“เมืองเดินได้” และ “เมืองกระชับ” ดับปัญหา PM 2.5

วางระบบใหม่ แก้วิกฤตฝุ่น “PM 2.5” อย่างยั่งยืน ด้วย “เมืองเดินได้” และ “เมืองกระชับ” จาก UddC
วนกลับมาอีกครั้งกับปัญหาเดิมๆ ที่คนเมืองต้องตื่นมาพบกับมวลฝุ่นละอองขนาดเล็ก “PM 2.5” ในระดับวิกฤต มีผลเสียต่อสุขภาพ หนึ่งในสาเหตุหลักที่คาราคาซังมาช้านานคงไม่พ้นเรื่องการใช้รถยนต์ จำนวนรถบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับสิ่งที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กำลังพยายามบอก
“ถ้าเอารถยนต์เอาจากถนนไม่ได้ เราจะไม่มีวันได้อากาศที่ดีคืนมา” UddC ชี้สาเหตุปัญหามลภาวะทางอากาศจาก "ฝุ่น PM 2.5" ว่าเกิดจากรถยนต์บนท้องถนน หากเมืองแก้ไขปัญหาจากการจราจรไม่สำเร็จ ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหามลภาวะอากาศจากฝุ่น "PM 2.5" ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสำคัญว่ากรุงเทพฯ มีปริมาณรถยนต์ล้นพื้นที่ถนน ต้นเหตุปล่อยมลภาวะเท่าตึกมหานคร 23 ตึกต่อปี ซึ่งมีอยู่ 2 ทางออกสำคัญ คือ สร้าง “เมืองเดินได้” ส่งเสริมผู้คนใช้การสัญจรด้วยการเดินเท้า-ปั่นจักรยาน เชื่อมต่อขนส่งมวลชนคุณภาพ และสร้าง “เมืองกระชับ” บ้านใกล้งาน งานใกล้บ้าน เพื่อแก้ไขมลภาวะอากาศยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กล่าวว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก "PM 2.5" ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีสาเหตุสำคัญจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์บนท้องถนน ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปริมาณรถยนต์มหาศาลสวนทางกับสัดส่วนพื้นที่ถนน ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและยิ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี โดนเฉพาะช่วงปลายปีถึงต้นปี
“ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ตัวเลขรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ มีสูงถึง 11 ล้านคันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 300,000 คัน หรือร้อยละ 17 ซึ่งสูงกว่าทุกเมืองในโลก ขณะที่ข้อมูลของ UddC-CEUS ยังชี้ว่า สัดส่วนรถยนต์ในกรุงเทพฯ ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ถนน ที่มีเพียงร้อยละ 7 ขณะที่เมืองที่ดีควรมีพื้นที่ถนนร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบกับ เป็นเมืองที่ผู้คนต้องพึ่งพารถยนต์ตลอดเวลา จึงทำให้กรุงเทพฯ มีสภาพการจราจรติดขัด
ทั้งนี้ ยิ่งรถติดยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 2 เท่า ข้อมูลชี้ว่าเมื่อรถติดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ 400 กรัม ต่อ 1 กิโลเมตร ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า รถยนต์ในกรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่ากับตึกมหานคร 23,000 ตึกต่อปี ซึ่งเป็นปัญหาของเมืองที่น่ากังวลและต้องเร่งหาทางออกอย่างเร่งด่วน” ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ชี้สาเหตุ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล
อย่างไรก็ตาม การศึกษาของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (Goodwalk) โดย UddC-CEUS ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนกรุงเทพฯ ยินดีเดินเท้าในระยะ 800 เมตร ซึ่งเทียบเท่าผู้คนในเมืองพัฒนาแล้ว อาทิ ฮ่องกง โตเกียว นิวยอร์ก ฯลฯ จึงควรสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูเมืองเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนหันมาเลือกวิธีการสัญจรด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยาน พร้อมกับพัฒนาระบบขนส่งมวลชนคุณภาพ อันเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“UddC-CEUS มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขมลภาวะทางอากาศ 2 ประการ ข้อแรก ส่งเสริมให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเดินทาง นั่นแปลว่าต้องส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ (non-motorized transportation) อย่างการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน ข้อสอง เมืองต้องลดการเดินทางของผู้คน ต้องเป็นเมืองกระชับ (compact city) ที่บ้านและงานอยู่ไม่ไกลกัน ภายในย่านมีทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงาน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งจับจ่ายใช้สอย เพื่อเอื้อให้ผู้คนใช้ชีวิตในย่านนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล หรือถ้าต้องการเดินข้ามย่าน ก็ใช้ระบบขนส่งมวลชนคุณภาพ ปัญหามลภาวะทางอากาศถือเป็น wake up call ที่ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัว และยอมรับว่าปัญหาเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว
'เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 500' เช็ค ธ.ก.ส. โอนเข้าบัญชี แนะขั้นตอนตรวจสอบง่ายๆ
สลด! 'ร.ต.อ.วิวัฒน์' เสียชีวิต ขณะปฎิบัติหน้าที่คุมม็อบ
ลงทะเบียน 'ม.33เรารักกัน' รับเงิน 4,000 หมดเขต 7 มี.ค.นี้
'พยากรณ์อากาศ' วันนี้ 'กรมอุตุนิยมวิทยา' เตือน 'อีสาน-ตะวันออก' ระวังพายุฤดูร้อน
คลังยังไม่สรุปแจกเงินเยียวยาลูกจ้างราชการ
ไทม์ไลน์ ม็อบ REDEM เผชิญหน้า ปะทะ ตำรวจ