อีวี เสียงแตก... ถาม ผลิตแล้ว จะขายใคร

อีวี เสียงแตก... ถาม ผลิตแล้ว จะขายใคร

ด้านสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า รับตลาดยังเล็ก แต่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ

ในเวที เสวนาวิชาการ หัวข้อ “โลกาภิวัตน์สู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า สังคมพร้อมเปลี่ยนแปลงหรือยัง” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย  เชิญผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และทิศทางในอนาคต ซึ่งมีมุมมองที่ทั้งสอดคล้อกันและแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ

เช่น ความเห็นที่แตกต่างจากกระแสในปัจจุบัน ของ “องอาจ พงษ์กิจวรสิน” นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ระบุว่า เมื่อพูดถึงพลังงานไฟฟ้า จะขอเน้นไปที่ 2 กลุ่มคือ รถพลังงานไฟฟ้า 100% หรือ “อีวี” และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งปัจจุบันตลาดนี้ทั่วโลกมีขนาดที่เล็กมาก ประมาณ 2ล้านคัน/ปี จากยอดขายทั่วโลก 90 ล้านคัน ขณะที่ในไทยก็มีตลาดที่เล็กมากเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะความต้องการในตลาด ส่วนใหญ่เป็น “ดีมานด์ เทียม” ที่เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐ แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ที่เห็นชัดเจน เช่น “นอร์เวย์” หรือว่า “จีน” อย่างไรก็ตามทราบว่าจีนเองก็เริ่มทบทวนนโยบายนี้แล้วเช่นกัน

การทื่ต้องสนับสนุนเพราะต้นทุนยังมีราคาแพง เช่น แบตเตอรี หรือชุดขับเคลื่อน แม้จะมีทิศทางราคาที่ลดลง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง

ขณะที่ไทย ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ผลิต และใช้งาน แต่ถือว่ายังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ เพราะมีทั้งไฮบริด ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี เห็นว่าควรกำหนดทิศทางแน่ชัดว่าจะมุ่งไปที่ตัวไหน

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ควรดูความต้องการของตลาด และไม่เฉพาะในประเทศ เพราะเป้าหมายคือการให้ไทยเป็นฐานการผลิต แต่เมื่อตลาดทั่วโลกยังเล็ก จึงต้องหันว่าถามตัวเอง ผลิตแล้วจะส่งออกไปขายให้กับใคร

เท่าที่คุยกับผู้บริโภค ส่วนใหญ่เมื่อซื้อรถ มองว่าถ้าคุ้มค่าก็จะซื้อ ไม่มีเหตุผลการซื้อจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม”

นอกจากนี้ยังต้องการให้มองในภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ของโลก และมองการเปลี่ยนแปลงว่าจะส่งผลกระทบกับใครหรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองถึงภาพรวมอุตสหกรรมยานยนต์ปัจจุบัน ว่ามีส่วนใดที่มีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้ขยายตลาดในเวทีโลกได้

ด้าน “กฤษฎา อุตตโมทย์” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ให้ข้อมูลว่า ตลาด เอ็กซ์อีวี หรือรถทุกประเภทที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบทั่วโลกมีสัดส่วน 2.5% ขณะที่ไทยซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์และจักรยานยนต์วิ่งอยู่บนท้องถนน 40ล้านคัน มีเอ็กซ์อีวี 0.2% ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก แต่ถ้ามองถึงทิศทางก็เห็นว่ามีการเติบโตที่น่าสนใจ เช่น ในส่วนของรถยนต์ปี 2561มียอดจดทะเบียนอีวี 300 คัน แต่ปี 2562 เพิ่มเป็น 1,500คัน และช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ปีนี้ มี2,000 คัน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วทั้งปี

ขณะที่ยอดจดทะเบียน เอ็กซ์อีวี ปีที่แล้วมีจำนวน 3 หมื่นคัน

การที่ยอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น มาจากการขยายตัวของส่วนต่างๆ รวมถึงสินค้าที่มีให้เลือกมากขึ้น โดยเฉพาะรถในตลาดแมส (mass) เช่น การมาของ เอ็มจี แซดเอส อีวี ที่เปิดตัวในระดับราคา 1.19 ล้านบาท และล่าสุดก็เปิดตัวในตลาดที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท คือ อีพี และในอนาคต จะเห็นการเข้ามาของ เกรทวอลล์ รวมถึงยี่ห้ออื่นๆ ก็ขยับตัวเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนผลักดันตลาดอีวีให้ขยายตัว

แต่ทั้งนี้การจะเร่งการเติบโต จำเป็นจะต้องปรับการดำเนินงานใหม่ เช่น ภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 จะต้องมี “เอ็กซ์อีวี” 30% เห็นว่า ควรจะปรับใหม่เป็นกำหนดให้มี 70% เพื่อเป็นการกระตุ้นทั้งนโยบายและการดำเนินงาน

นอกจากนี้จะต้องเพิ่มการสนับสนุนที่ลงลึกไปถึงประชาชนผู้ใช้รถ จากปัจจุบันมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ หลักๆ เป็นการสนับสนุนผู้ผลิต

“หลายประเทศที่ตลาดเติบโตและมีขนาดใหญ่ เพราะมีอินเซนทีฟให้ผู้ซื้อรถ เช่น นอร์เวย์ ที่ไม่จัดเก็บภาษี มูลค่าเพิ่ม 25% หรือการใช้ชาร์จไฟฟรี และสมาคมก็เคยเสนอไปเมื่อ 2 ปีก่อนให้หักลดหย่อยภาษีได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐไม่ต้องควักกระเป๋า”

พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าเมื่อ 15 เดือน ที่แล้ว เอ็มจี รุกตลาดอีวีเป็นครั้งแรกด้วยรุ่น แซดเอส อีวี ถึงปัจจุบันมียอดขายมากว่า 2,000คัน

อย่างไรก็ตามหากดูตามรายปี ปี 2562 มี่ยอดขาย1,200 คัน ส่วนปีนี้ประมาณ 1,000 คัน ซึ่งยอดขายที่ลดลง จากการหาข้อมูลจากผู้บริโภคพบว่ามาจากความกังวลเรื่องสาธารณูปโภค นั่นคือ จุดชาร์จ ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่จะผลักดันให้ตลาดเติบโต คือ การเพิ่มจุดชาร์จ โดยในส่วนของเอ็มจี ปีนี้ติดตั้ง สถานีชาร์จเร็ว (ควิกชาร์จ) 100 แห่ง ที่ตัวแทนจำหน่าย และปีหน้าจะเพิ่มอีก 500 แห่ง ทำให้มั่นใจว่าปีหน้า ลูกค้าที่ลังเล จะตัดสินใจซื้อ อีวี

แต่สิ่งที่เป็นจุดดีที่จะส่งเสริมตลาด คือ ผู้บริโภคเห็นแล้วว่า อีวี เป็นรถที่มีเทคโนโ ลยีสูง แต่ใช้งานงานง่าย มีชิ้นส่วนประกอบน้อยลง ไม่จุกจิก

คนรู้ถึงข้อดีของอีวี ดังนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อม จุดชาร์จพร้อม ก็จะถึงเวลาของอีวีในประเทศไทย”