สธ.ปรับระบบรายงานสถานการณ์ผู้ติดโควิด-19

สธ.ปรับระบบรายงานสถานการณ์ผู้ติดโควิด-19

สธ.ปรับระบบรายงานสถานการณ์ผู้ติดโควิด-19 เป็น 4 ระดับ ช่วยพื้นที่กำหนดมาตรการตอบสนองได้ตรงสถานการณ์ 

         เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปาฐกถาเรื่อง “ความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในการประชุมวิชาการ แนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน  และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ว่า  สธ.มีการคาดการณ์โรคโควิด-19ในรอบใหม่เป็น 3 เหตุการณ์ คือ พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย(Spike only) พบผู้ติดเชื้อกับกลุ่มเล็กๆ(Spike and a small wave) และพบผู้ติดเชื้อและมีการระบาด(Spike and a big  wave)ฉะนั้น ในส่วนของการรายงานระดับสถานการณ์ในพื้นที่กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อ สธ.จะมีปรับใหม่เป็น 4 ระดับ ด้วยการประเมินความเสี่ยงของการระบาด (Outbreak Impact Risk : OIR) เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถกำหนดเพิ่ม-ลดมาตรการได้ตรงตามระดับสถานการณ์ของโรค และคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆรวมถึงคนไทยจะได้เข้าใจว่าโรคโควิด-19เกิดขึ้นได้ก็หายไปได้  โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ แบ่งเป็น 4 ระดับ

        คือ 1. ช่วง1-3 วันแรก  พื้นที่ต้องเริ่มด้วยมาตรการพื้นฐานเดียวกันทั้งหมด  และสธ.ต้องรีบเข้าไปสอบสวนโรค ต้องประเมินิแยกผู้สัมผัสเสี่ยงสูง -ต่ำให้ได้ รวมถึง มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติของกลุ่มเสี่ยง เพื่อรายงานว่าพื้นที่นั้นๆ สถานการณ์โรคยังเกิดขึ้นอยู่ หรือActive  ในระดับเหตุการณ์ที่เป็น Spike only หรือ Spike and a small wave 2. ช่วง 5-7 วัน  ถ้าสามารถควบคุมจัดการได้แล้ว ก็จะรายงานเป็น ควบคุมได้(Control) ถ้ายังควบคุมไม่ได้ก็ไม่ประกาศ เพื่อที่ระดับพื้นที่จะได้กำหนดมาตรการต่างๆให้มีการเพิ่มหรือลดได้เหมาะสมตามสถานการร์ 3.ช่วง 10 วัน หากผลตรวจผู้สัมผัสทั้งหมดออกมาว่าเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติม ก็จะรายงานเป็นระดับ ปลอดภัย (Safe) และ4. ครบ14 วัน  หากไม่มีการระบาดแล้ว ก็จะรายงานเป็นระดับจบ (End)

        ทั้งนี้ มาตรการพื้นฐานที่ทุกพื้นที่ต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน ในกรณีก่อนพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่  เน้นมาตรการบุคคล เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และติดตาม ค้นหาผู้ที่ติดเชื้อ เมื่อพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เพิ่มมาตรการต่างๆที่จำเป็น เช่น ระบบระบายอากาศ การทำความสะอาดพื้นผิว ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ สอบสวนและติดตามผู้สัมผัส และกักกันกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เป็นต้น