แงะฝา ‘ปลากระป๋อง’ กับสังคมไทย ‘สิ้นเดือน’ ทีไรเจอกันทุกที

 แงะฝา ‘ปลากระป๋อง’ กับสังคมไทย ‘สิ้นเดือน’ ทีไรเจอกันทุกที

เมื่อ "ปลากระป๋อง" ไม่ได้เป็นแค่เมนูที่ช่วยให้อิ่มท้องในช่วง "สิ้นเดือน" เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ ปัญหาค้าแรงงานในธุรกิจประมง และสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ชัดเจนอีกด้วย

เมื่อเข้าสู่ช่วง "สิ้นเดือน" ทีไร อาหารยามยากติดครัวหนีไปพ้น 'มาม่า' และ 'ปลากระป๋อง' ที่อยู่คู่คนไทยตลอดกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ต้องรัดเข็มขัด หรือช่วงที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากๆ 

มีข้อมูลจาก  "Priceza"  แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ได้วิเคราะห์ข้อมูลยอดคลิกสินค้าบนเว็บและแอพพลิเคชั่นไพรซ์ซ่า ในช่วงวิกฤติโรคระบาด โควิด-19 พบว่ามีสินค้า 5 รายการที่ผู้บริโภคเข้ามากดคลิกซื้อสูงสุด ประกอบด้วย 1.หน้ากากอนามัย เมื่อเกิดไวรัสระบาดมีความต้องการเพิ่มถึง 2,600% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 2.เจลล้างมือ ยอดคลิกสูงที่สุดมากถึง 8,000% เมื่อเทียบกับปี 2561 3.แอลกอฮอล์เจล อุปกรณ์ฆ่าเชื้อที่สำคัญในช่วงโรคระบาด มียอดคลิกเพิ่มขึ้นมากถึง 5,000% 4.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มียอดการคลิกซื้อเพิ่มขึ้น 84% และ 5.ปลากระป๋อง อาหารที่เก็บไว้ได้นาน มียอดการคลิกซื้อเพิ่มขึ้น 19%

ปลากระป๋อง ถูกให้ความสำคัญมากกว่าการเป็นแค่กระป๋องทรงกระบอกที่มีปลาหมักซอสอัดแน่นอยู่ข้างใน

นอกจากเป็นเมนูอิ่มท้องยามยากแล้ว "ปลากระป๋อง" ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใดประเทศหนึ่งได้ด้วย

วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปดูว่าสำหรับประเทศไทยนั้น "ปลากระป๋อง" สะท้อนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยอย่างไรบ้าง?

160613327965

  • "ปลากระป๋อง" ชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ปลากระป๋องเป็นอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ปัจจุบันตลาดปลากระป๋องในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรล 6,300 ล้านบาท และปลาทูน่ากระป๋อง 700 ล้านบาท

มีผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2559 ระบุว่า เหตุผลอันดับแรกที่คนไทยเลือกบริโภคปลากระป๋อง ก็คือ 'อยากกิน' อันดับสองคือ 'ปัจจัยเรื่องเงิน'

เนื่องจากปลากระป๋องมีราคาที่ถูกและสามารถเก็บไว้ได้นาน คนหาเช้ากินค่ำทั่วไปหากวันไหนรายได้ดีมีเงินใช้คล่องมือ ก็จะไม่สนใจซื้อปลากระป๋องสักเท่าไหร่ แต่จะเน้นรับประทานอาหารปรุงสดใหม่ซะมากกว่า แต่ทันทีที่รายได้ลดลงพวกเขาจะหันมาซื้อปลากระป๋องแทนอาหารปรุงสด เช่น ช่วงใกล้สิ้นเดือนหรือเมื่อเกิดวิกฤติข้าวยากหมากแพง เป็นต้น แม้จะรู้ดีว่าอาหารกระป๋องมีคุณค่าทางอาหารต่ำกว่าอาหารสดทั่วไปก็ตาม

จากข้อมูลดังกล่าว อาจชวนให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ยิ่งคนในประเทศไทยมีความต้องการบริโภค ปลากระป๋อง มากเท่าไหร่ ก็แปลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังแย่ลงเท่านั้น!

ยกตัวอย่างเช่นในปี 2562 พบว่าปลากระป๋องกลายเป็นสินค้าที่ยอดฮิตในร้านธงฟ้าประชารัฐ ส่วนในปี 2556 สลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรังและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมายอมรับว่ายอดขายของปลากระป๋องในตรังสูงขึ้นถึง 15%

"ปลากระป๋องถือเป็นดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ เมื่อใดที่เศรษฐกิจมีปัญหาจะเห็นว่ากลุ่มคนรายได้น้อยนิยมซื้อปลากระป๋องกินมากขึ้น" ประธานหอการค้าจังหวัดตรังกล่าว (ปี 2556 ตัวเลข GDP ติดลบ 3% ส่วนในปี 2562 เศรษฐกิจโตเพียง 0.01%)

