จาก “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” ถึงยกเลิก “ ม.112”

จาก “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” ถึงยกเลิก “ ม.112”

'ยูเอ็น' ถูกกลุ่มต่างๆ พยายามดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศไทยหลายครั้ง ล่าสุด 'คณะราษฎร' ใช้ปม ‘ม. 112’เพื่อยกระดับให้ประเด็นนี้ได้เข้าสู่สากล สถานการณ์จึงถาโถมเข้าใส่ 'ประยุทธ์' อีกครั้ง

ผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวรวมตัวกันในนาม "กลุ่มราษฎร" ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา จนทำให้ "กลุ่มราษฎร" โดนแจ้งดำเนินคดีม.112 ไปแล้วอย่างน้อย 17 คน ทำให้แกนนำม็อบจำเป็นต้องเปลี่ยนเกม ทั้งการเคลื่อนบนถนน การเคลื่อนระดับโลก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ถือฤกษ์งามยามดีวันรัฐธรรมนูญ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เชิญชวนราษฎรทั้งหลายมารวมตัวกันเรียกร้องต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (ยูเอ็น)  เพื่อยกเลิกม.112

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มวลชนใช้กลยุทธ์รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องต่อยูเอ็น ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับโลก 
ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน ในช่วงที่การชุมนุมของคนเสื้อแดง นปช.กำลังระอุที่สี่แยกคอกวัวและสี่แยกราชประสงค์ วันที่ 19 เม.ย. 2553 ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดง เข้ายื่นหนังสือต่อยูเอ็นให้ช่วยสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง 

โดยยืนยันว่าเป็นการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย พร้อมกับขอให้กองกำลังสันติภาพเข้ามาช่วยรักษาความปลอดภัยกับกลุ่มคนเสื้อแดง และเรียกร้องให้ยูเอ็นช่วยศึกษาเหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553

ท่าทีของยูเอ็นปรากฏใน 1 เดือนถัดมา วันที่ 19 พ.ค. สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นางนาวี พิลเลย์ หัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์กรสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดงใช้การเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง 

โดยระบุว่าเป็นเพียงหนทางเดียว มิฉะนั้นสถานการณ์จะไม่สามารถควบคุมได้ กลุ่มผู้ประท้วงควรก้าวถอยจากปากเหว และรัฐบาลก็ต้องออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงใช้ความอดทนอดกลั้นจนถึงที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่านี้

วันที่ 26 ต.ค. 2553 คนเสื้อแดงหลายร้อยคนรวมตัวกันหน้าที่ทำการสหประชาชาติ เพื่อรอยื่นหนังสือถึงนายบัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็นในโอกาสมาเยือนประเทศไทย ในโอกาสนี้มีคณะซึ่งได้ติดต่อขอเข้าพบนายบัน คี มูน ไว้ก่อนแล้วเดินทางมาตามนัดหมาย ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุม นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช.และส.ส.เพื่อไทย จารุพรรณ กุลดิลก นักวิชาการ และนายรุ่งโรจน์ วรรณศูทร นักเขียน/นักกิจกรรม 

ทั้งหมดร่วมกันล่ารายชื่อจดหมายเรียกร้องให้ยูเอ็น เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมในประเทศไทย แต่ไม่ได้เข้าพบนายบันเพราะติดธุระสำคัญ ได้แค่ยื่นหนังสือต่อเลขาฯส่วนตัวของนายบัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็น โดยได้พูดคุยกันราว 20 นาที 

โดยเจ้าหน้าที่ยูเอ็นยืนยันว่าจะนำหนังสือดังกล่าวส่งต่อถึงมือนายบัน คี มูน โดยตรงไม่ผ่านรัฐบาลไทย และทางยูเอ็นนั้นเข้าใจสถานการณ์และสภาพจิตใจของประชาชนไทยเป็นอย่างดี

ในวันเดียวกันนั้น นายบัน คีมูน  แถลงการณ์ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ยูเอ็นมองว่าควรเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย และควรได้รับการแก้ไขกันเองเป็นการภายใน โดยหวังว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะมีการสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใส รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการตรวจสอบด้วย

ท่าทีของนายบันเป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติ หมวดที่ 1 ข้อที่ 2.7 ที่ว่า “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะให้อำนาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซง ในเรื่องซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วตกอยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐใดๆ หรือจะเรียกให้สมาชิกเสนอเรื่องเช่นว่าเพื่อการระงับตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน แต่หลักการนี้จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้มาตรการบังคับตามหมวดที่ 7”

