โลกของ ‘ชาไข่มุก’ จากดินแดน ‘ไต้หวัน’ สู่ตลาดไทย

โลกของ ‘ชาไข่มุก’ จากดินแดน ‘ไต้หวัน’ สู่ตลาดไทย

หลังจาก "ชุนสุ่ยถัง" ชานมไข่มุกเจ้าแรกของโลกสยายปีกสู่ตลาดไทยเรียบร้อยแล้ว เราจะพาไปสำรวจโลกของ "ชาไข่มุก" จากดินแดนไต้หวัน สู่ตลาดไทย วันนี้มีแบรนด์อะไรบ้าง เจ้าไหนเด็ดอย่างไร?

เป็นที่รู้กันดีว่าชานมไข่มุกต้นกำเนิด หรือแบรด์ต้นตำรับของโลกอยู่ที่ไต้หวัน ซึ่งในประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่นิยมเครื่องดื่มประเภทนี้อย่างมาก จึงทำให้เห็นร้านค้า รวมถึงคีออสก์เล็กๆ ตามท้องถนน และห้างสรรพสินค้า มีร้านเครื่องดื่มประเภทนี้อยู่ค่อนข้างมาก

หากถามว่าประเทศไทยฮิตชาไข่มุกมากแค่ไหน? บทความของ Forbes ระบุถึงข้อมูลของ Grab ที่สะท้อนผ่านค่าเฉลี่ยของการบริโภคของคนไทยว่า เฉลี่ยราว 6 แก้วต่อเดือน  ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่มากที่สุดหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2561 ภูมิภาคนี้มียอดสั่งซื้อเติบโตเพิ่มขึ้น 3,000% จากแบรนด์ชาไข่มุกกว่า 1,500 แบรนด์ มีหน้าร้านจำหน่ายกว่า 4,000 สาขา

ขณะที่เมื่อปีที่ผ่านมา Brandinside.asia ระบุถึงข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกร ที่บอกว่าตลาดชาไขมุกในไทยมีมูลค่าสูงถึง 2,000-2,500 ล้านบาท และยังจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากยังมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเจาะกลุ่มผู้บริโภคไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดก็ถึงคราวของ แบรนด์ชาไข่มุกสัญชาติไต้หวันTP Tea by Chun Shui Tang” ของ Chun Shui Tang (ชุนสุ่ยถัง) ต้นตำรับชาไข่มุกเจ้าแรกของโลก ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เลือกปักหมุดที่บริเวณชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แม้จะผ่านมาหลายวันแล้ว แต่ปริมาณคนที่จะไปลิ้มลองก็ยังคงมีมากอยู่

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในประเทศไทยมีแบรนด์ชาไข่มุกสัญชาติไต้หวันเข้ามานานแล้ว บางแบรนด์หลายคนก็อาจไม่ทราบว่า มาจากไต้หวัน “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงได้รวบรวมแบรนด์จากไต้หวันในตลาดไทยมีแบรนด์อะไรบ้าง? เทียบจำนวนสาขา และราคาเริ่มต้น รวมถึงเมนูซิกเจอร์กัน!

160741920879

160741931924

เริ่มจากแบรนด์แรก ชื่อที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง ดาคาซี่” (Dakasi) เนื่องจากมีจำนวนสาขามากถึง 39 สาขา ดำเนินการโดยการนำเข้ามาภายใต้บริษัท มิกซ์เซี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด ที่เข้ามาเปิดสาขาแรกเมื่อปี 2554 เลือกทำเลใจกลางเมืองสยามสแควร์ ซึ่งนับเป็นเจ้าแรกๆ สัญชาติไต้หวันที่เข้ามาเจาะตลาดไทย

