‘อียู-อาเซียน’ประชุมผู้เชี่ยวชาญวัคซีนโควิดครั้งแรก

‘อียู-อาเซียน’ประชุมผู้เชี่ยวชาญวัคซีนโควิดครั้งแรก

ผู้เชี่ยวชาญจากอียูและอาเซียน จัดประชุมทางไกลแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านนโยบายที่ได้ผล รวมทั้งสำรวจความเป็นไปได้ในการร่วมมือค้นคว้าวิจัยและผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสโควิด-19 ในอนาคต

สหภาพยุโรปและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ต่างก็เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาค  จึงมีเป้าหมายร่วมในอันที่จะสนับสนุนแนวทางพหุภาคี เพื่อทำให้ประชากรโลกโดยรวมสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและในราคาที่สมเหตุสมผลได้อย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม ทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมทางไกลขึ้นในวันที่ 8 ธ.ค.

การประชุมแบ่งออกเป็นสองส่วน แต่ละส่วนก็เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบด้านนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียนได้มาสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์ รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ในการอนุมัติ การผลิต และการกระจายวัคซีนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“ในการร่วมกันป้องกัน ตรวจหา และรับมือไวรัสโคโรนา อาเซียนและสหภาพยุโรปได้ร่วมมือและประสานงานกันในหลายระดับกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม เพื่อให้สามารถรับมือกับการระบาดครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่เราจัดขึ้นผ่านทางออนไลน์ในครั้งนี้จะช่วยเอื้อและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น และยิ่งกระชับความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งอยู่แล้วของทั้งสองฝ่ายในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบาย อันจะนำไปสู่การเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและในราคาที่สมเหตุสมผลได้อย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรมสำหรับทุกคน” ฯพณฯ กุง ฝก รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าว

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ พีอ็อท ที่ปรึกษาพิเศษด้านโควิด-19 ของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และผู้อำนวยการ London School of Hygiene & Tropical Medicine กล่าวว่า “วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้โลกเราสามารถเอาชนะวิกฤตโควิด-19 จะยังไม่มีประเทศไหนที่ปลอดภัยจากการระบาดจนกว่าทุกประเทศจะปลอดภัยกันหมด ความร่วมมือและความเป็นผู้นำของอาเซียนและสหภาพยุโรปยิ่งทวีความสำคัญในปัจจุบันในการที่จะสร้างหลักประกันว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม จะสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง”

ก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายเคยยืนยันเจตนารมณ์ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป-อาเซียนครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา อีกทั้งได้แสดงความมุ่งมั่นในอันที่จะสนับสนุนความพยายามที่จะทำให้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นสินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะของโลก รวมทั้งทำให้การจัดหาวัคซีนนั้นเป็นการดำเนินงานร่วมของทุกฝ่าย และเพื่อให้เจตนารมณ์นี้สัมฤทธิ์ผล สหภาพยุโรปจึงได้จัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนทั้งสิ้น 500 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาและจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีนให้ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างหลักประกันแก่ประชาคมโลกว่าทุกประเทศจะสามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้อย่างเสรีและเป็นธรรม 

ปัจจุบัน  มีประเทศทั้งสิ้น 189 ประเทศแล้วที่เข้าร่วมโครงการ COVAX ความร่วมมือเพื่อพัฒนาวัคซีนนี้เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือที่สหภาพยุโรปได้ให้แก่อาเซียนอย่างครอบคลุม โดยมีความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่า 800 ล้านยูโร ภายใต้ชุดมาตรการที่ถูกขนานนามว่า “ทีมยุโรป” เป็นความช่วยเหลือหลัก นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพยุโรปก็ได้เปิดตัวโครงการมูลค่า 20 ล้านยูโรในชื่อว่า South-East Asia Pandemic Response and Preparedness ซึ่งจะดำเนินการโดยองค์การอนามัยโลกเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19