ชวนคนไทยตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฟรี

ชวนคนไทยตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฟรี

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยอยู่ใน 3 อันดับแรกของโรคมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.4 เท่า

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยให้สามารถพบผู้ป่วยได้ในระยะแรกเริ่มเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาตามมาตรฐานจะมีผลการรักษาดีกว่าการรักษาในระยะแพร่กระจายและลดอัตราการเสียชีวิต

ทั้งนี้ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือแบคทีเรียต่างๆ การเข้าถึงการตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญอย่างมาก การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเป็นวิธีที่มีประโยชน์ดูแลรักษาและป้องกันโรคนี้

160750425619

ปัจจุบันมีหลากหลายเทคนิควิธีการ โดยวิธีที่มักถูกนำมาใช้คือการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่ง 2 เทคโนโลยี เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography) และการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นวิธีการคัดกรองที่แม่นยำ และมีความไวในการตรวจจับดีมาก

โครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พบว่าจากการตรวจประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 50-65 ปี 3,231 ราย พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจำนวน 30 ราย เป็นระยะที่ 1,2 ที่ยังไม่ได้มีการแพร่กระจาย 80-90% ตรวจพบเป็นติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกจำนวน 701 ราย จึงได้จัดทำ“โครงการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่หลากหลาย”ให้แก่ผู้ที่อายุ 50-70 ปี จำนวน 1,300 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงมากขึ้น

160750395817

ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล” รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข กล่าวว่าการรักษา ทำให้ผู้เข้าร่วมในโครงการนี้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ต่างจากกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยผ่านการตรวจคัดกรองซึ่งจะเป็นโรคในระยะแพร่กระจายถึง 70-80% ลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ปฏิบัติกันแต่ละวิธีจะต้องเหมาะกับบุคคลและสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมี เทคโนโลยี ที่สามารถเห็นติ่งเนื้อ หรือมะเร็งในลำไส้ใหญ่ นั่นคือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography) ซึ่งสามารถสร้างภาพของลำไส้ใหญ่ได้คล้ายกับการส่องกล้อง และมีประสิทธิภาพสูง โดยสามารถค้นหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ขนาด 6 มิลลิเมตร ที่ค่า Sensitivity 82.9%, Specificity 91.4% ติ่งเนื้อขนาด 10 มิลลิเมตร ที่ค่า Sensitivity 87.9%, Specificity 97.6% ซึ่งติ่งเนื้อเหล่านี้ถ้าทิ้งนานไปอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

นอกจากนั้นมีเทคนิคการตรวจที่สามารถลดการตรวจจับผิดว่าอุจจาระที่ติดค้างในลำไส้เป็นติ่งเนื้อ ส่งผลให้การตรวจแม่นยำเพิ่มขึ้น และวิธีการตรวจ CT Colonography ยังสามารถใช้เสริมการตรวจโดยวิธีส่องกล้องดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต่าง ๆ ซึ่งมีลำไส้อุดตันและไม่สามารถผ่านกล้องเข้าไปได้ นอกจากนี้ ยังสามารถดูผนังด้านนอกลำไส้ใหญ่ และอวัยวะภายในช่องท้องซึ่งไม่สามารถเห็นด้วยการส่องกล้องได้

ส่วนอีกเทคโนโลยี คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือการทำ Colonoscopy ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการประเมินปัญหาในลำไส้ใหญ่ โดยใช้กล้องส่องลำไส้ใหญ่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ผอม ยาว และยืดหยุ่นได้ มีกล้องวิดีโอและดวงไฟขนาดเล็กมากติดอยู่ที่ปลายท่อ

160750411738

เมื่อทำการขยับและปรับกล้องส่องลำไส้ใหญ่อย่างเหมาะสมแล้ว แพทย์จะสามารถเคลื่อนไหวกล้องดังกล่าวในลำไส้ใหญ่ให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ ภาพที่กล้องบันทึกได้ในลำไส้ใหญ่จะปรากฏบนจอโทรทัศน์ ให้คุณภาพความคมชัดที่ดี และสามารถเก็บรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด เป็นเทคโนโลยีจะมีการศึกษาควบคู่ไปกับวิธีการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และเหมาะสมกับประชากรที่จะมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะถูกนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือแบคทีเรียต่างๆ การเข้าถึงการตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญอย่างมาก โครงการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกันประชาชนชาวไทยที่อายุระหว่าง 50 – 70 ปี ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง และไม่เคยส่องกล้องลำไส้ใหญ่มาก่อนเข้าร่วมโครงการ สมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ crcscreen.cra.ac.th ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นปิดรับเมื่อครบตามที่กำหนดไว้