ไม่ชินทาง ไม่ชินเขา... ไม่ใช่ข้ออ้าง

ไม่ชินทาง ไม่ชินเขา... ไม่ใช่ข้ออ้าง

เตรียมพร้อมเดินทาง เรียนรู้เส้นทาง รู้จักใช้เกียร์-คลัทช์ เพื่อความปลอดภัย

ช่วงนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายช่วง และก็ใกล้เทศกาลปีใหม่ซึ่งจะมีรถยนต์เดินทางจำนวนมาก ทั้งกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยว ไปรับลมเย็นๆ

แต่ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวคราวอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนเส้นทางภูเขา โดยแต่ละครั้ง มักจะมีการสรุปอย่างหนึ่งว่า ผู้ขับไม่ชินเส้นทาง” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ควรจะเลิกได้แล้ว เพราะคงไม่มีใครที่ชินเส้นทางนั้นๆ ทุกคน ไม่อย่างนั้น ก็ไม่ต้องขับออกนอกเส้นทางประจำ

ไม่ชินเส้นทาง ไม่เป็นไร แต่ต้อง รู้จักเส้นทาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้อง รู้จักการสร้างทาง รู้จัก “การสร้างสภาพแวดล้อม ให้ดี และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ขับต้องรู้จักรถ และรู้จักตัวเอง รู้ว่ารถมีสภาพเป็นอย่างไร เหมาะกับการเดินทางรูปแบบไหน ส่วนการรู้จักตัวเอง คือ ทักษะในการขับขี่ เช่น ถ้าอีกวัน 2 วันจะเดินทาง แล้วยังมาถามถึงวิธีการขับรถบนเขา วิธีใช้เกียร์ ใช้เบรก แบบนี้ก็อาจจะต้องคิดหนักสักกน่อย ว่าควรจะขับรถเองหรือไม่

และที่ระบุว่าผู้ขับขี่ ต้องรู้จักเส้นทาง หมายถึง รู้จักลักษณะของถนน สิ่งแวดล้อม เครื่องหมายจราจรต่างๆ  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมองให้ชิน เพื่อจะได้รู้ว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นอย่างไร เป็นทางร่วม ทางแยก ทางโค้ง โค้งตื้นๆ หรือโค้งลึก หรือโค้งต่อเนื่อง ทางขึ้นเนิน ทางลงเนิน ป้ายแนะนำการใช้เกียร์ ซึ่งหากมองป้ายเหล่านี้ให้เคยชิน ก็ทำให้สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ ว่าจะต้องลดความเร็ว หรือเตรียมตัวหยุดรถ หรือเปลี่ยนเกียร์ เป็นต้น 

160748385282

หรือทางที่เป็นทางตัน หรือ สามแยกแบบ ทีตัน (T) เป็นอีกหนึ่งจุดอันตราย เพราะหลายคนขับเพลิน ไม่มองป้าย ถึงทางแยก เบรกก็ไม่ทัน จะเลี้ยวก็ไม่ได้ 

ส่วนการขับขี่ในทางโค้ง หรือทางเขา ที่มักเป็นปัญหากับหลายคนนั้น มีหลักการเบื้องต้นที่สำคัญคือ ขับให้ช้าที่สุด ใช้เบรกให้น้อยที่สุด และรักษาช่องทาง (เลน) 

ความเร็วที่ช้าที่สุด หมายถึงขับด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่คิดว่าควบคุมรถได้ และก่อนจะถึงทางโค้งหรือทางลงเนิน ให้ลดความเร็วจนอยู่ในระดับที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเข้าไปด้วยความเร็ว แล้วค่อยไปเบรกในโค้ง พูดง่ายๆ ว่าแต่งตัวให้เสร็จก่อนออกจากบ้านอย่าไปแต่งตัวกลางถนน 

และเมื่ออยู่ในโค้งให้รักษาระดับคันเร่งเอาไว้ หลีกเลี่ยงการถอนคันเร่งแบบทันที หรือ กดคันเร่งแรงๆ การใช้พวงมาลัยก็ให้หมุนแบบนุ่มนวลที่สุด อย่าหมุนแบบกระชากหรือหมุนมากเกินไป

กรณีที่มีความจำเป็นต้องเบรกในทางโค้ง สามารถทำได้ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง แม้ว่ารถในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีมาช่วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเอบีเอส ระบบกระจายแรงเบรก หรือระบบช่วยเบรกในโค้งก็ตาม