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในแวดวงกฎหมายระหว่างประเทศเผยว่า หลังจากนั้นในปี 2554 กระทรวงยุติธรรม "ต้องไปชี้แจงในเวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และตอบคำถามต่างๆ ก็เสียหน้าไปเยอะ หลายประเด็นต้องขอชี้แจงเป็นหนังสือภายหลัง ระบบของยูเอ็นบังคับรัฐไม่ได้ แต่ทำให้เสียหน้าได้" 

สำหรับการรวมตัวกันหน้ายูเอ็นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.เพื่อยกเลิกมาตรา 112 เห็นได้ชัดว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องเขตอำนาจภายในของรัฐไทย ไม่เข้าองค์ประกอบที่ยูเอ็นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กิจกรรมนี้อาจเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ที่เรียกว่า “ยกระดับการชุมนุม” ในแนวทาง “โลกล้อมประเทศ” หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเคยไปรวมตัวกันและยื่นหนังสือสอบถามความชัดเจนเรื่องกษัตริย์ ต่อสถานทูตเยอรมนีมาแล้วและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ยืนยันว่าจะยื่นเรื่องให้รัฐบาลเยอรมนีพิจารณาต่อไป

แรงกดดันจากขบวนการเคลื่อนไหวในไทย ผนวกกับกลุ่มคนไทยในยุโรป ทำให้ ส.ส.เยอรมนีต้องยื่นกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องรัชกาลที่ 10 ที่นายไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศต้องชี้แจงเรื่องนี้ต่อสภา 

การเคลื่อนไหวที่ยูเอ็นก็เช่นกัน แม้ยูเอ็นจะไม่ดำเนินการบังคับรัฐอย่างเป็นรูปธรรม แต่การชุมนุมจะเป็นการยกระดับข้อเรียกร้องในแวดวงสากล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศรายงานถึง มาตรา 112 ของไทยมาก ระบุว่าเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรง เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้จัดการคนเห็นต่างทางการเมือง

โดยในปี 2560 นาย เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพด้านความคิดเห็นและการแสดงออก กล่าวในเอกสารเผยแพร่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (โอเอชซีเอชอาร์) เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกีดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

"กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีที่ยืนในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ผมเรียกร้องให้ทางการไทยพิจารณาทบทวนประมวลกฎหมายอาญาและให้มีการเพิกถอนมาตราที่ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดในคดีดังกล่าว" นายเคย์ กล่าวในเอกสารเผยแพร่

"บุคคลสาธารณะ รวมทั้งผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการเมืองอาจตกเป็นเป้าวิจารณ์ได้ และถึงแม้การแสดงออกทางความคิดในบางรูปแบบอาจถูกมองว่าเป็นการหมิ่นประมาทได้ แต่การพยายามขัดขวางและดำเนินการลงโทษถือเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม"

ดังนั้นความเคลื่อนไหวในการยื่นให้ยูเอ็นเข้ามากดดันไทยตามยุทธศาสตร์โลกล้อมไทย แม้จะยากจะที่ยูเอ็นจะกดดันกิจการภายในประเทศของไทยได้ แต่ต้องจับตาแอ๊คชั่นต่อไปของยูเอ็นที่จะตามมา

แม้ยูเอ็นจะเคยมีข้อบาดหมางกับไทยในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์การดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดของไทย  ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
จนทำให้ "ทีกษิณ" หล่นวาทะสะเทือนโลก  "อย่ามาห่วง ยูเอ็นไม่ใช่พ่อผม เราเป็นสมาชิกยูเอ็นก็ว่ากันไปตามกติกาโลก คุณอย่าไปถามมาก ไม่มีปัญหา มาก็มา สอบก็สอบ.."

ทว่าบริบทการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ยูเอ็นมองเห็นหลายปัญหาในประเทศไทย การชุมนุมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้สะท้อนปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรหม จนคนไทย-นานาชาติ เริ่มตระหนักรู้มากขึ้น

เกมร้องยูเอ็นจึงเป็นปมที่ "พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาล" ต้องคิดเพราะต้องชี้แจงให้ประชาคมโลกได้รับรู้-เข้าใจ แถมจะต้องเสี่ยงกับมาตราการทางการต่างประเทศที่อาจจะโดนปรับลดความสัมพันธ์