ชุมชนยิ้มเกษตรกรยิ้ม “โควิด-19” ดันยอด “กล้วยน้ำว้า” พุ่ง!

ชุมชนยิ้มเกษตรกรยิ้ม “โควิด-19” ดันยอด “กล้วยน้ำว้า” พุ่ง!

เทรนด์รักสุขภาพจากช่วงโควิด-19 สร้างตลาดให้ "กล้วยน้ำว้า" ได้มีที่ยืน ทั้งในท้องตลาด และในร้านสะดวกซื้อ จนเกษตรกรและคนในชุมชนลืมตาอ้าปากกันได้อีกครั้ง

ในวิกฤตยังมีโอกาส แม้ “โควิด-19” จะสร้างความเสียหายไปทั่ว แต่อีกมุมหนึ่ง เมื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ ก็อาจได้พบกับความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ เหมือนกับ “กล้วยน้ำว้า JIB” ที่ยอดขายพุ่งช่วงโควิด ทำเอาเกษตรกรและคนในชุมชนจังหวัดเพชรบุรียิ้มได้ เพราะนอกจากจะไม่ตกงานยังมีรายได้เพิ่ม จากเดิมส่งกล้วยเข้าร้านสะดวกซื้อ วันละ 1,800 แพ็ค หรือ 3,600 ลูก ช่วงวิกฤตขยับเพิ่มเป็น 2,800 แพ็ค หรือ 5,600 ลูก

ตัวเลขนี้ได้อานิสงส์จากคนรักสุขภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนได้รับความช่วยเหลือจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายด้วยโปรโมชั่นต่างๆ อาทิ บริการ 7 Delivery อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอยู่บ้านก็ชอปปิงได้ ล่าสุดผลประกอบการโตต่อเนื่องจนเจ้าของกิจการเป็นเศรษฐีเงินล้าน

ช่อทิพย์ อุฮุย หรือ “จิ๊บ” เจ้าของกิจการ "กล้วยน้ำว้า" แบรนด์ JIB ย้อนเรื่องราวชีวิตให้ฟังว่า หลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยึดอาชีพขายส่งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า โดยจะขับรถจากจังหวัดเพชรบุรีไปขายที่กรุงเทพฯ และ ชลบุรี เฉลี่ยวันละ 80 – 100 กิโลกรัม เป็นเวลานานกว่า 5 ปี จนกระทั่งอายุ 20 ปี แต่งงานมีครอบครัว กลับมาขายส่งกล้วยที่บ้านเกิด ตลาดท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ เฉลี่ยวันละเกือบ 4 ตัน

กิจการกล้วยเหมือนว่าจะราบรื่น กระทั่งปี 2557 – 2559 เธอได้รับผลกระทบจากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ราคาผลไม้ตกต่ำ กล้วยเหลือเยอะมาก แก้ไขด้วยการนำไปขายต่อโรงงานแปรรูป ถูกกดราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท

160782513122

160782513925

“ช่วงที่กล้วยล้นตลาด เราขายกล้วยแทบไม่ได้เลย ต้องส่งโรงงานแปรรูป ประสบปัญหาต่อเนื่อง 2 ปี เคยถูกกดราคาต่ำสุด จากหวีละ 20 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท นอกจากนั้นโรงงานที่รับซื้อกล้วยยังจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ขณะเดียวกันคู่แข่งก็เยอะขึ้นมาก สุดท้ายแบกรับต้นทุนไม่ไหว ขอยุติส่งกล้วยให้โรงงาน แล้วเดินเข้าไปหาร้านเซเว่น อีเลฟเว่น”

ช่องทางร้านสะดวกซื้อนับเป็นเป้าหมายใหม่ในชีวิต เธอเล่าว่า มีอยู่วันหนึ่งเอากล้วยไปส่งโรงงาน แต่แล้วจู่ๆ โรงงานไม่รับซื้อ โดยที่ไม่บอกเหตุผล รู้สึกท้อแท้ หมดหวัง เบื่อหน่ายกับความไม่แน่นอน เลยขับรถไปคลังสินค้าซีพี ออลล์ เข้าไปขอเบอร์ฝ่ายจัดซื้อ ลองโทรศัพท์ปรึกษา บอกว่า จะขายกล้วยน้ำว้า และได้รับการติดต่อกลับ ให้นำกล้วยน้ำว้าเข้าไปขายในร้านเซเว่นฯ ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก

