ถอดรหัสแล้วโควิด 'ท่าขี้เหล็ก' สายพันธ์ G จากอินเดีย

ถอดรหัสแล้วโควิด 'ท่าขี้เหล็ก' สายพันธ์ G จากอินเดีย

อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุจากการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 จากท่าขึ้เหล็กพบว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศอินเดีย เข้าสู่เมียนมาและเข้าสู่ประเทศไทย แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด

วันนี้ (12 ธันวาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข .นนทบุรี  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรการสำคัญที่ป้องกันการแพร่กระจายของโรค จากการสำรวจ พบว่า คนไทยสวมหน้ากากอนามัยสูงมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งช่วยให้ป้องกันการแพร่ระบาดได้ และหากทุกคนสวมหน้ากากความปลอดภัยจากโรคโควิด 19 จะสูงขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ลงอย่างชัดเจนมากกว่า 10 เท่า ยืนยันว่าการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งในที่สาธารณะ เป็นมาตรการสำคัญลดโรคติดต่อทางเดินหายใจได้

"อย่างไรก็ตาม เชื้อโควิด 19 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น เชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลกกว่าร้อยละ 80 ในขณะนี้คือสายพันธุ์ G ซึ่งแตกต่างสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดจากอู่ฮั่น  โดยสายพันธุ์ G มีแนวโน้มการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายกว่าเดิม แต่ความรุนแรงของโรคน้อยลง  การทดสอบในวัคซีนถือว่ามีประสิทธิภาพดี เกินกว่าร้อยละ 70และจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศอินเดีย เข้าสู่เมียนมาและเข้าสู่ประเทศไทย สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้"

ขอยืนยัน ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีจุดใดที่มีการระบาด การจัดกิจกรรมต่างๆทำได้ โดยขอให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ 1) ผู้จัดงาน ต้องเตรียมมาตรการต่างๆ ให้พร้อม เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัย จัดจุดล้างมือให้เพียงพอ สแกนไทยชนะ และแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ผู้ร่วมงานรับทราบ 2) ผู้เข้าร่วมงาน ขอให้สวมหน้ากากอนามัยแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อมีการสัมผัสจุดร่วมให้ล้างมือทำความสะอาด สแกนไทยชนะและเมื่อกลับจากร่วมกิจกรรม ให้สังเกตอาการ หากไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าร่วมกิจกรรม 3) เจ้าหน้าที่ให้ติดตามกำกับผู้ประกอบกิจกรรม หากพบว่าไม่ให้ความร่วมมือ ต้องตักเตือน หากยังไม่ปฏิบัติตาม ให้แจ้งระงับกิจกรรม หรือปิดสถานที่  หากทุกคนร่วมมือกันจะทำให้ท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุข” นพ.โอภาส กล่าว

ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด19 ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์  หลังจากรายที่ 1 พบการติดเชื้อ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน มีการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 4 ราย (รายที่ 2,3,4,5) ต่อมาเมื่อตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 พบเพิ่มอีก 1 ราย (รายที่ 6) ขณะนี้ทุกรายอยู่ในการดูแลของแพทย์และอาการน้อย ไม่รุนแรง

สำหรับผู้ติดเชื้อรายล่าสุด เพศหญิง อายุ 29 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 31 ราย ในระบบเฝ้าระวัง พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยสรุปผลตรวจผู้สัมผัสของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 888 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 51 ราย พบติดเชื้อเพียง 1 ราย (รายที่6) ซึ่งรายนี้มีผู้สัมผัส 10 คน ได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วทั้งหมดผลเป็นลบ สถานการณ์สามารถควบคุมได้ และต้องติดตามสังเกตอาการจนครบ 14 วัน

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2563 มีผู้ป่วยรายใหม่ 12 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 12 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 4,192 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,462 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ1,730 ราย เข้าสถานที่กักกัน 1,204 ราย หายป่วยสะสม 3,915 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 217 ราย และเสียชีวิตสะสม 60 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดเดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตามระบบ ได้แก่ เยอรมนีสวีเดน สหราชอาณาจักร อินเดีย คูเวตประเทศละ 1 ราย และบาเรนห์ 7 ราย แบ่งเป็นคนไทย 9 ราย และคนต่างชาติ 3 ราย ทั้งหมดเข้ารับการรักษาตามระบบแล้ว โดยเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 11 ราย มีอาการ 1 ราย คือ ปวดศีรษะ

ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศ ทั่วโลกยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการแพร่ระบาดส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูหนาวทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยในวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 702,513 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 71,432,996 ราย ซึ่งคาดจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอาจมากกว่าที่ได้รับรายงานอยู่มากโดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 16.2 ล้านราย  อินเดีย 9.8 ล้านราย บราซิล 6.8 ล้านราย รัสเซีย 2.5 ล้านราย ฝรั่งเศส 2.3 ล้านราย