สธ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงปีใหม่ “บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ”

สธ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงปีใหม่ “บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ”

สธ. ย้ำห้ามซื้อ-ขาย“น้ำเมา”ออนไลน์ มีผลบังคับใช้ 7 ธ.ค.2563 ส่วนมาตรการคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงปีใหม่ “บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ” ไม่เน้นเป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ เหตุยังอยู่ในช่วงคุมโควิด-19 

        เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบให้มีการจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแนวทางการปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งจะบังคับใช้ 7 ธ.ค.2563 เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์จำนวนมาก แต่ยังเอาผิดไม่ได้ในการซื้อขาย เอาผิดได้แค่การโฆษณาเท่านั้น และสุราเถื่อนก็มักขายทางช่องทางนี้ จึงต้องจัดทำร่างตามประกาศเพื่อรองรับการบังคับใช้ต่อไป

       นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ อาทิ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด  การดื่มไม่ขับ เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องมีการรณรงค์อย่างเต็มที่เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลดังกล่าวให้มากที่สุด โดยขอความร่วมมือจากบุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในการดูแลให้คำแนะนำและห้ามปรามรวมถึงคัดกรองกันตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งเราไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องลดลงจากเทศกาลปีใหม่ปีที่ผ่านมาอย่างไร แต่จะทำให้เต็มที่ที่สุด เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด

      “ปีนี้สโลแกนในการรณรงค์ของเราจะไม่ใช้คำว่าเมาไม่ขับ เพราะถ้าบอกว่าเมาไม่ขับนั่นแปลว่าเขาต้องมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแล้วไม่มากก็น้อย ดังนั้นปีนี้เราจะรณรงค์ “ไม่ดื่ม ไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” หมายความว่าถ้าดื่มจะต้องไม่ขับ แต่ถ้าต้องขับรถก็ต้องไม่ดื่ม โดยในช่วงที่ยังต้องเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การคัดกรองไม่ให้มีการดื่มแล้วขับนั้นๆ ในส่วนของบุคลากรเราที่จะคัดกรองตั้งแต่ต้นทางนั้นจะไม่ได้ใช้วิธีการเป่าแอลกอฮอล์ เพราะต้องมีเครื่องมือ อีกทั้งยังมีเรื่องของลมหายใจอะไรต่างๆ ดังนั้นจะใช้วิธีทางคลินิกเพื่อดูว่ามีการดื่มเหล้ามาหรือไม่ อาทิ การสังเกต การทดสอบการทรงตัว การเอานิ้วอุดจมูก เป็นต้น” นายอนุทิน กล่าว