แต่กว่าสินค้าจะออกสู่มือผู้บริโภคต้องได้มาตรฐาน ช่อทิพย์ให้ข้อมูลต่อว่า กลับมาสร้างโรงแพ็คกล้วยเป็นเวลา 4 เดือน บนพื้นที่ขนาด 52 ตารางวา ลงทุนไป 8 แสนบาท กล้วยน้ำว้าวางจำหน่ายครั้งแรก 8 กุมภาพันธ์ 2561 ส่งร้านเซเว่นฯ สาขาภาคใต้ วันละ 500 แพ็ค แพ็คละ 2 ลูก หลังจากนั้นยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปัจจุบันส่งเซเว่นฯ 1,000 กว่าสาขา ส่งกล้วยวันละ 6,000 ลูก หรือราว 3,000 แพ็คต่อวัน

ด้านพื้นที่ปลูก "กล้วยน้ำว้า" เจ้าของกิจการ ปลูกเอง 5 เปอร์เซ็นต์ และรับซื้อจากเกษตรกรมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ โดยเธอบอกว่า ปลูกเอง 20 ไร่ รับซื้อจากเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี 16 สวน ราว 300 ไร่ ให้ความช่วยเหลือคู่ค้า 5 อย่าง คือ ประกันราคา ให้ถุงห่อกล้วย ลงตรวจแปลงกล้วย เก็บเกี่ยวผลผลิต และให้เกษตรกรยืมเงินลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย รายละ 5,000 บาท เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเกือบทั้งหมด

160782514053

สำหรับระยะเวลาการเก็บเกี่ยว "กล้วยน้ำว้า" เจ้าของกิจการ ให้ข้อมูลว่า จะตัดกล้วยทุกวัน แต่ละสวนเว้นรอบนาน 10 วัน สเปกกล้วยที่เลือกใช้ต้องปลูก 12 - 14 เดือน น้ำหนักต่อลูก 80 กรัม หลังเก็บกล้วยมาจากสวน จะพักไว้ในห้องแอร์ก่อนขาย 2 วัน เพื่อให้ยางแห้ง จุดเด่นของกล้วยน้ำว้า JIB เป็นกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์กาบขาว กาบเขียว และ ปากช่อง 50 เหนียวหนึบ หวาน รสชาติดี เคล็ดลับสำคัญอยู่ที่กรรมวิธีการบ่ม ช่วยให้กล้วยมีเนื้อที่ละเอียดแตกต่างจากที่อื่น

ในส่วนของรายได้ หญิงสาวคนขยัน บอกว่า ปี 61 มีรายได้ 2 ล้านบาท ปี 62 ขยับขึ้นมา 4 ล้านบาท ล่าสุดปี 63 ตั้งเป้ายอดขาย 7 ล้านบาท ส่วนเกษตรกร 16 สวนที่ส่งกล้วยให้ แต่ละสวนมีรายได้ เฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท

หลังจากที่ได้รับโอกาสและความช่วยเหลือ เกษตรกร SME คนนี้ เผยความในใจว่า จากที่เป็นคู่ค้ากันมา 3 ปี ได้รับการช่วยเหลือทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่สร้างโรงงาน มีทีมตรวจสอบคุณภาพเข้ามาให้คำแนะนำ ช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตั้งราคาขาย วางแผนการตลาด ฯลฯ ไม่คิดว่าองค์กรใหญ่จะให้ความสำคัญกับแม่ค้าตัวเล็กๆ ที่เรียนจบไม่สูง ซีพี ออลล์ ช่วยสร้างงานที่มั่นคง มีออร์เดอร์ที่แน่นอน และมี Credit Term ในการชำระเงินที่ทำให้ SME บริหารจัดการการเงินได้อย่างคล่องตัว กระจายรายได้ช่วยสร้างรอยยิ้มให้ชาวสวน ไม่ต้องโค่นต้นกล้วยในยามที่ราคาตกต่ำ ลูกน้องทุกคนมีงานทำ ไม่มีใครตกงานเลย