‘ม็อบ’ ยิ่งรุก ‘รัฐบาล’ ยิ่งต้าน ประกาศ ‘นิติสงคราม’

‘ม็อบ’ ยิ่งรุก ‘รัฐบาล’ ยิ่งต้าน  ประกาศ ‘นิติสงคราม’

ถ้อยแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 พ.ย.เรียกได้ว่าเป็นการประกาศ 'นิติสงคราม' เต็มรูปแบบ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังจะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง

ดูเหมือนการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในวันที่มีการประชุมร่วมส.ส.-ส.ว. เพื่อพิจารณาโหวตรับหลักการ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ในวาระ1 ทั้ง 7 ฉบับนั้น เป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมราษฎรเคลื่อนไหวต่ออย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ด้วยความโกรธที่มีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ทั้งรถฉีดน้ำจีโน่ ผสมสีและสารเคมีระดมฉีดใส่ผู้ชุมนุม รวมไปถึงการใช้แก๊สน้ำตาแบบขว้าง ส่งผลให้หลายคนรับรู้ถึงอิทธิฤทธิ์ของหนึ่งในเครื่องมือของรัฐที่ใช้ในการกำราบม็อบ

ที่สำคัญการปล่อยให้คนสวมเสื้อเหลืองในวันนั้น เผชิญหน้ากับกลุ่มราษฎร จนมีผู้บาดเจ็บ มีการควบคุมตัวผู้รวมชุมนุมที่พกอาวุธปืนมาด้วย นับว่าสุ่มเสี่ยงสถานการณ์จะบานปลายยากจะควบคุม แน่นอนว่าตำรวจย่อมตกเป็นเป้าว่าไม่ห้ามปราม มวลชน2กลุ่ม

ทั้งนี้ ว่ากันว่ามวลชนที่อยู่ตรงข้ามกลุ่มราษฎรวันนั้น ส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์มาจากจังหวัดทางภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครือข่ายนักการเมืองในพื้นที่ เคยเป็นลูกน้องเจ้าพ่อคนดัง ปัจจุบันมีตำแหน่งในรัฐบาล ที่ผ่านมาก็พยายามจัดตั้งมวลชนเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนบางสิ่งบางอย่างหลายครั้ง เพื่อตั้งใจจะเอาใจ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

คนในรัฐบาลต่างรู้กันดีว่า ว่านักการเมืองคนนี้อวยนายกฯ และ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มากขนาดไหน

ความคับข้องใจของผู้ชุมนุมที่มีต่อตำรวจ แสดงออกผ่านการสาดสีที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แบบไม่เหลือชิ้นดี การพ่นสีสเปรย์บนกำแพง พื้นผิวถนน ด้วยข้อความที่พูดออกเสียงไม่ได้ คือสิ่งที่ปรากฎขึ้นในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยพ.ศ.นี้

ส่วนอีกหนึ่งความคับข้องใจของผู้ชุมนุมราษฎร คือร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ "ไอลอว์" ถูกคว่ำในสภา จริงอยู่ว่าหลายข้อเสนอในร่างฉบับนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในทางการเมืองไทย ตามที่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ แต่บริบทในขณะนี้ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามย่อมไม่ไว้วางใจ จึงตอกฝาโลงร่างที่7 ที่อ้างว่าเป็นร่างฉบับประชาชน ชนิดที่ผู้เสนอเข้าสภาก็รู้แก่ใจว่า ไม่มีทางผ่านสภาชุดนี้ แต่อย่างที่บอก การถูกคว่ำ ย่อมสร้างเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวนอกสภาเดินต่อได้             

นอกจากนั้น ผู้ใหญ่ในฟากรัฐบาลเชื่อเต็มอกว่า "ไอลอว์" รับเงินต่างชาติ มาดำเนินภารกิจ และเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ "ไอลอว์" ที่ถูกคว่ำไปนั้น หนึ่งในมือร่าง คือคนชื่อย่อ "ป." เป็นอดีตส.ส. ที่มีแฟนคลับเต็มบ้านเต็มเมืองนั่นเอง

จังหวะก้าวต่อไปของ "มวลชนราษฎร" นัดหมายชุมนุมในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ที่หน้า "สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" และจะชุมนุมอีก 7 วันต่อเนื่อง เพื่อกดดันให้นายกฯ ลาออก ทั้งที่หากมองในเชิงกลยุทธ์ การเคลื่อนไหวนอกสภาเช่นนี้ของกลุ่มราษฎร ก็ยังมองไม่ออกว่าจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

ลำพังการยกระดับการชุมนุมก็ย่อมสร้างแรงกดดันให้ตัวเองยังยากจะทำได้ ในเมื่อฝ่ายรัฐโดยนายกฯ ประกาศผ่านแถลงการณ์ มีสาระสำคัญระบุว่า "รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจําเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติโดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดําเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทําความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น" แน่นอนว่าการเดินหน้าไปข้างหน้ายิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก 

หัวใจสำคัญของแถลงการณ์นายกฯ คือ "จะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่" ดังนั้น เข้าใจได้ว่า อาจจะมีการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้กับผู้ชุมนุม หลังจากห่างหายไปนานหรือไม่

เรียกได้ว่ารัฐบาลประกาศนิติสงครามเต็มตัว

การที่ "ม็อบราษฎร" ยิ่งรุกไล่ "รัฐบาล" นอกจากจะยิ่งไม่ถอยแล้ว หนำซ้ำอาจเป็นการกดดันให้เปิดฉากโต้กลับ ไล่เช็กบิลเอาคืนม็อบก็เป็นไปได้ เพราะมีทั้งอำนาจและกฎหมายในมือ