วิธีการใช้เบรกในโค้ง โดยเฉพาะรถที่ไม่มีระบบช่วยเหลืออะไรมากมายนัก ให้ค่อยๆ กดแป้นเบรกลงไป จนรู้สึกว่าผ้าเบรกจับกับจานเบรก แค่นั้น ซึ่งรถก็จะชะลอความเร็วลง และอยู่ในภาวะที่รถยังสามารถควบคุมทิศทางได้ง่าย 

 

ส่วนการขับรถขึ้น-ลงเขา มักจะเป็นอีกหนึ่ง ที่หลายคนก็มักจะบอกว่าผู้ขับไม่ชิน แต่จริงๆ แล้ว การเรียนรู้วิธีการขับที่ถูกต้อง ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ปัญหาการขับขึ้นเขา ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับรถเกียร์ธรรมดา โดยเฉพาะช่วงที่การจราจรหนาแน่น เนื่องจากผู้ขับใช้วิธีการเลียคลัทช์ หรือการเหยียบเคลัทช์ลงไประยะหนึ่งแต่ไม่สุด ซึ่งทำให้คลัทช์ไหม้ได้

วิธีที่ถูกต้อง คือ เมื่อออกตัวแล้ว หรือเปล่ี่ยนเกียร์ จะต้องถอนเท้าออกจากแป้นคลัทช์ เมื่อรู้สึกว่ารถไม่มีกำลังหรือเครื่องจะดับ ให้ลดเกียร์ ไม่ใช่การเลียคลัทช์

วิธีที่ป้องกันปัญหาได้อย่างหนึ่ง คือ รักษาระยะห่างจากคันหน้า เพราะการขับตามกันแบบใกล้ชิด เมื่อคันหน้าช้า ทำให้ต้องผ่อนคันเร่งรถจึงไม่มีแรงพอ หลายคนจึงใช้วิธีเลียคลัทช์ช่วย ซึ่งผิด

แต่ขึ้นเขาแล้วคลัทช์ไหม้ ก็ไม่ร้ายแรงเท่าลงเขาแล้วเบรกเฟด เบรกแตก แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้ารู้หลักการและปฏิบัติให้ถูกต้อง 

สิ่งสำคัญคือ ใช้เบรกให้น้อยที่สุด และใช้เกียร์ต่ำ เริ่มจากชะลอความเร็วก่อนลงเนิน แล้วลดเกียร์ให้เหมาะสมกับความชัน แต่หลังจากนั้นหากพบว่าความเร็วสูงเกินไป หรือ รอบเครื่องยนต์สูงเกินไป ก็ใช้เบรกช่วยเป็นระยะสั้่นๆ เหยียบละความเร็วแล้วปล่อย

สำหรับเกียร์อัตโนมัติ การลดเกียร์มีหลายวิธี ถ้ามีระบบเพิ่ม-ลดเกียร์ด้วยตัวเองไม่ว่าจะที่คันเกียร์ หรือว่า ที่แพดเดิลชิฟท์ หลังพวงมาลัย ก็ดันมาทาง - แต่ถ้าไม่มีระบบนี้ ส่วนใหญ่ก็จะมีตำแหน่งเกียร์ต่ำไว้ให้ อาจจะเป็น 3, 2 หรือ L ก็ให้ดันคันเกียร์ไปตำแหน่งนั้นๆ และหากเป็นรถที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จะมีเกียร์ B ให้ใช้

160748446243

เพราะหากยังคงใช้เกียร์ปกติ แล้วเหยียบเบรกต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้เกิดความร้อนสูงจนน้ำมันเบรกเดือดกลายเป็นไอ เป็นสาเหตุของเบรกแตก หรือความร้อนที่เกิดขึ้นกับผ้าเบรกและจานเบรกมากเกินไป แรงเสียดทานระหว่างกันจะลดลง ระยะเบรกจะยาวขึ้น หรือเบรกไม่อยู่ เป็นอาการของ เบรกเฟด 

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ก่อนเดินทางควรตรวจรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งหากใครวางแผนเดินทางปลายปี ช่วงนี้หากรู้สึกว่ารถผิดปกติ ก็รีบไปตรวจสอบแก้ไข แต่เนิ่นๆ เพราะหากซ่อมแล้วยังมีปัญหา ก็ยังมีเวลาที่จะแก้ไขอีกครั้ง เพื่อให้การเดินทาง เป็นไปด้วยความปลอดภัย