาง ถึงหลักธรรมทางศาสนาพุทธที่เน้นความสุขสงบ ความไม่เบียดเบียนกัน อีกทั้งมีความรักเมตตาให้อภัยต่อกัน เป็นต้น 

วิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยขาดโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและการเมืองที่มั่นคงโปร่งใส คือ ความมีคุณธรรม มีจิตสำนึกในหน้าที่และมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงของชนชั้นปกครองและกลุ่มประชาชน 

แม้จะเป็นปัญหาหญ้าปากคอก แต่เมื่อทุกฝ่ายละเลย ไม่รับผิดชอบแก้ไขอย่างจริงจัง จึงทำให้โครงสร้างทางการเมืองการปกครองไทยสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี ซึ่งจะแก้ไขได้ก็ด้วยการให้ประชาชนได้รับรู้ เรียนรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของหลักคุณธรรม หน้าที่และอุดมการณ์ กลไกและกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตย ผ่านระบบการศึกษา และสื่อรอบตัวอย่างสม่ำเสมอ

เพื่อผลักดัน (และวางรากฐาน) ให้ชนชั้นปกครองและกลุ่มผู้ชุมนุมต้องตระหนักในอุดมการณ์หน้าที่ของตน ไม่ละเลยการใช้กติกาและกลไกประชาธิปไตย เช่น การลงประชามติ (และการเลือกตั้ง) อย่างโปร่งใส 

อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง และเพื่อให้ชาติไทยก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคงบนเวทีโลก แม้ต้องเผชิญกับภัยคุกคาม และความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงหลากหลายรอบด้านในอนาคต

(ความเห็นในบทความเป็นทัศนะส่วนบุคคลไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับสถาบันที่ผู้เขียนสังกัด)