ปั๊มหัวใจ '4หุ้นการบิน' 'ฟื้น'-'ไม่ฟื้น' ไอซียู !!

ปั๊มหัวใจ '4หุ้นการบิน' 'ฟื้น'-'ไม่ฟื้น' ไอซียู !!

ส่องวิกฤติ '4 หุ้นการบิน' 9 เดือนแรก 2563 ขาดทุนสุทธิ 6.2 หมื่นล้านบาท ! ผ่านมุมมอง 'รายใหญ่' วิพากษ์ 'AAV-BA' อาจต้องเลือกทาง 'รอด' ก่อน 'ร่วง' ด้วยการเพิ่มทุนหากไม่อยากจอดป้ายไอซียู ! ตาม 'THAI-NOK' แม้วันนี้มีวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ต้องใช้เวลาฟื้น

ผ่านมา 10 เดือน ! การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ยังเป็นแรงกดดันให้ 'อุตสาหกรรมสายการบิน' ไม่สามารถ Take off ได้ บ่งชี้ผ่านตัวเลขผลประกอบการของ '4 หุ้นสายการบิน' ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 'ติดลบหนัก' !

หากพิจารณาพบว่า 4 หุ้นสายการบินที่ 'ขาดทุนสุทธิ !' นั่นคือ บมจ.การบินไทย หรือ THAI เจ้าของสายการบินไทย , บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ BA เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส , บมจ. เอเชีย เอวิชั่น หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย และ บมจ.สายการบินนกแอร์ หรือ NOK เจ้าของสายการบินนกแอร์

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2563 ของ 4 หุ้นสายการบิน คือ 'หุ้น THAI' มีขาดทุนสุทธิ 49,552.53 ล้านบาท 'หุ้น BA' มีขาดทุนสุทธิ 4,882.48 ล้านบาท 'หุ้น AAV' มีขาดทุนสุทธิ 3,649.64 ล้านบาท และ 'หุ้น NOK' มีขาดทุนสุทธิ 3,935.96 ล้านบาท ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปี 2563 หุ้นสายการบินขาดทุนสุทธิเพิ่มรวม 62,020.61 ล้านบาท !

ขณะที่ผลประกอบการของ THAI , BA , AAV และ NOK สำหรับงวด 6 เดือนแรก ปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 28,016.45 ล้านบาท 3,313.38 ล้านบาท 1,812.80 ล้านบาท และ 2,469.30 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้ 6 เดือนแรกที่ผ่านมา หุ้นสายการบินขาดทุนสุทธิ 35,611.93 ล้านบาท !

อย่างไรก็ตามเมื่อผลการดำเนินงาน 'ไม่สดใส' กดดันให้ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap' ของ 4 หุ้นสายการบิน ณ ปัจจุบัน (18 พ.ย.2563) เทียบกับปี 2562 “หดหาย” โดย หุ้น THAI มาร์เก็ตแคปปัจจุบันอยู่ที่ 6,679.28 ล้านบาท ลดลงจาก 14,951.99 ล้านบาท หุ้น BA มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 11,760.00 ลดลงจาก 14,595.00 ล้านบาท หุ้น AAV มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 9,021.00 ล้านบาท ลดลงจาก 10,864.00 ล้านบาท และ หุ้น NOK มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 2,498.56 ล้านบาท ลดลงจาก 6,217.03 ล้านบาท

สอดคล้องกับ 'โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง' อดีตนายกสมาคม 'นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ VI' วิเคราะห์อุตสาหกรรมสายการบินให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ก่อนอื่น ต้องบอกว่าตนเองไม่มีหุ้นกลุ่มสายการบินในพอร์ตลงทุน และ 'ไม่กล้าลงทุน' ซึ่งในมุมมองส่วนตัวนั้น มองว่าหุ้นสายการบินยังคง 'เหนื่อย !' ต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี (2564-2565) กว่าธุรกิจจะพลิกฟื้นกลับมาในปี 2565 ! แต่การฟื้นตัวก็ยังไม่ถึงระดับ 100% เฉกเช่นเดิม โดยคาดว่าจะฟื้นกลับมาที่ระดับ 70-80%

โดยในแง่ของการฟื้นตัวของธุรกิจนั้น คาดว่าแนวโน้มการเดินทางจะกลับมาในปี 2565 หลังปัจจุบันสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ได้ คาดว่าจะสามารถฉีกวัคซีนได้คงกลางปี 2564 ดังนั้น คาดว่าในปีหน้าจะเป็นปีของการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบจะทั้งปี และปี 2565 การเดินทางถึงจะเริ่มทยอยฟื้นตัว ขณะที่ในแง่ของผลประกอบการน่าจะขาดทุนสุทธิลดลงแต่มองจะยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ

160597113959

อนุรักษ์ บุญแสวง

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสายการบินจะไม่หายไปจากโลกอย่างแน่นอน แต่หลังจากนี้ต้องมาลุ้นว่าสายการบินไหนจะ 'รอด' หรือ 'ร่วง' เท่านั้น ซึ่งมองว่าขั้นเลวร้ายสุดของ 2 ธุรกิจสายการบินที่เหลืออาจจะต้องใช้ช่องทาง 'การเพิ่มทุน' เพื่อเยื้อลมหายใจของธุรกิจให้ยาวออกไป รอการกลับมาของอุตสาหกรรมในปี 2565 หลังจาก 2 สายการบินอย่าง THAI และ NOK ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการขอฟื้นฟูกิจการไปก่อนแล้ว

