‘ซัพพลายเออร์’ผวาค้าปลีก ควบรวมเพิ่มอำนาจต่อรอง

‘ซัพพลายเออร์’ผวาค้าปลีก  ควบรวมเพิ่มอำนาจต่อรอง

จับตากลยุทธ์สยายอาณาจักรค้าปลีกทางลัดของ “ซีพี” ควบรวม “เทสโก้ โลตัส” มีร้านค้าหลากรูปแบบทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกชำระเงินสด ร้านสะดวกซื้อ หวั่นกระเทือน “ซัพพลายเออร์” ทุกขนาดเพราะมีอำนาจต่อรองเพิ่ม

จับตากลยุทธ์สยายอาณาจักรค้าปลีกทางลัดของซีพีควบรวมเทสโก้ โลตัสจะส่งผลให้เป็นยักษ์รีเทลที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น มีร้านค้าหลากรูปแบบทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกชำระเงินสด ร้านสะดวกซื้อ หวั่นกระเทือนซัพพลายเออร์ทุกขนาดเพราะมีอำนาจต่อรองเพิ่ม ผู้ผลิตยัน ระหว่างควบรวมกิจการ นโยยายค้าขายยังไม่เปลี่ยน ธุรกิจยังไม่กระทบ

การควบรวมธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ของยักษ์ใหญ่ ซีพี กับ เทสโก้ โลตัส” เป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมาก โดยเฉพาะ “ผู้ผลิตสินค้า” หรือซัพพลายเออร์ ที่พึ่งพาอาศัยช่องทางจำหน่ายหน้าร้านค้าปลีกของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ผู้กุมอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ของเมืองไทยมูลค่าล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การที่ซีพีทุ่มเงินกว่า 3.5 แสนล้านบาท เพื่อซื้อเทสโก้ โลตัส จากทุนอังกฤษให้กลับมาอยู่ในอ้อมอกทุนไทย และเจ้าสัวธนินท์ซึ่งเป็นเจ้าของแต่ต้น จะส่งผลให้กลายเป็นผู้มีครอบครองธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่กว่าเดิม เพราะมีจะทั้งแม็คโครศูนย์ค้าส่งสมัยใหม่ประเภทชำระเงินสด (Cash&Carry) เน้นขายส่ง ขายอาหารสดอาหารแห้ง 

มีร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น” หลักหมื่นสาขาเจาะผู้บริโภคทั่วประเทศหลักล้านคนต่อปี และ เทสโก้ โลตัส” ที่มีสาขารวมนับพัน จากหลากหลายรูปแบบ ซึ่งยังไม่รวมกับค้าปลีกประเภทอื่นของเครืออีกมากมาย

การเปลี่ยนแปลงข้างต้นจะส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้าและมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ยังต้องจับตาดู และภายหลังการควบรวมที่จะเกิดขึ้น ผลลัพธ์เชิงบวก-ลบจะเกิดต่อผู้ผลิตสินค้าจะเป็นอย่างไร ซัพพลายเออร์รายเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องเผชิญแรงเสียดทานเท่ากันหรือไม่ กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมการสัมภาษณ์ความเห็นจากผู้ผลิตสินค้า

++ "พฤติกรรมทำธุรกิจน่าห่วง

แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่ม เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงและต้องเกาะติด หลังการควบรวมกิจการห้างค้าปลีกสมัยใหม่เทสโก้ โลตัส มาอยู่ใต้อาณาจักรซีพี ไม่ใช่ความเป็น เจ้าของ” แต่เป็นเรื่องของ พฤติกรรม” ของผู้ประกอบการมากกว่า...ว่าจะสร้างการผูกขาด เพิ่มอำนาจในการต่อรองการค้าขายสินค้าจนกระทบผู้ผลิตในการกระจายสินค้าสู่ห้างเทสโก้ โลตัส

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เจ้าสัวธนินท์ เป็นเจ้าของทั้งแม็คโคร ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ไม่ได้สร้างปัญหาต่อการจำหน่ายสินค้า เพราะไม่ได้นำทั้ง 2 กิจการมาบีบผู้ผลิตหรือสร้างอำนาจต่อรอง เช่นเดียวกับกรณีของ เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งเป็นเจ้าของไทยเบฟเวอเรจ ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เข้าซื้อกิจการ บิ๊กซี” แนวทางการดำเนินธุรกิจการตลาด ไม่ได้กีดกัน” ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์อื่นๆ หรือเอื้อประโยชน์ต่อแบรนด์ของตนเอง (เบียร์ช้าง สุราขาว สุราสี) จึงไม่เป็นเรื่องที่่ผิดแต่อย่างใด

ความเป็นเจ้าของห้างค้าปลีกจำนวนมาก ไม่เป็นปัญหา ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมมากกว่าจะสร้างการผูกขาดไหม

++จับตาผูกขาด-เพิ่มอำนาจต่อรอง

ทั้งนี้ การแสดงความกังวล หรือคาดการณ์ไปล่วงหน้าภายใต้ซีนาริโอต่างๆ สามารถทำได้ แต่หากเกิดพฤติกรรมกีดกันการค้า ผูกขาด เพิ่มอำนาจต่อรองมากขึ้น เมื่อพิสูจน์พบข้อเท็จจริง ผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการย่อมออกมาเรียกร้อง โวยวายได้ และสิ่งสำคัญสุด ขึ้นอยู่กับข้อกฏหมายกีดกันทางการค้า ซึ่งประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ให้มาก และต้อง บังคับใช้กฏหมาย อย่างเด็ดขาด ทั้ง ...การแข่งขันทางการค้า ภาครัฐและภาคสังคม หากเกิดการกระทำไม่ถูกต้อง