นอกจากจุดเด่นเรื่องรสชาติ กรรมวิธีการทำที่ชงแบบแก้วต่อแก้ว ทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความสดใหม่ เมนูที่หลากหลาย เช่นล่าสุดเพิ่งเปิดตัวเมนูชานมไข่มุกสีทอง (Starry Pearl Milk Tea) ในแง่ของราคานั้น เมนูเริ่มต้นที่ 30 บาท/แก้ว

รวมถึงการใช้กลไกการตลาดที่หลากหลาย ทั้งโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ลดราคา หรือการแจกฟรี การออกคอลเล็กชั่นให้แฟนตัวยงของแบรนด์ได้เลือกซื้อ เช่น กระเป๋า หมอน เป็นต้น อีกทั้งมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือดาราศิลปิน มาเข้าร่วมทำกิจกรรม เช่น มิว ศุภศิษฏ์ เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ให้มากขึ้น และการล้อการตลาดไปกับเทศกาลสำคัญๆ เช่น ฮาโรวีน เทศกาลกินเจ เป็นต้น

ทั้งนี้ในปี 2562 บริษัท มิกซ์เซี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด มีรายได้รวมอยู่ที่ 177.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 131.52% จากเดิมมีรายได้รวมอยู่ที่ 76.58 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 5.14 ล้านบาท ส่วนปี 2561 บริษัทขาดทุนสุทธิ 10.67 ล้านบาท

160741950027

แบรนด์ที่ตามมาติดๆ คือ Coco Fresh Tea & Juice ที่ก่อตั้งในไต้หวันมานานกว่า 20 ปี ขยายสาขาทั่วโลกมากกว่า 4,500 สาขา ส่วนในประเทศไทยนั้น แบรนด์นี้เข้ามาสร้างความแปลกใหม่ให้คนไทยราวปี 2555 หรือกว่า 8 ปีแล้ว โดยเป็นการร่วมมุนของกฤตพณ ทัพพะรังสีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แอนด์ ดริ๊งค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับแบรนด์ CoCo ในไต้หวัน

จุดเด่นที่แบรนด์พยายามชูคือ เรื่องของใบชา ที่คัดเลือกจากแหล่งใบชา โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และนำเข้าวัตถุดิบอื่น เช่น ท็อปปิ้ง จากไต้หวัน ในส่วนของราคานั้น เมนูเริ่มต้นอยู่ที่ 50 บาทแก้ว

สาขาแรกในไทย คือ สยามพารากอน และมีการเปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 16 สาขา ซึ่งทั้งหมดกระจายอยู่ตามศูนย์การค้าต่างๆ และเมื่อการแข่งขันในธุรกิจนี้มากขึ้นจากการที่หลากแบรนด์ต้องการช่วงชิงลูกค้า จึงมีการจัดทำโปรโมชั่น ทั้งการซื้อ 1 แถม 1 หรือการซื้อแก้วที่สองลดราคา 40% นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ก็เพิ่มกิมมิกซื้อชาไข่มุกตามที่กำหนด แถมฟรีหน้ากากผ้า และมีการใช้ระบบสมาชิกสะสมแต้ม เพื่อแลกรับของรางวัล

อีกส่วนหนึ่งคือ การเพิ่มทางเลือกของตามความต้องการที่หลากหลาย ทั้งระดับความหวานที่แยกออกมาถึง 6 ระดับ ตั้งแต่ 0% ไม่หวานเลย ไปจนถึง Extar Sugar หวานมาก ด้วยการแยกระดับความหวาน และเลือกระดับน้ำแข็งได้ 4 ระดับ ตั้งแต่ 0% ไม่ใส่น้ำแข็ง จนถึง Extra Ice เพิ่มน้ำแข็ง

โดยปี 2562 บริษัท ฟู้ด แอนด์ ดริ๊งค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีรายได้รวม 78.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24.60% จากรายได้ปีก่อนหน้าอยู่ที่ 63.16 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิ ปี 2562 ทำกำไรไป 6.98 ล้านบาท แต่เป็นจำนวนที่ลดลงจากปีก่อนหน้า