'ในมุมมองของนักลงทุนไม่กล้าซื้อหุ้นสายการบินตอนนี้ เพราะว่าไม่รู้ว่าบาดแผล (ผลประกอบการ) จากวิกฤติในครั้งนี้จะหายหรือแผลจะสมานเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ หรือ แม้แต่รอดจากวิกฤติกลับมาก็ยังไม่มั่นใจว่าผลประกอบการจะกลับมาปกติต้องใช้เวลากี่ปี ฉะนั้น ที่ไหนที่เรารู้ว่าเป็นเหวเราก็จะไปเดินลงไป'

ทั้งนี้มองว่า AAV มีโอกาสอาจจะต้องเลือกช่องทาง 'การเพิ่มทุน' เป็นทางรอดให้กับธุรกิจเพื่อที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วน BA ด้วยความที่มีบริษัทแม่ที่แข็งแกร่งทางด้านธุรกิจและฐานะทางการเงิน อย่าง บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS อาจจะน่าห่วงน้อยสุด หรือ แม้ว่าจะต้องเพิ่มทุนก็ไม่น่ากังวล ยังไงผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องใช่เพิ่มทุนอยู่แล้ว แต่ในแง่ของธุรกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์สพึ่งพากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสัดส่วนใหญ่ของรายได้รวม

ด้าน 'พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ' กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,585.10 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้ตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ดังนั้น สายการบินบางกอกแอร์เวย์สจึงได้เน้นการทำการบินภายในประเทศเป็นหลัก โดยได้กลับมาทำการบินในเส้นทาง กรุงเทพฯ-สมุย , กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ , กรุงเทพฯ-สุโขทัย , กรุงเทพฯ-ลำปาง , กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และสมุย-ภูเก็ต ซึ่งได้บริหารจัดการเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทาง ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้มีผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 และส่งผลให้มีการทำการบินในประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC) จึงมีจำนวนอาหารที่ผลิตเพิ่มขึ้น 196% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ราว 97%

160597120629

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

นอกจากนี้ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการเพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาส 2 ปี 2563 แต่ลดลงจากช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ราว 63% และในส่วนของบริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (WFS-PG-Cargo) มีน้ำหนักของสินค้าที่ให้บริการเพิ่มขึ้น 28% ของไตรมาส 2 ปี 2563 แต่ลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2562 ราว 7%

สำหรับธุรกิจการลงทุน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้ดำเนินการส่งแผนแม่บทการดำเนินงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญในโครงการฯ เมื่อเดือน ส.ค.2563 ที่ผ่านมา

'ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV บอกว่าในปีนี้ธุรกิจการบินยังไม่ฟื้นตัว เพราะประชาชนไม่มีรายได้ ไม่มีการจับจ่ายใช้สอย ถึงแม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา แต่ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเดินทางได้มากเพียงพอ ประเมินว่าธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นตัวได้ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี

โดยปัจจุบันอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) ของเที่ยวบินในประเทศปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 60-70% เมื่อเทียบก่อนช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 52% และ อัตราการใช้งานเครื่องบิน (utilization) อยู่ที่ 50% ของเครื่องบินทั้งหมด 62 ลำ

ขณะที่ ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2563 มีผลขาดทุน 1,836.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 341% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 416.63 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 2,403.20 ล้านบาท ลดลง 75% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม อยู่ที่ 5,520.20 ล้านบาท ลดลง 46%

โดยไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัททำการบินในทุกจุดหมายปลายในประเทศ อีกทั้งปรับเพิ่มปริมาณที่นั่งและความถี่ให้เป็นไปตามอุปสงค์ในประเทศ ดังนั้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กลับมาให้บริการเส้นทางในประเทศคิดเป็น 96% ของปริมาณที่นั่งก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเทียบกับ 59% ในเดือน ก.ค.2563 ส่งผลให้มีจานวนผู้โดยสารรวม 1.86 ล้านคน โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 65%

ส่วนงวด 9 เดือน มีผลขาดทุนรวม 3,649.64 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 808% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 401.90 ล้านบาท

โบรกฯ ไม่แนะนำลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน บอกว่า ไม่แนะนำลงทุน หุ้น การบินไทย หรือ THAI โดยมีมุมมอง Negative , ผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 สูงถึง -21,531 ล้านบาท แย่ลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ ไตรมาส 2 ปี 2563 เนื่องจากรายได้ลดลง -92% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น +55% จากไตรมาสก่อน จากการถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราผิดนัดชำระ รวมงวด 9 เดือน ปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 49,561 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ -39,945 ล้านบาท

ดังนั้น ยังคง 'ไม่แนะนำลงทุน' ส่วนกระบวนการฟื้นฟูผู้จัดทำแผนอยู่ระหว่างเร่งทำแผนฯ เพื่อเสนอต่อศาลภายในไตรมาส 4 ปี 2563 หรือ ไตรมาส 1 ปี 2564 เป็นอย่างช้า

ขณะที่ มีมุมมอง Negative หุ้น AAV ผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ -1,837 ล้านบาท แย่กว่าคาดและตลาดคาดจากรายได้ต่ำกว่าคาดและต้นทุนสูงกว่าคาด เนื่องจากมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าไม่รวมผลขาดทุนไตรมาส 3 ปี 2563 จะดีขึ้นจากไตรมาสก่อนจาก -2,046 ล้านบาท จากการทยอยกลับมาเปิดเส้นทางบินในประเทศ มีแนวโน้มปรับผลขาดทุนปีครึ่งปีหลังขึ้นจากเดิม ขณะที่ มองว่าราคาหุ้น AAV เพิ่มขึ้นมานั้น สะท้อนความคาดหวังจากวัคซีนโควิด-19

160597125231