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะหันไปส่งเสริมการขยายตลาดผ่านโชห่วย 3 แสนรายทั่วประเทศ เพื่อช่วยซัพพลายเออร์ มองว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม เพราะเหมือนเป็นการระดมกองทัพมดไปต่อกรกับช้างสาร ซึ่งไม่มีทางสู้ได้อยู่แล้ว

คนละแนวทาง มดสู้กับช้างไม่ได้ แต่หากร้านค้าถูกกีดกัน กลั่นแกล้ง รัฐต้องมีการให้วัคซีนป้องกัน

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ช่องทางจำหน่ายสินค้า เมื่อ 10-20 ปีก่อน มีการคาดการณ์ว่าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นเกิดแล้วจะกระทบให้ร้านโชห่วยตายหมด สุดท้ายสถานการณ์ตลาดไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก แต่ในมิติของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการค้าปลีก ซัพพลายเออร์ สินค้าและบริการ ตลอดจน ลูกค้าต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา เนื่องจากบริบทโลกการค้า การแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ

ให้เกิดก่อนสิ แล้วค่อยลุกขึ้นมาโวยวาย รัฐต้องบังคับใช้กฏหมายอย่างเด็ดขาด

++ข้อตกลงการค้ายังไม่เปลี่ยน

 แหล่งข่าวจากวงการขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) กล่าวว่า ระหว่างการควบรวมกิจการของเทสโก้ โลตัสและซีพี มาตรการทางการค้าขายกับซัพพลายเออร์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด โดยค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรกเข้า ข้อตกลงการค้า (Trade Agreement) ต่างๆ เช่น ค่าขนส่งจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังสาขาของห้าง การเก็บเปอร์เซ็นต์ในการทำโปรโมชั่นตามสัดส่วนของเทสโก้ โลตัสและซัพพลายเออร์สนับสนุนส่วนหนึ่งยังคงเดิม

นอกจากนี้ ซีพีเคยควบรวมแม็คโครมาก่อน และการมีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ยังไม่เคยมีการบีบ กีดกันการค้า ซัพพลายเออร์ หรือนำมาสร้างอำนาจต่อรองในการขายสินค้าแต่อย่างใด ซึ่งร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นคู่ค้าแรกๆที่บริษัทนำสินค้าไปวางจำหน่าย และไม่เคยได้รับผลกระทบ กลับกันยังเป็นพันธมิตรที่่มีสายสัมพันธ์ที่ดีด้วย

++พึ่งหน้าร้านรายเดียว โจทย์เสี่ยงค้าขาย

ทั้งนี้ ในฐานะซัพพลายเออร์ มองว่าการพึ่งพาช่องทางจำหน่ายเพียงรายเดียวที่ครอบคลุมตลาดในวงกว้างอย่างมาก ถือเป็นความเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะยิ่งทำให้การพึ่งพาสัดส่วนการขาย (Percent on Sale) จากตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้น

เมื่อมีความเสี่ยง บริษัทจึงมีคณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อคอยมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนการพึ่งพาช่องทางจำหน่ายรายเดียวถือเป็นความเสี่ยง จึงต้องบริหารจัดการพอร์ตให้เหมาะสม ไม่วางไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการของค้าปลีกไปอยู่ภายใต้ผู้เล่นรายเดียว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีนั้น มีตัวอย่างจากกรณีของ “กลุ่มเซ็นทรัล ซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ท” และมีโปรแกรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (CRM) ด้วยการสะสมคะแนนผ่านบัตรเดอะวันคาร์ด ทำให้บริษัทได้ฐานลูกค้าใหม่ๆเข้ามาต่อยอดการทำตลาดเพิ่มเติม ส่วนข้อเสียเป็นเรื่องที่ต้องติดตามเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอยู่แล้ว

ส่วนซัพพลายเออร์รายเล็ก กลาง ใหญ่ จะขายสินค้าในช่องทางห้างค้าปลีกประเภทต่างๆ อำนาจต่อรองมีแตกต่างกันอยู่แล้ว ขณะที่การวางจำหน่ายสินค้า 3 เดือน 6 เดือน แล้วยอดขายไม่ดี ผู้บริโภคไม่ตอบรับ และต้องนำสินค้าออกจากชั้นวาง(เชลฟ์)ถือเป็นนโยบายการทำธุรกิจที่จะต้องการวัดผลงาน (เคพีไอ)

++หากถูกบีบเจรจาดีกว่าฟ้องร้อง

ทั้งนี้ กรณีเลวร้าย ผู้ผลิตต้องเผชิญการถูกบีบ กีดกันการค้า การเก็บค่าธรรมเนียม หรือการปฏิบัติทีไม่ได้รับความเป็นธรรม การเจรจากับห้างค้าปลีกโดยตรง ถือเป็นทางออกที่ดี ได้ประโยชน์กว่าเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในศาล

ส่วนแนวคิดของกระทรวงพาณิชย์ต้องการสนับสนุนผู้ผลิตให้ค้าขายผ่านร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศ มองว่าซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมควรใช้จังหวะนี้ในการขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กว้างขึ้น เข้าถึงห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ขยายตลาดให้เร็ว