  • ประมงเกินขนาด แรงงานทาส ปัญหาที่พ่วงถึง "ปลากระป๋อง"

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋อง (canned tuna) และผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุถุง (tuna in foil pouches) รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดังนั้นธุรกิจ "ปลากระป๋อง" ในไทยจึงเกี่ยวข้องกับการประมงเชิงพาณิชย์ไปโดยปริยาย ซึ่งพ่วงมาด้วยปัญหาการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาแรงงานทาส

มีข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า จำนวนเรือประมงไทยมีทั้งหมด 42,512 ลำ โดยมีเรือประมงพาณิชย์ 9,370 ลำ (คิดเป็น 22%) ที่ใช้อวนลากหน้าดิน  อวนล้อมจับ และอวนครอบเป็นเครื่องมือหลักในการทำประมง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพสูงมาก ขณะที่เรือประมงพื้นบ้านมีจำนวน 33,205 ลำ (คิดเป็น 78%) ส่วนใหญ่ใช้อวนติดตาในการทำประมง ประกอบกับเครื่องมือพื้นบ้านอื่นๆ จากพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะที่เรือประมงสามารถทำประมงในน่านน้ำได้ทั้งหมด 420,280 ตารางกิโลเมตร กับจำนวนเรือประมงท่ีพุ่งสูงถึง 42,512 ลำ ทำให้ไทยเกิดปัญหาการทำประมงเกินขีดความสามารถการผลิตของทรัพยากรหรือ Over Fishing

160613330136

ในทำนองเดียวกับรายงานข่าวชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวไทยพับลิก้าที่ระบุว่า ประเทศไทยส่งออกสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก การทำประมงเพื่อส่งออกนี้สร้างรายได้และการจ้างงานแก่ชาวประมงประมาณ 172,430 คน ซึ่งกว่า 80% เป็นชาวต่างชาติ และประมาณ 515,000 คน ไม่ได้อยู่ในภาคการประมงโดยตรง แต่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานปลาป่น โรงงานปลากระป๋อง ที่มีการใช้ทรัพยากรทางทะเลจนเกินขีดจำกัด

รวมไปถึงประเด็นการทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย และปัญหาการใช้แรงงานทาสของไทยที่ปล่อยยืดเยื้อยาวนานและไม่ถูกแก้ไข จนทำให้สหภาพยุโรปออกใบเหลืองเตือนถึงปัญหาการทำการประมงไทย และส่งผลกระทบถึงการส่งออกปลากระป๋องไปเป็นลูกโซ่สัมพันธ์กัน 

  

  • "ปลากระป๋อง" อาหารหลักของคนหาเช้ากินค่ำจริงหรือ?

ปลากระป๋อง ถูกนิยามว่าเป็นอาหารสำหรับคนจนเพราะมีราคาถูก จากผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคปลากระป๋องของมหาวิทยาลัยสยาม พบว่า ครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีสถิติบริโภคปลากระป๋องอาทิตย์ละ 1 มื้อ 

เพราะความจนใช่หรือไม่? ที่ทำให้คนไทยติดใจปลากระป๋องและต้องมีติดครัวอยู่เสมอ

คำตอบคือ ไม่ใช่เพราะความจน แต่เพราะความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศไทย จึงทำให้คนไทยต้องพึ่ง "ปลากระป๋อง" เป็นอาหารหลักในบางมื้อ 

160613331171

ข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 ของธนาคารเครดิตสวิส ระบุว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกไปแล้ว เมื่อนับอันดับด้านความมั่งคั่ง (wealth) จากเดิมที่ประเทศไทยเคยอยู่อันดับ 3 ในการสำรวจเมื่อปี 2016 แต่ปัจจุบันกลับแซงหน้ารัสเซียและอินเดีย ไปยืนบนแท่นอันดับ 1 ซะอย่างนั้น

คนไทยที่ร่ำรวยมีอยู่เพียง 1% และพวกเขามีสินทรัพย์เพิ่มมากขึ้น 66.9% แซงหน้าประเทศอื่นที่ประชากรคนรวยส่วนใหญ่มีสินทรัพย์ลดลง และเมื่อหันไปดูคนไทยที่ยากจนพบว่า 10% มีทรัพย์สินเท่ากับ 0 ถ้านับหนี้ด้วยก็อาจติดลบ และเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ มีตัวเลขชี้ชัดว่าคนไทยครึ่งประเทศอยู่ในกลุ่ม “หาเช้ากินค่ำ” หรือไม่ก็ “เดือนชนเดือน” ไม่มีเหลือเก็บออม แถมกำลังจะแก่ก่อนมีเงินออมด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้อาหารราคาถูกและสารอาหารต่ำอย่าง ปลากระป๋อง จึงอาจกลายเป็นอาหารหลักของบางครอบครัวไปโดยปริยาย

--------------------

อ้างอิง : sac.or.th  marketeeronline  thairath  piriya-pholphirul.blogspot  research-system.siam.edu  tdri.or.th