160741968633

อีกแบรนด์ที่สาวกชาไข่มุกน่าจะรู้จักกันดีคือ KOI Thé ที่เข้ามาตลาดไทยในปี 2559 ขณะที่ต้นตำรับในไต้วันเริ่มก่อตั้งก่อนหน้านั้นราว 10 ปี ด้วยชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้คนไทยหลายคนมีคำเรียกแตกต่างกันไป ทั้งก้อย หรือข่อย แต่ช่วยสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี เริ่มเข้ามาเปิดสาขาที่เซ็นทรัลบางนา แม้จะเพิ่งเข้ามาเพียง 5 ปี แต่มีการขยายสาขามากถึง 39 สาขาแล้ว นอกจากนี้สาขาต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีการออกแบบแก้วชาไข่มุกสีเหลืองทองขนาดใหญ่อยู่หน้าร้าน ซึ่งเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้านอย่าง Golden Bubble Milk Tea นับเป็นอีกกิมมิกที่ทำให้สะดุดตาผู้บริโภค และเป็นการตลาดที่แยบยลอย่างดีทีเดียว

จากจุดเด่นเรื่องของใบชา การปรับเมนูให้หลากหลายก็เป็นกลยุทธ์ของแบรนด์เช่นกัน อย่างเช่นการร่วมมือกับแลคตาซอย (Lactasoy) เพื่อใช้วัตถุดิบนมถั่วเหลืองมาใช้เพื่อตอบโจทย์ที่ผู้ที่ต้องการกินนมถั่วเหลือง แต่ยังมีเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น ในส่วนของเมนูนั้น ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 45 บาท/แก้ว

ขณะเดียวกันออกสินค้าให้แฟนๆ ของแบรนด์ได้ซื้อเพื่อเก็บสะสม ทั้งเซ็ตแก้วน้ำ ฝาปิดแก้ว และฐานรองรูปหมี หรือกระเป๋าใส่แก้วน้ำ รวมถึงการแจกของที่ระลึกเมื่อเปิดสาขาใหม่ ทั้งกระเป๋า พวงกุญแจชื่อแบรนด์ อีกทั้งยังมีการแจกวอลเปเปอร์สำหรับสมาร์ทโฟนให้ใช้ฟรีด้วย

ทั้งนี้หากดูในส่วนของรายได้นั้น บริษัท โคอิ เตะ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จดทะเบียนในกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อปี 2559 ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ในปี 2562 โกยรายได้รวมกว่า 519.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 70.91% จากช่วงปี 2561 มีรายได้รวม 304.19 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิล่าสุดปี 2562 อยู่ที่ 107.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเช่นกันจากปีก่อน 32.21%

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ชาไข่มุกสัญชาติไต้หวันที่เข้ามาช่วงชิงตลาดในไทย ทั้ง ดิ แอร์ลี่” (The Alley) ที่เข้ามาช่วงปี 2561 สัญลักษณ์แบรนด์รูปกวาง รวมถึงแบรนด์ “Xing Fu Tang" และแบรนด์ “Tiger Sugar” ที่เข้ามาช่วงปี 2562 โดยทั้งสามแบรนด์ชูเมนูซิกเนเจอร์บราวชูการ์เช่นเดียวกัน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 55, 110 และ 75 บาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ธุรกิจที่ชาไข่มุก แม้จะมีจำนวนแบรนด์และสาขาจำนวนมาก ทั้งเมนูดั้งเดิมไปจนถึงเมนูพรีเมี่ยมที่ราคาหลักร้อยอัพ วันนี้ธุรกิจเครื่องดื่มนี้ได้กลายเป็น Red Ocean ของผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ แต่การเข้ามาของแบรนด์ใหม่ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่าก็ยังคงเหลือช่องว่างอยู่เช่นกัน

ที่มา : forbesthailandbrandinside.asiabangkokbiznews, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า,