ยุทธศาสตร์100วันโควิดภารกิจแรก'โจ ไบเดน'

ยุทธศาสตร์100วันโควิดภารกิจแรก'โจ ไบเดน'

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐยังน่าเป็นห่วง ยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละรัฐยังคงเพิ่มขึ้น เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของว่าที่ประธานาธิบดีคนที่46 ของสหรัฐว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้วิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้บรรเทาลง

“โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วง 100วันแรกของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีของประเทศ แม้ยอมรับว่าโรคโควิด-19 ยังไม่หมดไปจากแผ่นดินสหรัฐในเร็วๆนี้

ไบเดน ซึ่งมีกำหนดสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า ประกาศยุุทธศาสตร์ 100 วันต่อสู้โรคโควิด-19 โดยให้มีผลทันทีที่เขารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเพื่อเปลี่ยนทิศทางของโรคโดยแผนที่ว่านี้ มีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญรวมถึง การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การให้โรงเรียนส่วนใหญ่กลับมาจัดการเรียนการสอนตามปกติในห้องเรียน พร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสูงสุด 30,000 ล้านดอลลาร์ และฉีดวัคซีนให้ชาวอเมริกัน 100 ล้านคนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งการเข้ารับการฉีดวัคซีนนี้ ประชาชนจะไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ไบเดนยังแนะนำคณะทำงานด้านนโยบายสาธารณสุขในรัฐบาลชุดใหม่ 7 คน ซึ่งมีกำหนดเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 20 ม.ค. รวมถึง“ฮาเวียร์ บีเซอร์รา” ผู้ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งรมว.กระทรวงสาธารณสุข พล.ร.ท.นพ.วิเวก เมอร์ธีย์ ว่าที่เจ้ากรมการแพทย์ และพญ.โรเชล วาเลนสกี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ( ซีดีซี )

แม้บีเซอร์ราไม่ได้สำเร็จการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และงานด้านสาธารณสุข และไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการทำงานด้านนี้มาก่อน แต่การที่ไบเดนเลือกให้เตรียมทำหน้าที่บริหารกระทรวงสาธารณสุข น่าจะมาจากทรรศนะของบีเซอร์รา ซึ่งมีจุดยืนหนักแน่น ว่าสนับสนุนกฎหมายประกันสุขภาพ ที่รู้จักกันในชื่อ “โอบามาแคร์” เนื่องจากเกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เมื่อปี 2557 และไบเดนต้องการผลักดันให้มาตราของกฎหมายที่ถูกระงับไปโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมามีผลบังคับใช้อีกครั้ง

ด้านนพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติ ( เอ็นไอเอช ) ตอบรับคำเชิญไบเดน ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง ในตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อตอบสนองวิกฤติโรคโควิด-19 โดยไบเดนจะแต่งตั้งให้นพ.เฟาซีเป็นหัวหน้าคณะทำงานอย่างเป็นทางการ และเตรียมดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำตัวประธานาธิบดีด้วย

ขณะที่ ทำเนียบขาวเสนอร่างมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ฉบับใหม่ วงเงิน 9.16 แสนล้านดอลลาร์ต่อสภาคองเกรส ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน

“สตีเวน มนูชิน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ระบุหลังยื่นข้อเสนอมาตรการดังกล่าวต่อแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่า ข้อเสนอนี้รวมถึงเม็ดเงินสำหรับรัฐบาลระดับรัฐและท้องถิ่น ตลอดจนการคุ้มครองความรับผิดที่แข็งแกร่งสำหรับภาคธุรกิจ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย

มนูชิน เปิดเผยว่า เขาได้ทบทวนข้อเสนอดังกล่าวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ และผู้นำรัฐสภาของพรรครีพับลิกันแล้ว

“ผมหวังว่าเราจะบรรลุข้อตกลงร่วมระหว่างสองพรรค เพื่อที่เราจะสามารถบรรเทาวิกฤตทางเศรษฐกิจแก่คนงาน ครอบครัว และธุรกิจชาวอเมริกันได้” มนูชิน กล่าว

ข้อเสนอใหม่ที่จัดทำขึ้นโดยทำเนียบขาวครั้งนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของฝ่ายคณะบริหารของปธน.ทรัมป์ นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยาวนานหลายเดือนในการเจรจาเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในสหรัฐนั้น Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 15,370,339 ราย และมีผู้เสียชีวิต 290,474 ราย ทำให้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต

รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในประเทศ จำนวน 1,396,453 ราย ขณะที่รัฐเท็กซัสตามมาเป็นที่ 2 โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,366,709 ราย ส่วนรัฐฟลอริดามีผู้ติดเชื้อ 1,065,785 ราย, รัฐอิลลินอยส์มีผู้ติดเชื้อ 796,264 ราย และรัฐนิวยอร์กมีผู้ติดเชื้อ 752,073 ราย แต่รัฐนิวยอร์กมีผู้เสียชีวิตสูงสุดในสหรัฐ จำนวน 35,097 ราย